วันนี้ ( 22 พ.ย.2566) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศญี่ปุ่น ได้เตรียมความพร้อมในการนำร่องติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรกลุ่มผักและผลไม้สด โดยจะใช้ระบบการติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรอย่างเป็นทางการช่วงเดือนเมษายน 2567 โดยจะขยายสินค้าให้หลากหลายครอบคลุมกลุ่มปศุสัตว์ ทั้ง โคนม โคเนื้อ และสุกร ด้วย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ระบบอาหารยั่งยืน (Strategy for Sustainable Food Systems) หรือ “ยุทธศาสตร์ MIDORI” เป็นหนึ่งในเป้าหมาย การติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรกลุ่มผักและผลไม้สด ครอบคลุมสินค้า 23 รายการ เช่น ข้าว มะเขือเทศ มะเขือเทศเชอร์รี่ แตงกวา มะเขือยาว ผักโขม ต้นหอม หัวหอม ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี ผักกาดหอม หัวไชเท้า แครอท หน่อไม้ฝรั่ง แอปเปิ้ล ส้มแมนดาริน องุ่น ลูกแพร์ญี่ปุ่น ลูกพีช สตรอเบอร์รี่ มันฝรั่ง มันเทศ และชา
ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนก.ย. 2566 พบว่ามีร้านค้าปลีกและร้านอาหารเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ จำนวน 271 แห่ง ซึ่งร้านดังกล่าวจะมีการติดฉลากแสดงสัญลักษณ์เป็นรูปดาว 3 ดวง
เกษตรสีเขียว ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก
หากร้านค้ารายใด สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 5 จะได้ 1 ดาว ลดลงได้ร้อยละ 10 จะได้ 2 ดาว และลดลงได้ร้อยละ 20 หรือมากกว่า จะได้ 3 ดาว นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งรายละเอียดวิธีการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้พลังงานชีวมวล
อ่านข่าว:
หัวอก“รถเกี่ยวข้าว”ยังไม่ปรับราคา วอนแก้จ่ายค่าเหยียบแผ่นดินอีสาน
ฉลากดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคมองเห็นภาพการลดก๊าซเรือนกระจกของสินค้าเกษตรและเป็นการสื่อสารความพยายามของเกษตรกรผู้ผลิตในการลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมแบบเข้าใจง่าย
ผ.อ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าฯ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันญี่ปุ่น คือ ตลาดคู่ค้าที่สำคัญของไทยกำลังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจก และมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเป็นตลาดรองรับสินค้าที่มีฉลากลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ ควรปรับปรุงการเพาะปลูกและกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายพูนพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า อยากแนะนำให้เกษตรกรเริ่มเก็บข้อมูลการเพาะปลูกเพื่อคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อเป็นข้อมูลให้กับตลาดคู่ค้าที่ให้ความสำคัญและต้องการสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งนี้จากข้อมูลการส่งออกปี 2566 พบว่า ช่วง 9 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนม.ค. – ก.ย.ไทยส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่น รวมมูลค่า 18,856.94 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 643,053.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ฉลากก๊าชเรือนกระจกที่ญี่ปุ่นนำร่องในปี2567
โดยสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มีมูลค่ารวม 3,685.79 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นทั้งหมด
สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรส่งออกไปญี่ปุ่นที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด3 อันดับแรก ได้แก่ ไก่แปรรูป มีมูลค่าส่งออก 1,023.78 ล้านเหรียญสหรัฐ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 504.03 ล้านเหรียญสหรัฐ และ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 321.88 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนสินค้าผักสด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มีมูลค่าส่งรวม 70.12 ล้านเหรียญสหรัฐ และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง 17.20 ล้านเหรียญสหรัฐ
อ่านข่าว:
ชาวไร่อ้อยขอ "ภูมิธรรม" อีก 2 บาท เข้ากองทุนแก้ฝุ่น PM 2.5
"Thanksgiving Day" นักลงทุนชะลอซื้อขายทอง จับตารายงานเฟด
เปิดนั่งฟรี "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" ครบ 30 สถานี เริ่ม บ่าย 3 วันนี้