วันนี้ (27 พ.ย. 66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธานเปิดบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ"
นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่น่ายินดีที่จะได้เปิดการให้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจตามนโยบายรัฐบาลที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศให้เข้าสู่ยุค Digital Government โดยเมื่อข้อมูลทั้งหลายถูกนำเข้าสู่ระบบออนไลน์แล้ว ประเทศก็จะได้ทั้งการบริหารงานที่โปร่งใส และการให้บริการที่สะดวกสบาย สำหรับประชาชน
การนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์บริการ ทั้งการพัฒนาบริการเดิม และเสริมบริการใหม่ จะช่วยลดขั้นตอนการติดต่อราชการที่ซ้ำซ้อนลง และสามารถตอบสนองความต้องการของคนยุคนี้ ในการเข้าถึงบริการของรัฐได้ตลอด 24 ชั่วโมง ลดปัญหาดังที่เราทุกคนเคยมีประสบการณ์ของความหงุดหงิดเวลาอยากจะทำอะไรนอกเวลาราชการแล้วทำไม่ได้ ต้องมาเสียเวลาทำการทำงานเพื่อไปติดต่อราชการตามเวลาราชการ
“ความรู้สึกแบบนั้นจะหายไป เมื่อเราเข้าสู่ความเป็น Digital Government โดยสมบูรณ์” ซึ่งการรวมศูนย์บริการภาครัฐให้เป็น "พอร์ทัลกลาง" ก็ถือว่าเป็น Game Changer เป็นปัจจัยที่จะทำให้ "รัฐบาลดิจิทัล" เกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้ การที่ "กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น" ได้นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการให้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ รองรับผู้ใช้งานกว่า 14 ล้านคน ในครั้งนี้ ถือว่าสอดคล้องกับอัตลักษณ์ในการทำงานของชาวกระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างยิ่ง คือ การทำงานด้วยความ "ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที" สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม สนองตอบความต้องการของประชาชน”
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่วันนี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนนโยบายของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งพัฒนาให้ข้าราชการและหน่วยงานมีความ "ทันโลก ทันสมัย" เป็นที่พึ่งพาของประชาชน สมดังภารกิจของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้พี่แก่น้องประชาชนอยู่เสมอ
“การที่กระทรวงมหาดไทย ได้ให้เกียรตินำบริการ "ตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ" มาไว้ใน Application ทางรัฐ ซึ่งสะท้อนถึงการก้าวสู่องค์กรดิจิทัลที่มีความสอดคล้อง คล่องตัว เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะผลักดันให้Application"ทางรัฐ" เสมือน "ซูเปอร์แอปของภาครัฐ" ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ในแอปพลิเคชันเดียว ซึ่ง DGA มุ่งมั่นขับเคลื่อนงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างประเทศให้ทันสมัย (Smart Nation) เพื่อชีวิตของคนไทยที่ง่ายขึ้น (Smart Life) ส่งผลให้ประชาชนทุกคน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป”
นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาที่ประชาชนทั่วไปไม่ทราบ หรือไม่สามารถคำนวณหาช่วงเวลาที่ต้องไปยืนยันตัวตนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้อง มีความเสี่ยงในการไปยืนยันตัวตนล่าช้ากว่าที่ระเบียบกำหนด ส่งผลให้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุล่าช้า และจำนวนเงินเบี้ยยังชีพที่ได้รับน้อยลงกว่าสิทธิที่ควรจะได้ หรือต้องการทราบข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการในแต่ละเดือน ก็จำเป็นที่จะต้องเดินทางมาสอบถามข้อมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างเยอะ และยิ่งถ้าต้องการข้อมูลจากหลายหน่วยงานก็ต้องเดินทางไปหลายแห่งอีก จึงเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากให้กับประชาชนที่ต้องการความสะดวก ซึ่งแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" คือ แอปพลิเคชันที่รวบรวมบริการที่สำคัญของภาครัฐมาไว้ในแอปพลิเคชันเดียว ที่ให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
โดยในปัจจุบันแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" มีบริการที่พร้อมให้บริการประชาชนกว่า 134 บริการ โดยมีบริการจากภาครัฐที่น่าสนใจมากมาย เช่น บริการตรวจสอบสิทธิประกันสังคม สิทธิการรักษาพยาบาล เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สิทธิหลักประกันสุขภาพ รวมถึงฐานข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการที่จะมีการเปิดตัวในวันนี้ เป็นการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565
รวมถึงแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งรัฐบาลมีเจตนารมณ์มุ่งผลักดันให้แผนนี้เป็นระบบกลางของประเทศ (Citizen Portal) ที่รวบรวมงานบริการภาครัฐไว้ในแหล่งเดียว เพื่อให้ประชาชนได้รับประสบการณ์ที่ดีในการติดต่อราชการผ่านทางออนไลน์
“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีความมุ่งมั่นในการยกระดับการให้บริการประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดสวัสดิการทางสังคม การจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเท่าเทียม และเกิดความเสมอภาคทางสังคม สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
จึงได้ร่วมกับ สนง.พัฒนารัฐบาลดิจิทัล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เชื่อมโยงฐานข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนระบบแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ซึ่งเป็นช่องทางที่รวบรวมงานบริการภาครัฐที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562”
อ่านข่าวอื่นๆ :
พบเด็ก เยาวชน ติดบุหรี่ไฟฟ้าพุ่ง 30.5% - วัยรุ่นหญิงเพิ่มขึ้น