วันนี้ (29 พ.ย.2566) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานนาทีที่เจ้าหน้าที่และผู้คนที่เกาะติดปฏิบัติช่วยเหลือคนงาน ต่างโห่ร้องแสดงความยินดี หลังคนงานคนแรกจากทั้งหมด 41 คน ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากอุโมงค์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่แทบเทือกเขาหิมาลัย รัฐอุตตราขัณฑ์ ทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งพังถล่มระหว่างการก่อสร้างเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้คนงานติดอยู่ในอุโมงค์นานถึง 17 วัน
จากนั้นเจ้าหน้าที่นำคนงานทั้งหมดส่งโรงพยาบาลที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร ด้วยขบวนรถพยาบาลที่มาจอดรอ 41 คัน
ด้านเจ้าหน้าที่จากกองกำลังตอบสนองภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุว่า คนงานทั้งหมดอาการปลอดภัย ไม่มีอะไรต้องกังวล โดยเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้วยการเจาะท่อผ่านกองดินและเศษหินที่พังถล่มลงมาขวางอุโมงค์เข้าไปยังจุดที่คนงานติดอยู่ แล้วให้คนงานนอนบนเปลหามที่มีล้อ จากนั้นดึงออกมาผ่านท่อที่มีความกว้างเพียง 90 เซนติเมตร โดยลำเลียงออกมาได้ทีละคน
ภารกิจในครั้งนี้เผชิญกับอุปสรรคมากมายก่อนหน้านี้ทีมกู้ภัยก็ได้ใช้วิธีขุดเจาะผ่านกองดินและหินที่ถล่มลงมาปิดปากอุโมงค์แต่การช่วยเหลือล่าช้ามาอย่างต่อเนื่อง บางครั้งเครื่องจักรขัดข้อง และเกิดเสียงดังจนทำให้เกรงว่าอาจถล่มซ้ำ เจ้าหน้าที่ต้องสั่งพักการขุดเจาะชั่วคราว รวมถึงกรณีเครื่องมือขุดเจาะเสียหายจนเจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องเปลี่ยนไปขุดเจาะด้วยมือ
หลังจากช่วยคนงานออกมาได้ทั้งหมด ประธานาธิบดีอินเดียเปิดเผยผ่าน X หรือชื่อเดิมคือทวิตเตอร์ว่า รู้สึกโล่งใจและมีความสุขที่ได้ยินว่าคนงานทั้งหมดได้รับการช่วยเหลือออกมาแล้ว นอกจากนี้เธอยังชื่นชมความพยายามในการช่วยเหลือดังกล่าว ซึ่งต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ที่กลายเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความอดทนของมนุษย์
ขณะที่ครอบครัวของคนงาน ร่วมจุดดอกไม้ไฟ และจัดเฉลิมฉลองเล็ก ๆ กันในครอบครัว เพื่อแสดงความยินดีที่คนที่รักกลับออกมาอย่างปลอดภัย
สำหรับอุโมงค์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางหลวงจารธรรม ที่เชื่อมระหว่างสถานที่จาริกแสวงบุญของศาสนาฮินดู 4 แห่ง ตัวอุโมงค์ยาว 4.5 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณก่อสร้าง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 52,000 ล้านบาท จนเผชิญเสียงวิจารณ์เรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และยังมีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญก่อนหน้านี้ ว่า การขุดเจาะในพื้นที่อาจกระทบต่อลักษณะภูมิประเทศที่เปราะบาง และเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่มหรือน้ำท่วมฉับพลัน