ปี 2566 มีหลายสิ่งใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งคมนาคมเชื่อมต่อการเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น คนไทยคึกคักทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู การค้นพบดอกไม้-พืชชนิดใหม่ของโลก สีสันสวยงามแปลกตา การขุดค้นฟอสซิลวาฬที่สมบูรณ์ การทะยานสู่อวกาศของดาวเทียม THEOS-2 รวมถึงการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของ "เมืองโบราณศรีเทพ" และ "สงกรานต์ไทย" สร้างความภาคภูมิใจและดึงนักท่องเที่ยวมาสัมผัสความเป็นไทย
เปิดวิ่งรถไฟฟ้า 2 สาย "เก๊กฮวย-นมเย็น"
ตั้งแต่ปี 2560 ที่เริ่มปิดกั้นพื้นที่และลดช่องทางจราจร เพื่อเริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) หลายคนต่างเฝ้ารอและอดทนกับปัญหาจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน ด้วยความหวังได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายใหม่นี้
สิ้นสุดการรอคอย ในปีนี้ชาวกรุงเทพฯ ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง หรือที่ถูกตั้งฉายาว่า "น้องเก๊กฮวย" ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร รวม 23 สถานี เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสายสีน้ำเงินที่สถานีรัชดา (สถานีลาดพร้าวของสายสีน้ำเงิน) กับระบบขนส่งมวลชน 4 สาย คือ สายสีเทาของกรุงเทพฯ สายสีส้มบริเวณทางแยกลำสาลี รถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9 และสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง รวม 23 สถานี ระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2566 อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15-45 บาท หลังเปิดทดลองนั่งฟรี เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ซึ่งมีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน 07.00-09.00 น. และ 16.00-18.00 น.
รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี รวม 30 สถานี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร หรือที่ถูกตั้งฉายาว่า "น้องนมเย็น" ประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจและทดลองนั่งฟรี ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท รองลงมาสถานีวงแหวนรามอินทรา และสถานีตลาดมีนบุรี โดยจะเริ่มเก็บเงินตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2567 เป็นต้นไป อัตราค่าโดยสาร 15-45 บาท

อีกหนึ่งไฮไลท์ด้านเทคโนโลยี ไทยส่ง "THEOS-2" ดาวเทียมสำรวจโลก สัญชาติไทย ทะยานขึ้นสู่วงโคจรจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา(Guiana Space Center) เมืองกูรู เฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากต้องเลื่อนการนำส่งเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ในช่วง 14 วินาทีสุดท้าย เพราะระบบตรวจพบความผิดปกติเล็กน้อยของสัญญาณจากอุปกรณ์สำหรับการนำส่ง
นับจากนี้อีก 10 ปี ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะถูกนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสุนการตัดสินใจและการบริหารเชิงพื้นที่ตามภารกิจของประเทศ ทั้งการบริการจัดการเกษตร น้ำ และภัยธรรมชาติ รวมถึงการบริหารจัดการเมือง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม และเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไป อ่านข่าวเพิ่ม นำส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรอีกครั้ง 8 โมงครึ่ง วันนี้

ค้นพบ "พืช-สัตว์" ชนิดใหม่ของโลก
การค้นพบพืชดอกหอมชนิดใหม่ของโลก “บุหงาลลิษา” ความมุ่งมั่นของ "ลลิษา มโนบาล" หรือลิซ่า ศิลปินชื่อดังชาวไทย จากวง Blackpink ของเกาหลีใต้ กลายเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาระดับปริญญาเอกของ น.ส.อานิสรา ดำทองดี หนึ่งในนักวิจัยจากสาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์ ม.เชียงใหม่ เธอจึงตั้งชื่อ “บุหงาลลิษา” เป็นเกียรติแก่ลิซ่า

“บุหงาลลิษา” มีลักษณะเด่นเป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ดอกเดี่ยว มีกลิ่นหอมแรง กลีบดอกหนา สีเหลือง กลีบชั้นนอกเรียวยาว กลีบชั้นในประกบกันไม่บานออก มีความยาวประมาณครึ่งหนึ่งของกลีบชั้นนอก จากการสำรวจพบบุหงาลลิษาเพียง 2 ต้น ในป่าทุติยภูมิใกล้สวนยางและสวนผลไม้ใน อ.จะแนะ จ.นราธิวาส แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ถูกตัดไป 1 ต้น ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องช่วยกันอนุรักษ์และขยายพันธุ์บุหงาลลิษา ก่อนที่จะเหลือเพียงชื่อ อ่านข่าวเพิ่ม นักวิจัย มช.ค้นพบ “บุหงาลลิษา” พืชดอกหอมชนิดใหม่ของโลก
“หัวใจชมพูเกษตรศาสตร์” พืชชนิดใหม่ของโลก ค้นพบโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถูกตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ “ม.เกษตรศาสตร์” ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ทำงานของผู้ประพันธ์บรรณกิจ รวมถึงสถานศึกษาของนักวิจัย

พืชชนิดใหม่นี้อยู่ในวงศ์ถั่ว วงศ์ย่อยประดู่ เป็นไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี ลำต้นพันเลื้อย หูใบรูปไข่ หรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม ติดทน ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ หรือคล้ายช่อแยกแขนงออกตามซอกใบ แต่ละช่อมีดอกออกเป็นกระจุก 6–20 กระจุก สีชมพูอมม่วง และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนเมื่อใกล้ร่วงหรือแห้ง กลีบดอกมีก้านกลีบ พบบริเวณใกล้ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง พื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่ถูกรบกวน ริมถนน หรือใกล้แหล่งน้ำที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 50–1,100 ม. เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง, ภาคตะวันออก, นครราชสีมา, กาญจนบุรี, สระบุรี โดยจะออกดอกและเป็นผลเดือน ธ.ค.-มี.ค. อ่านข่าวเพิ่ม นักวิจัย ม.เกษตรฯ ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก "หัวใจชมพูเกษตรศาสตร์"
นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ค้นพบ "ระฆังอัครา" กระดังงาดอกสวยชนิดใหม่ของโลกจากภาคใต้ตอนบน กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี ตั้งคำระบุชนิด "majestatis" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา

ลักษณะเด่นเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 5 เมตร ดอกมีรูปร่างคล้ายระฆัง กลีบดอกชั้นในคอดรัดและมีช่องเปิดขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ระหว่างโคนกลีบดอกชั้นในที่ติดกัน กลีบดอกชั้นในที่อยู่ส่วนล่างของการคอดรัดมีสีเหลืองอมเขียว ส่วนกลีบดอกชั้นในที่อยู่ส่วนบนส่วนมากมีสีแดงม่วงเข้มอมน้ำตาล โคนกลีบมีเนื้อเยื่อโปร่งแสง ทำให้แสงส่องผ่านได้ ออกดอกพร้อมกันทำให้ดูสวยงามมาก รวมถึงต้องศึกษาการใช้ประโยชน์ทางเภสัชศาสตร์ เพราะก่อนหน้านี้พบว่า พืชชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกันเป็นพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจ โดยเฉพาะฤทธิ์ต้านมะเร็ง
ระฆังอัครา ขึ้นอยู่ริมสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันนอกเขตอนุรักษ์ จึงสุ่มเสี่ยงที่จะถูกแผ้วถางในอนาคต จำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันวางแผนการอนุรักษ์พืชชนิดนี้ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากไทยและจากโลก อ่านข่าวเพิ่ม ค้นพบ “ระฆังอัครา” กระดังงาชนิดใหม่ของโลก
หลังจากอุทยานธรณีสตูล ได้รับการประกาศ ให้เป็น “อุทยานธรณีโลก” ในปี 2561 โดยเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทีมวิจัยทางธรรมชาติวิทยา อพวช. ได้ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงในพื้นที่ กระทั่งเดือน เม.ย.2565 ได้ค้นพบมดสีเหลือง สร้างรังอยู่ในกิ่งไม้ขนาดเล็กแห้งคาต้นของไม้พุ่มในป่าละเมาะใกล้กับถ้ำอุไรทอง และป่าละเมาะใกล้คลองห้วยบ้า อ.ละงู จ.สตูล หลังจากทำการศึกษา พบว่า มดชนิดนี้อยู่ในสกุลมดบาก

ต่อมานายทัศนัย จีนทอง ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง และ รศ.ดร.วัฒนชัย ตาเสน คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันบรรยายลักษณะ และตีพิมพ์เผยแพร่เป็นมดชนิดใหม่ของโลกในวารสาร Tropical Natural History ฉบับที่ 23 (ปี พ.ศ. 2566) โดยให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vombisidris satunensis Jeenthong, Jaitrong & Tasen อ่านข่าวเพิ่ม "มดบากจีนใจ" ตัวจิ๋ว 2.64 มม.ชนิดใหม่ของโลกในอุทยานธรณีสตูล
“บึ้งประกายสายฟ้า” ชนิดใหม่ของโลก ถูกค้นพบโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ "โจโฉ" ยูทูปเบอร์ชื่อดัง ในพื้นที่ป่าชายเลน จ.พังงา โดยมีชื่อทั่วไปภาษาอังกฤษว่า “Electric-blue tarantula” เป็นลักษณะสีของบึ้งเมื่อสะท้อนกับแสงไฟแล้วมีประกายสีน้ำเงินคล้ายกับสีของสายฟ้าสีน้ำเงิน

ความลับของ “บึ้งประกายสายฟ้า” คือ สีน้ำเงินที่เป็นประกายงดงามสลับกันบริเวณขา เกิดจากโครงสร้างระดับนาโนของเส้นขนบึ้ง ซึ่งมาจากการหักเหของแสง อีกทั้งปรากฏสีม่วงในบางส่วนของร่างกายด้วย ซึ่งสีม่วงเป็นสีที่มีพลังงานมากกว่าสีน้ำเงิน และมีช่วงในสเปกตรัมแสงที่แคบมาก นับเป็นสีที่พบได้ยากที่สุดในสิ่งมีชีวิต
“บึ้งประกายสายฟ้า” นับเป็นบึ้งที่มีความพิเศษลักษณะสวยงาม และยังพบได้ในพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ จึงควรหาแนวทางอนุรักษ์พื้นที่ป่าให้บึ้งชนิดนี้เป็นอัญมณีแห่งผืนป่าต่อไปในอนาคต อ่านข่าวเพิ่ม นักวิจัย มข.พบ “บึ้งประกายสายฟ้า” ชนิดใหม่ของโลก ในป่าชายเลนไทย
"เมืองโบราณศรีเทพ-สงกรานต์ไทย" ขึ้นทะเบียนมรดกโลก
ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประกาศรับรองการขึ้นทะเบียน "เมืองโบราณศรีเทพ" อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2566

ย้อนกลับไปเมื่อ 118 ปีก่อน เมืองโบราณศรีเทพ ถูกค้นพบโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สู่การบูรณะเป็นโบราณสถานมาอย่างยาวนาน โดยกรมศิลปากรได้สำรวจและขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ กระทั่งตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อปี 2527
ตลอดเวลาดังกล่าว ได้มีการศึกษาวิจัยโดยนักวิชาการทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ กระทั่งนำไปสู่การเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม (Tentative List) เมื่อปี 2562 และจัดทำเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกฉบับสมบูรณ์แล้วเสร็จ นำส่งยังศูนย์มรดกโลกเมื่อ 28 ก.พ.2565 กระทั่งได้ประกาศขึ้นทะเบียนดังกล่าว
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมทวารวดีที่ยังคงความครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะผังเมืองโบราณ มีความแตกต่างไปจากผังเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีเมืองอื่น ๆ ที่พบในไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอัตลักษณ์ตั้งแต่ลักษณะการวางเมืองที่มีลักษณะเป็นเมืองแฝด หรือเมืองขยาย คือ “เมืองใน” และ “เมืองนอก” พบหลักฐานงานศิลปกรรมใน “สกุลช่างศรีเทพ” ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว ได้รับการยกย่องจากนักวิชาการเรื่องเทคนิคงานช่างเมืองศรีเทพที่กล้าสร้างประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง อ่านข่าวเพิ่ม นาทีประวัติศาสตร์ ประกาศขึ้นทะเบียน "เมืองโบราณศรีเทพ" เป็นมรดกโลก

ปิดท้ายด้วยข่าวน่ายินดี "สงกรานต์ไทย" ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโน เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2566 โดยเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเล่นสาดน้ำ ในช่วงปีใหม่ไทย หรือการเฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือน เม.ย.ของทุกปี

ประเพณีอันงดงามนี้สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน สะท้อนถึงความกตัญญูของคนไทยต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น โดยมีกิจกรรมทั้งการตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้เคารพนับถือ จัดขบวนแห่ของชุมชน การละเล่น และการแสดงต่าง ๆ อ่านข่าวเพิ่ม "ยูเนสโก" ขึ้นทะเบียน "สงกรานต์ไทย" มรดกโลกวัฒนธรรม
อ่านข่าวอื่นๆ :
รวม 10 เหตุการณ์โลกสะเทือนตลอดปี 2566
12 เหตุการณ์ช็อกไทย ปี 2566 สะเทือนทุกวงการ
ส่องดาวที่ลาลับ คนไทย-ต่างประเทศ ปี 2566
10 ที่สุดแห่งปี แวดวงกีฬาไทย ปี 2566
สิ้นพระเกจิอาจารย์ทั่วไทย อาลัย 12 พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ปี 2566