วันนี้ (1 ธ.ค.2566) นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัฒน์ สส.พรรคก้าวไกล แถลงกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยกเลิกการใช้ E-ticket ชั่วคราว ว่า ทำให้เกิดช่องว่างการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติ โดยอ้างอิงข้อมูลว่าในสมัยที่มีอาชีพเป็นไกด์นำท่องเที่ยวมีบริษัทเอกชนว่าจ้าง โดยสั่งให้แจ้งทางอุทยานว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 10 คน พร้อมมีของไปมอบให้
สะท้อนว่ามีข้อตกลงระหว่างบริษัททัวร์ และเจ้าหน้าที่อุทยาน และดำเนินการลักษณะดังกล่าวมาอย่างยาวนาน จนมีการเปิดโปงข้อมูลว่ารายได้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลในภาคใต้มีจำนวนมาก เข้าข่ายทุจริตหรือไม่
อ่านข่าว ดีเดย์ 1 ธ.ค.นี้ "อุทยาน" ยกเลิกขาย E-Ticket ชั่วคราว
นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัฒน์ สส.พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามปมเลิก E-Ticket
นายประเสริฐพงษ์ ระบุว่า สงสัยว่าอาจจะมีช่องว่างของการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะว่าเก็บมาแล้วเงินรั่วไหล จึงแก้ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการรั่วไหลที่เกิดขึ้นไม่มีการพูดถึงเลย ข้อจำกัดที่อ้างคืออะไร และการเก็บเงินได้น้อยหมายความว่าอย่างไร
ฝากถามไปยัง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทส.ในฐานะเป็นตำรวจเก่า วันนี้เป็นรัฐมนตรีต้องมีจิตวิญญาณของนักสืบ ตั้งข้อสงสัยว่าถูกข้าราชการต้มหรือไม่ หรือถูกข้าราชการไม่เห็นความสำคัญ เพราะเป็นรัฐมนตรีมือใหม่หรือไม่
นายประเสริฐพงษ์ กล่าวอีกว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติด้วย E-ticket ที่มีการเก็บมาระยะเวลานานแล้ว แต่มีการถ่วงเวลาระบบพัฒนาการจัดเก็บเงินหรือไม่ เนื่องจากมีข้อมูลว่าบริษัทที่รับประมูลงานหมดสัญญา
ดังนั้นข้าราชการในกรมอุทยานฯ จะต้องเตรียมการล่วงหน้า สะท้อนว่าการปฎิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง จึงเรียกร้องให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้น โดยยกเลิกชั่วคราวตั้งแต่ 1 ธ.ค.นี้ เป็นต้นไป และไม่ได้กำหนดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ แก้ไขปัญหาโดยเร็ว เนื่องจากจะเสียผลประโยชน์ของชาติ
การอ้างอิงว่าประเด็นปัญหาดังกล่าว ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการแล้ว เชื่อว่าหลายคนรู้ว่ามีการรั่วไหลของการเก็บเงินบริเวณหน้าอุทยาน
อ่านข่าว "ภูชี้ฟ้า" ห้ามนักท่องเที่ยวฝ่าแนวเชือก-เช็กอินจุดชมวิว
อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 1 ใน 6 แห่งนำร่องใช้ E-Ticket
แจงเหตุผลยกเลิก E-ticket ชั่วคราว
ส่วนกรณีการยกเลิกการใช้ E-ticket ชั่วคราวนั้น นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า กรมอุทยานฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ
โดยได้เปิดให้บริการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ ในอุทยานแห่งชาติ 6 แห่ง ได้แก่ เอราวัณ เขาใหญ่ ดอยอินทนนท์ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี หมู่เกาะสิมิลัน และอ่าวพังงา ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาดังกล่าวแล้ว ในเดือน ก.ย.
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 คณะกรรมการเงินอุทยานแห่งชาติ ได้อนุมัติเงินอุทยานแห่งชาติจำนวน 1.9 ล้านบาท ทำโครงการจ้างดูแลระบบการจำหน่าย E-ticket ในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องต่อ 1 ปี
อ่านข่าว ดีเดย์ 1 ธ.ค.นี้ "อุทยาน" ยกเลิกขาย E-Ticket ชั่วคราว
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ
แต่ที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ หารือร่วมกับ ป.ป.ช.เพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจอง การรับเงิน ระบบการสื่อสาร และแก้ไขปัญหาการตัดเงินผ่านระบบไม่ตรงกับวันที่เข้าใช้บริการจริง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและสถิติเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติในวันดังกล่าวไม่สอดคล้องกัน
โดยการจอง ชำระเงินจะเกิดขึ้นก่อนวันที่เข้าใช้บริการจริง เช่น นักท่องเที่ยวจองและชำระเงินในวันที่ 1 แต่เข้าใช้บริการในวันที่ 7 ทำให้สถิติเงินรายได้เกิดขึ้นในวันที่ 1 แต่สถิตินักท่องเที่ยวเกิดขึ้นในวันที่ 7 รวมทั้งพบข้อบกพร่องจากการใช้งานระบบในส่วนอื่นๆ จึงต้องมีการพัฒนาและจัดทำระบบใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำของ ป.ป.ช.
โดยจะมีการพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่าน E-ticket เพิ่มอีก 31 แห่ง แต่เนื่องจากตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสุดภาครัฐ พ.ศ. 2560 ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการประกวดอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เพื่อเปิดโอกาสให้กับบริษัทรายอื่นๆ เนื่องจากมีบริษัทเข้ามานำเสนอระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติผ่านระบบอิเล็ก ทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องปิดระบบการจอง และชำระเงินผ่านระบบ E-ticket เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้
อ่านข่าว "อช.เขาใหญ่" แจง ไม่มีสมาร์ทโฟนก็ซื้อตั๋วหน้าด่านได้
ตู้เก็บเงินค่าธรรมเนียม
ไร้สัญญาณเน็ต-นนท.ไม่พร้อมให้ข้อมูล
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จะจัดทำข้อเสนอโครงการแผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามข้อเสนอของสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของอุทยานแห่งชาติ อีก 96 แห่ง ให้ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติทุกแห่งทั่วประเทศ
สำหรับการดำเนินการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบ E-ticket ที่ผ่านมา พบข้อจำกัด เนื่องจากในพื้นที่อุทยานบางแห่ง ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต จึงไม่สามารถรองรับระบบดังกล่าวได้ และการกรอกข้อมูลส่วนตัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ บางส่วนไม่พร้อมในการให้ข้อมูลส่วนตัว
เนื่องจากการจองผ่านระบบ E-ticker ต้องมีการกรอกข้อมูลรายบุคคลประกอบการจอง โดยกรมอุทยานฯ มีคำสั่งที่ 5147/2566 ลงวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อวิเคราะห์และประเมินการใช้งานระบบการจำหน่ายบัตร E-ticket ในอุทยานแห่งชาติ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ให้เหมาะสม
อ่านข่าว
127 ล้านบาท รายได้อุทยานฯ เดือน ต.ค. เปิด 5 แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต
สำรวจสัตว์ทะเลหายากอ่าวไทยตอนบน พบวาฬบรูด้า 9 ตัว