ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รมว.เกษตรฯ ชี้ "ผิดกฎหมาย" ชาวนาไทยลักลอบปลูก "ข้าวเวียดนาม"

เศรษฐกิจ
7 ธ.ค. 66
19:51
4,713
Logo Thai PBS
 รมว.เกษตรฯ ชี้ "ผิดกฎหมาย" ชาวนาไทยลักลอบปลูก "ข้าวเวียดนาม"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อดีตเลขาฯ สมาคมชาวนา พระนครศรีอยุธยา ยอมรับว่าชาวนาไทยนำพันธุ์ข้าวเวียดนามมาปลูก เพราะให้ผลผลิตดีกว่า ซึ่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าถ้าลักลอบนำมาปลูก ถือว่า "ผิดกฎหมาย" ด้านนักวิชาการข้าวระบุ ไทยพัฒนาข้าวตลอดเวลา แต่ขาดแคลนงบประมาณ

วันนี้ (7 ธ.ค.2566) ฐิติวัฒน์ กลีบมาลัย ชาวนาใน อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา และเป็นอดีตเลขาธิการสมาคมชาวนา จ.พระนครศรีอยุธยา สำรวจแปลงนาหลังการไถ เพื่อเตรียมปลูกข้าวนาปรัง รอบที่ 2 ของปี ท่ามกลางความกังวลว่า ราคาข้าวอาจจะไม่ดีนัก โดยยอมรับว่า ปัจจุบันชาวนาบางส่วนนิยมปลูกข้าวสายพันธุ์เวียดนาม แทนข้าวสายพันธุ์ไทย เพราะได้ผลผลิตมากกว่า และใช้เวลาการปลูกน้อยกว่า

อ่าน : ยุคค้าข้าวรุ่งเรือง จีนคู่ค้า "ข้าวไทย" สมัยอยุธยาตอนปลาย

รมว.เกษตรฯ ชี้ลักลอบนำเข้าพันธุ์เวียดนามผิดกฎหมาย

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์​ บอกว่าการลักลอบนำพันธุ์ข้าวเวียดนามเข้ามาปลูกในไทยถือว่า "ผิดกฎหมาย" กรมการข้าวไม่สามารถรับรองพันธุ์ข้าวได้ และหากไทยถูกร้องเรียนจะมีปัญหาระหว่างประเทศ ขณะนี้ ได้สั่งให้กรมการข้าว และ กรมวิชาการเกษตร ตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อข้าวไทยไปมากกว่านี้

พร้อมยืนยันว่า การที่ไทยไม่ได้แชมป์ข้าวครั้งนี้ เพราะเวทีนี้ เป็นการวัดที่ปริมาณข้าวมากกว่า และรัฐบาลจะพยามพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพ เพื่อทวงแชมป์ข้าวไทยคืน

ส่วนด้าน นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่าเตรียมของบประมาณจากรัฐบาล 2,000 ล้านบาท เพื่อเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวใหม่ให้ได้ 300,000 - 400,000 ตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ ปีละ 1,300,000 ตัน โดยเตรียมประกาศรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ ภายในเดือน เม.ย. ปีหน้า ให้เกษตรกรทันใช้ ในฤดูกาลเพาะปลูกเดือน ต.ค. 

รวงข้าวที่ได้จากการเพาะปลูก

รวงข้าวที่ได้จากการเพาะปลูก

รวงข้าวที่ได้จากการเพาะปลูก

นักวิชาการเสนอรัฐทุ่มงบฯ วิจัยพัฒนาข้าว

สายพันธุ์ข้าวไทยแพ้สายพันธุ์ข้าวของชาติอื่นตรงไหน นักวิชาการด้านข้าว ยืนยันว่า ไทยพัฒนาข้าวอยู่ตลอด แต่การพัฒนาพันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์ ใช้เวลาเกือบ 10 ปี ขาดแคลนงบประมาณ และต้องอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัย และบางสายพันธุ์พัฒนาสำเร็จ แต่โรงสีกลับไม่รับซื้อ

ข้าวพันธุ์ กข.97 หรือข้าวเจ้าหอมรังสิต เป็น 1 ในข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งได้รับการรับรองจากกรมการข้าวเมื่อปีที่แล้ว พัฒนาโดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เป็นข้าวหอมไทย ผลผลิตสูง ได้ข้าวสุกนุ่ม ค่อนข้างเหนียว มีกลิ่นหอมเล็กน้อย เมื่อครบอายุเก็บเกี่ยว ข้าวจะถูกนำมาตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง ก่อนนำไปกระจายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว นำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ และคาดว่า กลางปีหน้า จะแจกจ่ายให้เกษตรกรได้

มุ่งมาตร วังกะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี

มุ่งมาตร วังกะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี

มุ่งมาตร วังกะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี

มุ่งมาตร วังกะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ระบุว่า พัฒนาพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าช้า กว่าจะพัฒนาพันธุ์ข้าวได้ แต่ละสายพันธุ์ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปี ต่อ 1 สายพันธุ์ และต้องใช้งบประมาณ และเครื่องมือทันสมัย ซึ่งไทยยังขาดปัจจัยเหล่านี้

อ่าน : "เวียดนาม" แชมป์ข้าวโลกปี 66 ผู้ส่งออกข้าวเผยไทยไม่ส่งประกวด

"หอมวาริน" ให้ผลผลิตถึง 1,000 กิโลกรัม/ไร่

รศ.สุรีพร เกตุงาม อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการวิจัย "ข้าวหอมวาริน" ระบุว่า ต้องใช้เวลา และงบประมาณ ต้องขอการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น แต่เมื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวสำเร็จ กลับไม่ได้รับความนิยมจากเกษตรกร เพราะโรงสีไม่รับซื้อ

ด้าน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่า รัฐควรทุ่มงบประมาณ ในการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวมากกว่านี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของข้าวไทย

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยที่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนการผลิตของไทยที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อย่างปี 2565 ชาวนาไทยมีต้นทุนการผลิต ไร่ละเกือบ 6,000 บาท ขณะที่เวียดนาม อยู่ที่ไร่ละ 5,000 บาท

และเมื่อดู งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวของแต่ละประเทศ พบว่า ไทยมีงบประมาณในการวิจัยฯ น้อย เมื่อเทียบกับหลายประเทศ โดยไทยอยู่ที่ 200 ล้านบาท/ปี ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท/ปี

อ่าน : ไทย “ส่งออกข้าว” พุ่ง หลังอินโดฯขาดแคลนข้าว-ภัยแล้งซ้ำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง