ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปนเปื้อน เดอะซีรีส์ EP.3 "ขยะอันตราย" ผู้ก่อมลพิษ ต้องรับผิดชอบ

สิ่งแวดล้อม
27 พ.ย. 66
13:39
650
Logo Thai PBS
ปนเปื้อน เดอะซีรีส์ EP.3 "ขยะอันตราย" ผู้ก่อมลพิษ ต้องรับผิดชอบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ปนเปื้อน เดอะซีรี่ส์

ปนเปื้อน เดอะซีรี่ส์ EP.1 คดีสิ่งแวดล้อม "มหากาพย์ 23 ปี"

ปนเปื้อน เดอะซีรีส์ EP.2 หลุมฝังกลบ "ชุมชนหนองพะวา" ยุติธรรมไม่มีจริง

หลักการที่สำคัญที่สุดของการจัดการกับปัญหา "มลพิษ" ตามหลักสากล เป็นคำขวัญที่ท่องต่อๆ กันมา ราวกับคำปฏิญาณตน นั่นก็คือ ... "ผู้ก่อมลพิษ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ"

เป็นหลักที่ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมายสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเขียนไว้ในกฎหมายโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย

กรณีที่ 1 ... ที่โรงงานแว็กซ์ กาเบจ รีไซเคิล จ.ราชบุรี ประชาชนกว่า 140 ครัวเรือน รวมกว่า 1,000 คน ใน ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายของโรงงานตั้งแต่ปี 2543 รวมตัวกันฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม และศาลพิพากษาให้โรงงานต้องชดเชยค่าเสียหายให้ชาวบ้าน 3 ราย ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงรวมกันประมาณ 1.3 ล้านบาท ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลชาวบ้านทั้งหมด

แยกเป็นคนที่ตรวจไม่พบสารโลหะหนัก รายละ 5,000 บาท, คนที่ตรวจพบแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน รายละ 10,000 บาท, คนที่ตรวจพบค่าสารโลหะหนักเกินมาตรฐาน รายละ 15,000 บาท และ ยังให้โรงงานจ่ายเงินเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมอีก 50 ล้านบาท 

คำพิพากษาดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2563 หรือเกือบครบ 3 ปีเต็มแล้ว แต่มาจนวันนี้ 27 พฤศจิกายน 2566 ยังไม่มีชาว ต.น้ำพุ แม้แต่คนเดียวที่ได้รับเงินเยียวยา ส่วนของเสียอันตรายเพิ่งถูกขนย้ายออกไปกำจัดรอบแรกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ด้วยราคาค่านำไปกำจัดประมาณ 59 ล้านบาท ซึ่งเป็น "เงินหลวง" ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ขออนุมัติมาจากคณะรัฐมนตรี ยังไม่รวมความเสียหายที่ฝังอยู่ใต้ดินซึ่งคาดว่ามีราคาค่ากำจัดแพงกว่านี้อีก แต่โรงงานอ้างว่า "ไม่มีเงิน"

โรงงานอุตสาหกรรม

โรงงานอุตสาหกรรม

โรงงานอุตสาหกรรม

กรณีที่ 2 ... ที่โรงงานวิน โพรเสส จ.ระยอง ชาวบ้านได้รับผลกระทบมานานกว่า 10 ปี จากโรงงานที่มีสภาพเหมือนเป็น "ถังขยะ" แอบลักลอบนำของสียอันตรายมาทิ้งและฝังกลบทั้งที่ไม่มีเครื่องจักรในโรงงาน โดยชาวบ้าน 15 ราย ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและชนะคดี

ศาลพิพากษาให้โรงงานจ่ายค่าชดเชยรวมกว่า 48 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีใครได้รับเงินอีกเช่นกัน เพราะโรงงานสั่งปิดตัวเองลงไปและอ้างว่าไม่มีเงิน ขณะที่สภาพแวดล้อมในพื้นที่ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อโรงงานอ้างว่า ไม่มีเงิน จึงไม่นำของเสียอันตรายที่ประเมินกันเบื้องต้นว่ามีค่ากำจัดมากกว่า 100 ล้านบาท ออกไปกำจัด

ยิ่งปล่อยไว้ ความเสียหายก็ยิ่งมากขึ้นทุกวินาที .... แต่มีเพียงกลไกเดียวที่กฎหมายไทยจะทำได้ คือ การใช้ "เงินหลวง" มาบรรเทาความเสียหายไปก่อน จากนั้นค่อยไปฟ้องร้องเรียกเก็บเงินคืนจากโรงงานภายหลัง

เป็นสิ่งที่กฎหมายไทย "ทำได้" ภายใต้หลักการ "ผู้ก่อมลพิษ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ"

เมื่อไม่มีผู้รับผิดชอบ แล้ว "ใคร คือ ผู้ก่อมลพิษ" ... ในวงจร "กากของเสียอันตราย" ของประเทศไทย

เพื่อให้เห็นว่าเราปล่อยให้กลไกการดูแลรักษาทรัพยากรที่ไร้ประสิทธิภาพเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมผู้ก่อให้เกิดมลพิษตัวจริงจากวงจร "กากของเสียอุตสาหกรรม" จึงหลุดพ้นจากความรับผิดชอบไปได้เสมอ จึงควรทำความรู้จักพวกเขากัน

กากของเสียอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรม

กากของเสียอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรม

กากของเสียอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรม

"ต้นทุน"ราคากำจัดของเสียอันตราย

เมื่อมีการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ก็มี "กากของเสีย" ที่เหลือจากการผลิตและบางส่วนเป็น "กากของเสียอันตราย" ซึ่งมีราคาค่ากำจัด "สูง" หรือ "แพง" นั่นเอง

ผู้ก่อมลพิษในชั้นแรก จึงเป็น โรงงานที่มีสถานะเป็นผู้ผลิต แต่ไม่มีกิจการในการกำจัดหรือบำบัดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต และนั่นทำให้เกิดโรงงานขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง คือ "โรงงานที่รับกำจัดหรือบำบัดของเสีย"

โรงงานกลุ่มนี้ แยกตามหลักการทำงานของโรงงานเป็น 3 ประเภทใหญ่

  • โรงงานลำดับที่ 101 - รับกำจัดของเสียอันตราย / หลุมฝังกลบมาตรฐาน / เตาเผาคุณภาพสูง
  • โรงงานลำดับที่ 105 - โรงงานคัดแยกขยะ / ฝังกลบของเสียไม่อันตราย
  • โรงงานลำดับที่ 106 - โรงงานรีไซเคิล / นำของเสียมารีไซเคิล เพื่อแยกสิ่งที่ยังใช้ได้ออกมา ก่อนจะนำไปกำจัด

จะเห็นว่า เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมแห่งนี้ มีของเสียจากกระบวนการผลิตของเขา ของเสียเหล่านั้นก็จะถูกแยกประเภทออกมาอีกเป็น

  • ของเสียที่คัดแยกบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ได้
  • ของเสียไม่อันตรายที่กำจัดได้ด้วยกระบวนการกำจัดขยะทั่วไป
  • ของเสียที่ยังสามารถนำไปสกัดผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้ เช่น ทองจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
  • กากสุดท้าย หรือ ของเสียอันตรายที่ต้องนำไปกำจัดด้วยการะบวนการกำจัดของเสียอันตรายเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีกลุ่มโรงงานที่มองเห็นถึงช่องทางที่ยังสามารถ "สร้างรายได้" จากการบำบัดหรือหรือกำจัดของเสียได้ ... โดยช่องทางที่สำคัญ คือ โรงงานลำดับที่ 105 และ 106 ซึ่งสามารถเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้รับของเสียจากกระบวนการผลิตได้ ก่อนจะไปถึงโรงงานลำดับที่ 101

เพราะ 101 ที่คุณภาพการกำจัดสูงได้มาตรฐาน ย่อมมีราคาค่ากำจัด "แพงกว่า" และนอกจากการรับของเสียออกไปจัดการในราคาที่ถูกกว่ามาก ยังมีข้ออ้างที่ 105 และ 106 ใช้อ้างได้ว่า ของเสียเหล่านั้น ยังมีบางส่วนที่เป็นประโยชน์ นำเข้ากระบวนการ "รีไซเคิล" ได้

ดังนั้น ของเสียอันตรายจำนวนมาก จากผู้ก่อมลพิษชั้นแรก จึงถูกถ่ายเทออกไปยัง ผู้ก่อมลพิษชั้นที่ 2 ด้วยแรงจูงใจสำคัญคือ ค่ากำจัดราคาถูกลงครึ่งหนึ่ง นั่นคือ โรงงาน 105 และ 106 บางแห่ง ที่รับไป แต่ไม่ได้นำไปกำจัดหรือรีไซเคิลจริง เพียงแต่นำไปลักลอบทิ้ง เหมือนโรงงาน 2 แห่งข้างต้น ที่ก่อมลพิษร้ายแรง

ประมาณปี 2555 - 2557 เป็นช่วงที่พบการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายจำนวนมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้กับแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ภาคตะวันออกที่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และที่ จ.สมุทรสาคร โดยรูปแบบที่พบมาก คือ การนำของเสียอันตรายไปทิ้งตามบ่อดินต่างๆ ที่ถูกขุดหน้าดินไปขาย รวมถึงการไปลักลอบทิ้งตามบ่อน้ำหรือแปลงเกษตรของชาวบ้าน

เป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของโรงงานลำดับที่ 105 และ 106 ซึ่งข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า มีอยู่รวมกันกว่า 1,700 แห่ง
  • โรงงานคัดแยกขยะ 105 มีจำนวน 1,225 แห่ง
  • โรงงานรีไซเคิล 106 มีจำนวน 446 แห่ง

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีข้อมูลว่า ของเสียอันตรายที่ถูกคำนวณไว้ว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนจากกระบวนการผลิต ไปถึงโรงงานรับกำจัดของเสียอันตรายลำดับที่ 101 น้อยมาก และมีถึงกว่า 2 ล้านตันต่อปี ที่หายไปจากระบบ ทั้งที่มีโรงงาน 105 และ 106 ถึง 1,700 แห่ง 

ใคร ? คือ ผู้ก่อมลพิษ

ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าอาวุโสมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้คำนิยามว่า หากในพื้นที่ใดมีโรงงานอยู่ และพิสูจน์ได้ว่าพบการปนเปื้อนที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน ก็จะถือได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ

ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าอาวุโสมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าอาวุโสมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าอาวุโสมูลนิธิบูรณะนิเวศ

"แม้กลุ่มโรงงาน 105 หรือ 106 ที่รับของเสียอันตรายมาจากโรงงาน จะไม่ใช่ผู้ที่ทำให้เกิดของเสียอันตรายตั้งแต่แรก แต่การอ้างว่าจะรับมารีไซเคิล แล้วนำกากของเสียที่เหลือจากการรีไซเคิลไปกำจัด โดยไม่ได้นำไปกำจัดจริงๆ กลับไปลักลอบทิ้งจนทำให้เกิดการปนเปื้อน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน แบบนี้ก็ต้องถือว่า โรงงานที่รับของเสียมา อยู่ในสถานะ ผู้ก่อมลพิษ"

ดาวัลย์ ยืนยันว่า โรงงานกลุ่มนี้ ต้องถูกนับเป็นผู้ก่อมลพิษ ซึ่งก็คือ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

ส่วน "โรงงานต้นทาง" ที่ทำให้เกิดของเสียอันตราย ดาวัลย์ กล่าวว่าเคยมีคำอธิบายที่มีเหตุผล โดยอ้างว่าส่งของเสียอันตรายออกไปบำบัดหรือกำจัดตามกฎหมายแล้ว แม้จะส่งไปยังโรงงาน 105 และ 106 ที่รับของไปในราคาถูกก็ตาม แต่ก็เป็นโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตรับรองความสามารถมาจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเอง

แต่ในฐานะที่ติดตามปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ดาวัลย์ ก็มีคำถามกลับไปว่า โรงงานต้นทาง ไม่มีความรู้เรื่องต้นทุนค่ากำจัดที่แท้จริงเลยหรือ

"เขากำจัดได้จริงในราคาที่รับไป สมเหตุสมผลหรือไม่ คือ สิ่งที่ต้องตั้งคำถามกับโรงงานที่เป็นผู้ก่อกำเนิดของเสีย เพราะเขารู้ว่าของเสียคืออะไร ในวงการมีมาตรฐานที่รู้กันอยู่แล้วว่าต้องกำจัดด้วยวิธีไหน ต้นทุนเท่าไหร่ ราคากำจัดเท่าไหร่ แต่ทำไมยังส่งไปให้โรงงานที่มาเสนอราคาค่ากำจัดถูกกว่าความเป็นจริงมาก เพราะมองเห็นช่องทางที่จะลดต้นทุนมหาศาลลงไปได้ โดยถูกกฎหมายใช่หรือไม่"

"ดังนั้น โรงงานต้นทาง ที่เป็นผู้ก่อกำเนิดของเสีย แม้จะส่งของเสียออกไปกำจัดแล้วแต่ส่งออกไปทั้งที่รู้ว่ากำจัดไม่ได้จริง ก็ยังควรมีสถานะเป็น ผู้ร่วมก่อมลพิษอยู่ด้วย"

หน่วยงานรัฐ หรือ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีหน้าที่กำกับดูแล ต้องตอบคำถามว่า โรงงานที่ไม่มีศักยภาพรีไซเคิลหรือบำบัดจริง ได้ใบอนุญาตได้อย่างไร ปล่อยให้มีรูปแบบการรับกำจัดของเสียอันตรายราคาที่ถูกกว่าต้นทุนค่ากำจัดจริงได้อย่างไร โรงงานอย่าง วิน โพรเสส จ.ระยอง ที่ไม่มีเครื่องจักรเลย แต่ได้รับใบอนุญาตและอยู่นานขนาดนี้ได้อย่างไร ทั้งยังมีรถขนส่งของเสียอันตรายวิ่งออกนอกเส้นทางนำของเสียมาทิ้งที่นี่ตลอดหลายปี ทั้งที่มี GPS ติดตามเส้นทางรถทุกคันอยู่ที่กรมโรงงานฯได้อย่างไร บกพร่องหรือละเว้นหรือไม่

หน่วยงานรัฐ หรือ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีหน้าที่กำกับดูแล

หน่วยงานรัฐ หรือ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีหน้าที่กำกับดูแล

หน่วยงานรัฐ หรือ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีหน้าที่กำกับดูแล

ดาวัลย์ กล่าวว่า อีกประเด็นที่สำคัญคือ รู้กันว่า ธุรกิจนี้จะใช้ตัวแทนของโรงงานรับกำจัดหรือบำบัดของเสีย หรือโบรกเกอร์ เข้าไปทำสัญญารับเหมาการกำจัดของเสียอันตรายจากโรงงานต้นทางกันแบบรายปี โดยที่บริษัทโบรกเกอร์ไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตตัวจริง จึงต้องถามไปที่หน่วยงานของรัฐว่า ถ้าเป็นเช่นนี้จะรู้ได้อย่างไรว่ากำจัดได้จริงหรือไม่ ยักย้ายถ่ายเทในขั้นตอนการขนส่งหรือไม่ รัฐปล่อยให้เกิด ขบวนการนี้ได้อย่างไร” 

ในมุมมองของผู้คลุกคลีกับชาวบ้านที่ผู้ได้รับผลกระทบจากการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมากว่า 10 ปี ดาวัลย์ สรุปว่า ผู้ก่อมลพิษ หรือ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นปรากฏตัวชัดเจนอยู่แล้ว

เพียงแต่อยู่ในรูปแบบของ "วงจรอุบาทว์" นั้น ต่างได้ประโยชน์ ลดต้นทุนจนนำไปสู่ความร่ำรวยบนซากมลพิษที่สร้างความทุกข์แสนสาหัสให้ประชาชน

"โรงงานต้นทาง โบรกเกอร์ บริษัทรถขนส่ง โรงงานรับกำจัด บำบัด รีไซเคิล หน่วยงานกำกับดูแล .... ถามว่า ใครบ้างเป็นผู้ก่อมลพิษ ก็ไปดูกันว่า ใครบ้างได้ประโยชน์มหาศาล ร่ำรวยจากการเกิดมลพิษ คนนั้นก็คือผู้ก่อมลพิษ ... และเราต้องช่วยกันลากขบวนการนี้ออกมาแสดงความความรับผิดชอบ" ดาวัลย์ ทิ้งท้าย

อ่านข่าวเพิ่ม :

ปนเปื้อน เดอะซีรีส์ EP.1 คดีสิ่งแวดล้อม "มหากาพย์ 23 ปี"

ปนเปื้อน เดอะซีรีส์ EP.2 หลุมฝังกลบ "ชุมชนหนองพะวา" ยุติธรรมไม่มีจริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง