ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เที่ยว "กัลยาณิวัฒนา" อำเภอลำดับที่ 25 ของเชียงใหม่ 878 ของไทย

ไลฟ์สไตล์
4 ธ.ค. 66
10:42
23,778
Logo Thai PBS
เที่ยว "กัลยาณิวัฒนา" อำเภอลำดับที่ 25 ของเชียงใหม่ 878 ของไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปักหมุดเที่ยว "กัลยาณิวัฒนา" อำเภอลำดับที่ 25 ของเชียงใหม่ 878 ของไทย
กัลยาณิวัฒนา ดินแดนในฝัน ป่าสนพันปี ประเพณีวัฒนธรรม บริสุทธิ์ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สามัคคี สมานฉันท์

(คำขวัญประจำอำเภอ กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่)

ความเป็น "กัลยาณิวัฒนา" อำเภอที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง จ.เชียงใหม่ ถูกสะท้อนผ่านคำขวัญประจำอำเภอ แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติที่มีทั้งเทือกเขาสูงรายล้อม บรรยากาศเงียบสงบ เป็นพื้นที่ที่มีอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี รวมถึงไปวิถีชีวิตผู้คนที่มีความหลากหลายของวัฒนธรรมชนเผ่าแบบดั้งเดิม ทั้ง กะเหรี่ยง ม้ง ลีซอ ซึ่งเป็นการผสมผสาน กันได้อย่างกลมกลืน

ด้วยเสน่ห์ของ "อ.กัลยาณิวัฒนา" ทั้งบรรยากาศ ธรรมชาติ และวิถีชาวบ้าน ทำให้อำเภอแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ของ จ.เชียงใหม่ น่าสนใจหลายคนอยากมาสัมผัสที่นี่สักครั้ง วันนี้ไปทำความรู้จักพื้นที่แห่งนี้ให้มากขึ้น

อ่านข่าว : ชวนนั่งรถม้าชมโบราณสถานยามค่ำคืน “แอ่วกุมกามยามแลง” เชียงใหม่

ที่มาของ "อ.กัลยาณิวัฒนา" อำเภอที่ 25 ของเชียงใหม่ 

อ.กัลยาณิวัฒนา แม้จะมีระยะห่างจากตัวเมืองประมาณ 141 กิโลเมตร แต่ก็ต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง เพราะเส้นทางที่คดเคี้ยวและสูงชัน ทิศเหนือติดต่อกับ อยู่ติดกับ อ.ปาย ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่ง ของ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง 50 กิโลเมตร (ถนนสายกัลยาณิวัฒนา-ปาย)

อ.กัลยาณิวัฒนา ประกอบด้วย 3 ตำบล คือ บ้านจันทร์ แม่แดด และแจ่มหลวง ปัจจุบันมีประชาชน 12,949 คน แต่ก่อนที่จะมาเป็น อ.กัลยาณิวัฒนา นั้นมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไรไปหาคำตอบกัน

กว่า 16 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2536 ที่ชาวบ้านขอแยกตัวจัดตั้งเป็นอำเภอ แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการไม่สอดคล้องตามหลักจัดตั้งอำเภอของกระทรวงมหาดไทย เช่น ต้องเป็นกิ่งอำเภอไม่น้อยกว่า 5 ปี (ซึ่งที่นี่ไม่เคยเป็นกิ่งอำเภอ) ต้องมีราษฎรไม่น้อยกว่า 35,000 คน

ย้อนกลับไปในอดีต ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนที่สูง การเดินทางไปขอรับบริการต่าง ๆ จากหน่วยงานรัฐเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งยังมีปัญหาเรื่องยาเสพติด การลักลอบตัดไม้อยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับเป็นที่ตั้งของโครงการหลวงหลายโครงการ คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้แยกพื้นที่ของ ต.บ้านจันทร์ ต.แจ่มหลวง และ ต.แม่แดด ออกมาตั้งเป็น "อ.วัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ" เป็นกรณีพิเศษ

ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่ออำเภอว่า "อ.กัลยาณิวัฒนา" เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเคยทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจในพื้นที่ ต.บ้านจันทร์

พระราชกฤษฎีกาตั้ง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.พ.ศ. 2552 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.พ.ศ. 2552 กลายเป็นอำเภอ 25 ของ จ.เชียงใหม่ และเป็นอำเภออันดับที่ 878 ของประเทศไทย

อ่านข่าว : เลาะแลนด์มาร์กเมืองย่าโม ประตูสู่อีสาน บ้านเกิด "แอนโทเนีย"

วิถีชุมชนหลากหลาย - พืชเศรษฐกิจสำคัญ

ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชันล้อมรอบ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าสน และป่าเบญจพรรณ มีพื้นที่ทั้งหมด 421,612 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ป่าสงวน 378,245 ไร่ (คิดเป็น 90%) พื้นที่ทำการเกษตร 30,391 ไร่ (คิดเป็น 7%) พื้นที่อยู่อาศัย และอื่น ๆ 8,062 ไร่ (คิดเป็น 3%) มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,225 มิลลิเมตรต่อปี ฝนตกเฉลี่ย 122 วันต่อปี

อ.กัลยาณิวัฒนา มีพื้นที่ทำการเกษตร 30,391 ไร่ โดยปลูกพืชเศรษฐกิจหลักได้แก่ ข้าว มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2,275 ครัวเรือน, ปลูกข้าวโพด 829 ครัวเรือน, ปลูกกาแฟ 410 ครัวเรือน, ปลูกสตรอเบอรี่ 334 ครัวเรือน, ปลูกอะโวคาโด 397 ครัวเรือน, ปลูกกะหล่ำปลี และอื่น ๆ อีก 517 ครัวเรือน

นอกจากนี้ อ.กัลยาณิวัฒนา มีกลุ่มสถาบันเกษตรกร กลุ่มอาชีพการเกษตร ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานราชการ หลายกลุ่ม กลุ่มอาชีพการเกษตร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้รับการสนับสนุน จากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าปกาเกอะญอ 

ไปแอ่ว อ.กัลยาณิวัฒนา เช็กอินที่ไหนดี

"กัลยาณิวัฒนา" หลากหลายไปด้วยเรื่องของธรรมชาติ วิถีชีวิตของผู้คน ใครได้ไปเที่ยวจะได้พบเห็นป่าเขียวขจีตลอดเส้นทาง สร้างความตื่นตา และที่แรกที่จะพาไปคือ พาไปชมป่าสน เคล้าหมอกยามเช้า อีกที่จะได้สูดและสัมผัสบรรยากาศของธรรมชาติได้อย่างเต็มที่

ที่เที่ยวที่ต้องไปเช็กอิน ที่ อ.กัลยาณิวัฒนา ที่นี่มีป่าสนธรรมชาติอันกว้างใหญ่ และนับเป็นป่าสนผืนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสน่ห์ของที่นี่ คือ ความสวยงามในแต่ละช่วงฤดูกาลที่แตกต่างกัน

อ่านข่าว : กรุงเทพฯ ติดอันดับ 4 เมืองท่องเที่ยวถูกค้นหามากสุดในโลกปี 66

"เที่ยวป่าสน ที่โครงการหลวงวัดจันทร์"

โครงการหลวงวัดจันทร์ มีที่มาจากเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ และทรงทราบถึงความยากลำบากของชาวเขาในพื้นที่ จึงพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียง และก่อตั้ง "ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์" ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ราษฎรได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

แหล่งท่องไฮไลต์ มีทิวทัศน์ ธรรมชาติสวยงาม ของป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในไทย โดยพื้นที่โครงการหลวงวัดจันทร์ ที่คุ้นเคยของนักท่องเที่ยว คือ ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อปป) อีกจุดคือที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ทั้งสองแห่งอยู่ในพื้นที่ดูแลของโครงการหลวงเช่นกัน

ในช่วง "ฤดูหนาว" พื้นที่แห่งนี้จะถูกปกคลุมไปด้วยม่านหมอก ลมเย็น ทิวสน และอ่างเก็บน้ำ ถือเป็นบรรยากาศที่สุดฟินสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเรา ไม่เพียงเท่านั้นหากมาเที่ยวในช่วง "ฤดูฝน" จะได้พบกับบรรยากาศในอีกรูปแบบ คือ ธรรมชาติที่เขียวขจี ไอน้ำท่ามกลางหมอกฝน

และที่น่าสนใจอีอย่าง คือ ใน ช่วงเดือน ธ.ค.- ก.พ. จะเป็นช่วงที่ใบเมเบิ้ลเปลี่ยนสี เติมสีสันสดสวยให้ธรรมชาติไปอีกขั้น นอกจากนี้หากใครยังอยากใช้เวลากับธรรมชาตแบบชิว ๆ ก็สามารถ ดื่มด่ำกับธรรมชาติให้เต็มที่ด้วยการปั่นจักรยาน รวมไปถึง เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ได้ด้วย

ป่าสนวัดจันทร์ นับเป็นอีกหนึ่งที่เที่ยวที่สวยงาม เที่ยวได้ตลอดทั้งปี ใครจะจะไปสูดโอโซนให้เต็มปอด ที่นี้อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือก

อ่านข่าว : ความเชื่อ ศรัทธา "พญานาค" จากกาลสู่ปัจจุบัน

"วัดจันทร์" (วิหารแว่นตาดำ)

เดินทางต่อไปอีกหน่อยไปที่ "วัดจันทร์" ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3 ต.บ้านจันทร์ ศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญของคนใน อ.กัลยาณิวัฒนา ส่วนที่ถือเป็นไฮไลท์ โด่นเด่นและแปลกจากวิหารทั่วไป คือ ลักษณะของวิหารเมื่อมองจากด้านหน้าเหมือนสวมแว่นตาดำ

หากย้อนไปดูที่มา วิหารแห่งนี้ช่างชาวปกากะญอ เห็นว่า ประตูด้านหน้าวิหารรวมทั้งจั่ววิหาร ส่วนหนึ่งได้ทำด้วยแผ่นไม้สักปิดบังแสงแดดไว้ จึงมีเจตนาว่าจะเปิดด้านหน้าวิหารบริเวณจั่ววิหารให้แสงแดดเข้ามาข้างในวิหารได้บ้าง จึงเจาะแผ่นไม้บางส่วนของจั่วออกเพื่อจะได้รับแสง

ความตั้งใจของช่างในช่วงแรกจะทำให้เหมือนดวงตา แต่เมื่อทำเสร็จมีลักษณะคล้ายแว่นตาจึงปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น ซึ่งก่อนนั้นไม่ได้นำกระจกมาสวมใส่ แต่เป็นห่วงทรัพย์สินภายในวิหารที่มีพระประธานเป็นพระสิงห์ 3 อายุกว่า 300 ปี จึงมีการนำกระจกกรองแสงสีดำมาติดจนกลายเป็นวิหารที่มีลักษณะเหมือนสวมแว่นตา

ไม่เพียงเท่านั้น อ.กัลยาณิวัฒนา ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย ใครอยากเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พัก ในพื้นที่ธรรมชาติ เงียบสงบ รวมถึงสัมผัสกับวิถีชุมชนที่มีเสน่ห์มาก ๆ อยากให้ลองไปกันดู 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง