ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดเส้นทางรวมตัว "ช่างกล" สู่องค์กรอาชญากรรม

อาชญากรรม
23 พ.ย. 66
18:48
3,122
Logo Thai PBS
เปิดเส้นทางรวมตัว "ช่างกล" สู่องค์กรอาชญากรรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นับจากเหตุโศกนาฎกรรม 12 วัน คนร้ายก่อเหตุยิง น.ส.ศิรดา หรือ “ครูเจี๊ยบ”ครูสอนคอมพิวเตอร์โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ และนายธนสรณ์ หรือ “น้องหยอด”นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2566 และในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถคลี่คลายคดีได้เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา

กับการใช้เวลาไล่ตรวจกล้องวงจรปิดกว่า 1,000 ตัว โดยเริ่มตั้งต้นแต่จุดก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ชุดสืบนครบาล ภายใต้การนำของ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.และ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุรีย์ ผบก.สส.บชน.นำไปสู่การจับกุมผู้ก่อเหตุ 9 คน จำนวนนี้เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ 5 หมาย สืบขยายผลพบว่ากลุ่มนี้มีสมาชิกถึง 84 คน เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านี้ แต่หลักฐานที่พบไม่ว่าจะเป็นหัวเข็มขัดและเสื้อพละ เสื้อช็อป มีตราโรงเรียนช่างกล ชื่อดังย่านพระราม 1 แขวนอยู่บริเวณกำแพง ย่านซอยวงศ์สว่าง 19 แหล่งกบดานของคนร้าย หรือการกดไลก์ข้อความของผู้ใช้งาน "พี่ขอแสดงความยินดีกับน้อง ช.ก.90 ที่พาน้อง ช.ก.91 ไปเกิดได้อย่างสมศักดิ์ศรีช่างกลปทุมวัน" สะท้อนให้เห็นว่า เบื้องหลังการก่อเหตุความรุนแรงมีความผิดปกติที่ไม่ธรรมดา

“กลุ่มคนร้ายมีการพัฒนาจนเกินกว่า องค์กรอาชญากรรม เพราะไม่ได้ขี่รถมาก่อเหตุ แต่มีการวางแผนเป็น 10 คน มีรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์คอยเป็นพี่เลี้ยง มีกองทุนจัดหาอุปกรณ์ใช้ก่อเหตุ ประกันตัว และจ้างทนายต่อสู้คดี และเมื่อถูกจับได้ พอถึงชั้นเบิกความจะมีคนมานั่งฟังการไต่สวนของชุดสืบสวน เอาไปพัฒนารูปแบบเพื่อไม่ให้ถูกจับได้อีก" เป็นการตอกย้ำผ่านคำสัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.ธีรเดช

องค์กรท่อน้ำเลี้ยง “คู่อริ” ไม่ใช่เรื่องใหม่

ต้น นักศึกษามหาวิทยาลัยในพื้นที่สามย่าน เล่าว่า รุ่นพี่ร่วมสถาบันจะออกมาเตือนนักศึกษารุ่นน้องให้ระวังกลุ่มสถาบันคู่อริ และขอความร่วมมือไม่ให้สวมเสื้อ หรือใช้หัวเข็มขัดของสถาบัน หากต้องเดินทางมาเรียน ให้แต่งตัวไม่ให้เป็นจุดสังเกต หรือแสดงตนว่าเป็นนักศึกษาที่สถาบันไหน เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของทุกคน

“ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาของสถาบันคู่อริ พวกเราทราบมานานแล้วว่า เขาทำในรูปแบบองค์กรอาชญากรรม ตำรวจกองปราบก็รู้ ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่น่าจะมีข้อมูล แล้วพวกนี้ไม่ได้มีกลุ่มเดียว มีถึง 3-4 กลุ่ม ต้องคอยระวังตัวไม่เข้าไปยุ่ง หรือเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง เขาจะมีซุ้ม และพี่เลี้ยงให้การสนับสนุน ทั้งเรื่องเงิน สนับสนุนการกินอยู่ จัดหาอาวุธเพื่อใช้ในการก่อเหตุ”

ต้น เล่าว่า นักศึกษาที่ก่อเหตุทำร้ายสถาบันคู่อริ มีหลายประเภททั้งที่กำลังเรียนหนังสือ ถูกไล่ออกพ้นสภาพนักศึกษาไปแล้ว กลุ่มที่อยู่ระหว่างการสู้คดีและได้รับการประกันตัว และพวกที่หนีคดี โดยจะมีรุ่นพี่หรือนายทุนที่ให้การสนับสนุน คอยส่งท่อน้ำเลี้ยงให้

“อย่างคนที่พ้นสภาพนักศึกษา เพราะไปก่อเหตุยิงสถาบันอื่น บางครั้งจะมีซุ้มมือในพื้นที่ภาคตะวันออกรับไปดูแล เรื่องพวกนี้มีมานานแล้ว รับรู้กันในหมู่เด็กช่าง ต้องยอมรับว่า ในสถาบันอาชีวศึกษา ส่วนใหญ่มีทั้งคนที่อยากมาเรียนจริง ๆ ตั้งใจเรียน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการตีรันฟันแทง ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการออกค่ายอาสาก็มี แต่คนพวกนี้จะไม่เป็นข่าว”

นายทุนปั้น ”คนก่อคดี”ส่งเข้าซุ้มมือปืน

ในอดีตการเพาะบ่มความเกลียดชัง รุ่นสู่รุ่น ระหว่างสถาบัน หรือที่เรียกว่า “ศึกศักดิ์ศรี” อาจเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนไม่รู้จักกันมาก่อนสามารถท้าตี ท้าต่อย กันได้ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนปี 1 ที่เสียชีวิตมักจะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นเสมอ เด็กเหล่านี้มักเป็นกลุ่มแรก ๆ ให้รักศักดิ์ศรี สถาบัน เพื่อนพ้อง และมักจะถูกฝึกอบรมให้ไปแก้แค้น

ต้น ยอมรับว่า สถาบันของเขาจะมีรุ่นพี่ให้การสนับสนุนด้านการเงินในการพาน้องออกไปทำงานจิตอาสา ออกค่ายในจังหวัดต่าง ๆ เป็นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ แต่ก็มีบางกลุ่มที่ไม่ได้สนใจกิจกรรมเหล่านี้ จับกลุ่มเล็ก ๆ ที่เป็นกลุ่มเฉพาะที่ออกไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับสถาบันอื่น

“กับสถาบันคู่อริ เราก็มีข้อมูลเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังผู้ที่เรียนอยู่ในสถาบัน มีข้อมูลว่า กลุ่มเขามีการรวมกลุ่มกัน พักอาศัยอยู่ที่เดียวกัน พวกนี้จะมีแนวคิดล้างแค้นให้รุ่นพี่ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในกลุ่ม พวกนี้จะมีนายทุน บางคนอาจเป็นรุ่นพี่ที่เรียนจบไปแล้ว ทำงานมั่นคง จะให้การดูแล หากคนไหนมีคดี ก็ส่งถูกส่งตัวเข้าไปที่ซุ้มมือปืน หรือซุ้มใหญ่ ให้การดูแล เรื่องการพัฒนาเป็นองค์กรอาชญากรรม มีจริง”

ต้น ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ก่อเหตุของสถาบันคู่อริส่วนใหญ่จะมีจำนวนหลายคน ทำงานเป็นทีม มีผู้จัดหาอาวุธปืน โดยเฉพาะปืนที่มีราคาแพงให้ เพราะลำพังนักศึกษาจะไม่มีเงินไปหาซื้อปืนแมกกาซีนได้เลย

มีข้อมูลในทางลับว่า นายทุนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังคนกลุ่มนี้ คือ นักธุรกิจใหญ่ ที่มีเครือข่ายและความสัมพันธ์กับอดีตรุ่นพี่ในสถาบันที่จบการศึกษาไปแล้วที่ให้การสนับสนุนและเลี้ยงคนเหล่านี้เพื่อไว้ใช้งาน

และนักธุรกิจนี้อาจจะได้ประโยชน์จากกลุ่มทุนต้องการเร่งรัดให้มีการย้ายสถาบันอุเทนถวาย ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเลทอง ใจกลางย่านธุรกิจออกจากพื้นที่ เพื่อหวังเข้าทำประโยชน์และลงทุนทำธุรกิจ

โดยพยายามให้สังคมมองว่า หากย้ายสถาบันแห่งนี้ออกไปได้แล้ว จะไม่เกิดปัญหานักเรียนตีกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ขณะนี้ตำรวจน่าจะมีข้อมูลแล้วว่า มีใครอยู่เบื้องหลังขบวนการเหล่านี้

ต้น ยังบอกอีกว่า ส่วนทุนสีเทาจากการทำพนันออนไลน์ เชื่อว่าพวกเขาจะรวมกลุ่มกันเพื่อระดมทุน และจัดหาเงินไว้ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ คำว่า อิสระของเขา คือ ทำได้ทุกอย่าง ขณะที่ “สวัสดิภาพ” ในความหมายของเรา คือทำอย่างไรจะให้มีความปลอดภัยมากที่สุด 

นักเรียนอาชีวะตีกันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่เกิดขึ้นแทบทุกจังหวัดที่พบว่ามักจะมีการจับคู่กันอยู่เสมอ มีข้อมูลว่าคดีทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะ เกิดขึ้นประมาณ 1,500-2,000 ครั้งต่อปี สูงกว่าคดีปล้นทรัพย์ 10 เท่า

การจับกุมเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ผู้ที่ควรรับผิดชอบ ไม่ใช่พ่อแม่ของเด็กกลุ่มนี้ฝ่ายเดียว แต่คือคนบงการอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นนายทุนของกลุ่มอาชญากรและอาจเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็ดปีกแก๊งล่าหัวเก็บแต้ม "โจ๋อาชีวะ" ปฎิบัติการว.5 สืบนครบาล 

ตร.จับเพิ่มอีก 1 ต้องสงสัยเกี่ยวข้องคดียิง นศ.อุเทนถวายฯ-ครูเจี๊ยบ 

ตร.ทำแผน 2 ผู้ต้องหายิงนศ.เทคนิคดุสิต-เยียวยาครูเจี๊ยบ 2 แสน 

ตร.ตรวจจุดพ่นเปลี่ยนสีรถจักรยานยนต์ คดียิงครูเจี๊ยบ-นศ.อุเทนถวายฯ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง