สองมือกราบลง ที่ตรงเหนืออาสน์ แทบบาทย่าโม แต่เล็กจนโต เห็นย่าตระหง่าน จะทุกข์จะจนสักแค่ไหน จะขอทนไปบ่ยั่น จะอยู่อีสานเป็นหลานย่าโม
เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่ง "กราบเท้าย่าโม" ของนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง "สุนารี ราชสีมา" ที่ได้ยินที่ไรก็นึกถึง จ.นครราชสีมา และในเนื้อเพลงกล่าวให้เห็นถึง "อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี" แลนด์มาร์กที่สำคัญของจังหวัดที่หลายคนต้องรู้จักกันดี ใครได้มาโคราช ก็ต้องไปกราบสักการะกันสักครั้งถือเป็นสิริมงคงให้ชีวิต นอกจากนี้ยังมีเพลงพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์ของคนท้องถิ่นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอีกหลายบทเพลง
อ่านข่าว : เปิดจานโปรดแอนโทเนีย "ผัดหมี่โคราช" อาหารเลื่องชื่อเมืองย่าโม
นครราชสีมา จังหวัดหนึ่งในภาคอีสานของไทย มีพื้นที่ 20,493.964 ตารางกิโลเมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 12.12 ของพื้นที่ภาคอีสาน และเป็นจังหวัดที่มีโบราณสถานที่สำคัญและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จึงมักถูกเลือกเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด
แต่ก่อนที่จะพาไปเช็กอินที่แหล่งท่องเที่ยวใน จ.นครราชสีมา จะพาไปทำความรู้จักกับ "เมืองโคราช" ให้มากกว่านี้ก่อน เที่ยวอย่างเดียวอาจไม่สนุกเท่าได้รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้น ๆ ก่อน เรียกได้ว่า ทริปนี้ สนุก คุ้มค่า และน่าจดจำแน่ๆ
อ่านข่าว : ทาสแมวยิ้ม ผุด Soft Power “กางเกงแมว" อัตลักษณ์เมืองโคราช
รู้จัก "นครราชสีมา" ให้มากกว่าเดิม
"นครราชสีมา" เดิมเป็นเมืองโบราณในอาณาจักรไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.สูงเนิน ห่างจากเมืองปัจจุบัน 31 กม. เรียกว่า "เมืองโคราฆะปุระ" หรือ "โคราช" กับ "เมืองเสมา" ซึ่งทั้ง 2 เมือง เคยเจริญรุ่งเรือง ในสมัยขอม แต่ในปัจจุบันเป็นเมืองร้างตั้งอยู่ริมลำตะคอง
พ.ศ.2199 - 2231 สมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นใน พื้นที่ตัวเมืองปัจจุบัน โดยเอาชื่อ "เมืองโคราฆะปุระ"กับ "เมืองเสมา" มาผูกเป็นนามเมืองใหม่เรียกว่า "เมืองนครราชสีมา" แต่คนทั่วไป เรียกว่า "เมืองโคราช"
ต่อมา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นเมืองชั้นเอก ผู้สำเร็จราชการเมืองมียศ เป็นเจ้าพระยา โดย เจ้าพระยานครราชสีมา คนแรกชื่อ "ปิ่น ณ ราชสีมา"
พ.ศ.2369 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ก่อการกบฏ ยกกองทัพ มาตีเมืองนครราชสีมาและกวาดต้อน พลเมือง ไปเป็นเชลย คุณหญิงโม ภรรยาปลัดเมือง นครราชสีมา (พระสุริยเดชวิเศษ ฤทธิ์ทศทิศวิชัย) ผู้รักษาเมืองแสร้งทำกลัวเกรงและประจบเอาใจ ทหารลาว เมื่อถูกกวาดต้อนมาถึงทุ่งสัมฤทธิ์ใน เขต อ.พิมาย ก็หยุดพักกลางทางพอได้โอกาส คุณหญิงโม ก็จัดกองทัพโจมตีกองทัพเวียงจันทน์ แตกพ่ายไป
วีรกรรมในครั้งนี้ รัชกาลที่ 3 จึง โปรดเกล้าฯ สถาปนา คุณหญิงโม ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น "ท้าวสุรนารี"
และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมหัวเมืองในเขตที่ราบสูงให้ นครราชสีมาเป็นที่ว่าการมณฑล ลาวกลาง ในปี พ.ศ. 2434 ( ร.ศ. 110 )
อ่านข่าว : หนาวนี้ ออกไปดริปกาแฟ แตะขอบฟ้าที่ "ห้วยโทน" จ.น่าน

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
เที่ยวโคราช 2566 กราบ "ย่าโม"
เมื่อไปเที่ยวโคราช สถานที่แรกๆ ที่ใครๆ ก็ต้องนึกถึงคือ "อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี" หรือที่เรียกว่า "อนุสาวรีย์ย่าโม" วีรสตรีไทยผู้อยู่ในหัวใจของชาวโคราชทุกคน และถือเป็นอนุสาวรีย์ที่ยกย่องความดีของวีรสตรีสามัญชนคนแรกของประเทศ
"อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี" สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2477 หล่อด้วยทองแดงรมดำสูง 185 เซนติเมตร หนัก 325 กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่บนฐานไพที สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูง 250 เซนติเมตร แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทานในท่ายืนมือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร ภายในบรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี
ทุกปีในวันที่ 23 มี.ค. - 3 เม.ย. จะมีการจัดงานวันฉลองชัยชนะของท้าวสุรนารี ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด โดยจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมงานจำนวนมากในแต่ละปี
เช็กพิกัด : ถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ "ปราสาทหินพิมาย"
อีกแห่งที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยมเช่นกัน คือ "อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย" สถานที่ตั้งของ "ปราสาทหินพิมาย" ศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีอายุราว 1,000 ปี
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ ต.ในเมือง อ.พิมาย ห่างจากตัวจังหวัด ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ราว 2,658 ไร่ ด้านทิศเหนือและตะวันออกจรดแม่น้ำมูล ทิศตะวันตกจรดลำจักราช และทิศใต้ ครอบคลุมสุดเขตบารายด้านทิศใต้
อ่านข่าว : “เที่ยวสะปัน” ในวันที่แปรเปลี่ยน ฤๅ เสน่ห์ชุมชนจะจางหายไป

ภาพจาก : อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
ภาพจาก : อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
แผนผัง "เมืองพิมาย" เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ ทางทิศเหนือและทิศตะวันออก มี "แม่น้ำมูล" ไหลผ่าน ทางทิศใต้มี "ลำน้ำเค็ม" และทิศตะวันตกมีลำน้ำจักราชไหลขึ้นไปบรรจบกับลำน้ำมูล
นอกจากนี้ในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ยังมีโบราณสถานที่สำคัญอื่น ๆ อีก เช่น สะพานนาคราช ที่ปลายราวสะพานทำเป็นรูปนาคราชเป็นรูปนาค 7 เศียร, พลับพลา, ซุ้มประตูและระเบียงคด เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายยกพื้นสูง อยู่ล้อมรอบปราสาทประธาน, หอพราหมณ์ และอื่น ๆ
กรมศิลปากร อธิบายคำว่า "พิมาย" น่าจะเป็นคำเดียวกับคำว่า "วิมายะ" ที่ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาเขมรที่กรอบประตูด้านทิศตะวันออกของระเบียงคดด้านทิศใต้ของ "ปราสาทหินพิมาย" ระบุชื่อ "กมรเตงชคตวิมาย" เชื่อได้ว่า "เมืองพิมาย" มีมาตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรเขมรโบราณ

เช็กพิกัด : ถนนอนันทจินดา ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เปิดให้บริการเข้าชม 07.30 - 17.30 น. ทุกวัน (ไม่มีวันหยุด) มีบริการแผ่นพับ นิทรรศการ ห้องชมวีดิทัศน์ ณ ศูนย์บริการข้อมูล มีมัคคุเทศก์น้อยนำชม (ไทย-อังกฤษ) ทุก ๆ วันอาทิตย์
ขณะที่ ตลอดเดือน ธ.ค. 2566 - ม.ค.2567 เวลา 18.00-20.30 น. กรมศิลปากร จะมีการเปิดไฟให้ชมปราสาทพิมายยามค่ำคืน ทุกคืนวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
นอกจากนี้ ยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนเมืองโคราชได้ท่องเที่ยวและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เช่นปราสาทหินพนมวัน ตั้งอยู่ที่บ้านมะค่า ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง เป็นโบราณสถานสมัยขอม สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 17

ประสาทเนินกู่ - ภาพ : ประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมา
ประสาทเนินกู่ - ภาพ : ประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมา
ปราสาทโนนกู่ ตั้งอยู่ ต.โคราช อ.สูงเนิน เป็นปราสาทขอมที่ตั้งอยู่ในเมืองโคราฆปุระ ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่ได้รับอิทธิพลของขอม โบราณที่แผ่อิทธิพลเข้ามาถึงบริเวณนี้ สภาพปัจจุบันเหลือเพียงซากฐานอาคาร
อ่านข่าว : นักท่องเที่ยวแห่ชม "สุริยาอัสดง" ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา
"วัดศาลาลอย" วัดเก่าแก่คู่เมืองโคราช
อีกหนึ่งสถานที่ ที่มีความสำคัญของเมืองโคราช คือ "วัดศาลาลอย" วัดเก่าแก่เมืองโคราช ที่ท้าวสุรนารีสร้างขึ้น กับ พระยาสุริยเดช ปลัดเมืองนครราชสีมา ผู้เป็นสามี หลังจากรบชนะกองทัพของเจ้าอนุวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2370 หลังจากเสร็จศึกสงครามที่ทุ่งสัมฤทธิ์
ขณะยกทัพกลับเมืองนครราชสีมา คุณหญิงโมได้แวะพักบริเวณท่าตะโก และได้สั่งให้ทหารทำแพเป็นรูปศาลาเสี่ยงทายลอยไปตามลำตะคอง พร้อมตั้งจิตอธิษฐาน หากแพรูปศาลานี้ ลอยไปติดอยู่ ณ ที่แห่งใด จะสร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ ซึ่งแพได้ลอยไปติดอยู่ริมฝั่งขวาของลำตะคอง ซึ่งเป็นวัดร้าง จึงได้สร้างพระอุโบสถขึ้น เป็นวัดศาลาลอยในปัจจุบัน

วัดศาลาลอย ภาพจาก : เว็บไซต์จังหวัดนครราชสีมา
วัดศาลาลอย ภาพจาก : เว็บไซต์จังหวัดนครราชสีมา
ท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือน เม.ย.2395 (เดือน 5 ปีชวด จัตวาศก จศ. 1214) สิริรวมอายุได้ 81 ปี เมื่อท้าวสุรนารีถึงแก่กรรม ได้ก่อเจดีย์ (สถูป) บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีไว้ ณ ตรงข้ามหน้าโบสถ์หลังเก่า ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวยังคงมีอยู่ ณ ปัจจุบัน
หากใครมีโอกาสไปเที่ยวเมืองโคราชต้องแวะไม่เพียงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ 3 แห่งเท่านั้น แต่ยังมีสถานที่อื่นๆ อีกมากมาย เช่น วันหลวงพ่อโต หรือ วัดสรพงษ์ ที่ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ อ.สีคิ้ว ผู้ที่ก่อสร้างวัด คือ พระเอกตลอดกาล สรพงศ์ ชาตรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ในปี พ.ศ. 2551

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
"เขาใหญ่" จุดเช็กอิน เมืองโคราช
จ.นครราชสีมา นอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติอีกหลายแห่ง ที่รู้จักกันดีคือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 200 กิโลเมตร หากเดินทางด้วยรถยนต์ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ และอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย สระบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี และนครนายก

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ภายในอุทยานฯ มีกิจกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เช่น ดูนก เดินป่าศึกษาเส้นทางธรรมชาติ หรือส่องสัตว์ยามค่ำคืน หากช่วงฤดูหนาว ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ยังเป็นสถานที่ดูดาวที่ได้รับความนิยมแห่งหนึ่ง
สถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำตกผากล้วยไม้ น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกเหวนรก จุดชมวิวผาเดียวดาย หรือจะนั่งเล่นรับลมเย็นๆ ที่อ่างเก็บน้ำสายศร

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อุทยานฯ จะมีบ้านพักไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว หรือถ้าใครสายแคมป์ปิ้งก็สามารถเลือกกางเต็นท์ท่ามกลางธรรมชาติได้
นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวพื้นที่อื่นๆ ของ จ.นครราชสีมา เช่น จุดชมวิว กังหันลม เขายายเที่ยง ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว ตั้งอยู่บนยอดเขาในพื้นที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
วิหารเทพวิทยาคม หรือ วิหารปริสุทธปัญญา ตั้งอยู่ที่วัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด ซึ่งสร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ของ หลวงพ่อคูณ พระเกจิชื่อดัง ผู้เป็นที่ศรัทธาของคนไทยทั้งประเทศ เป็นต้น

แอนโทเนีย โพซิ้ว รองชนะเลิศอันดับ 1 เวที Miss Universe 2023
แอนโทเนีย โพซิ้ว รองชนะเลิศอันดับ 1 เวที Miss Universe 2023
ลูกหลานเมืองย่าโม
เมืองโคราช นอกจากนี้ประวัติศาสตร์อันยาวนาน ยังเป็นถิ่นกำเนิดของทหารม้าคนสำคัญที่มีบทบาททางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และ แอนโทเนีย โพซิ้ว นางงามลูกครึ่งไทย - เดนมาร์ก รองชนะเลิศอันดับ 1 เวที Miss Universe 2023 ที่มีเชื้อสายชาวโคราช ด้วยเช่นกัน
อ่านข่าวอื่น ๆ :
โฮมสเตย์ “สกาด” เข้มแข็ง พร้อมรับนักท่องเที่ยวหนาวนี้ ดื่มด่ำวิวเขาและสายหมอก
"ภูชี้ฟ้า" 2566 เริ่มคึกคัก นทท.แห่ชมทะเลหมอก สัมผัสอากาศหนาว