วันนี้ (20 พ.ย.2566) นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ วันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือน พ.ย. ของทุกปี เป็นวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน หรือวันเหยื่อโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 19 พ.ย. 2566
เพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนและลดปัญหาอุบัติเหตุลง จึงเห็นว่าควรมีการพัฒนาขนส่งมวลชนสาธารณะให้ทุกคนเข้าถึงอย่างปลอดภัย หรือ สร้างทางเลือกในการเดินทางของผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยมีแนวโน้มความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
จากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนในปี 2565 มีผู้เสียชีวิต 17,379 คน หรือคิดเป็น 26.65 ต่อแสนประชากร หรือ 47 คน/วัน โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่สูงถึงร้อยละ 74 ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะ ปัญหาทางกายภาพของการก่อสร้างถนน ความไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และ ปัญหาอื่นๆ
สาเหตุหลักของปัญหาคือ เมาแล้วขับและขับเกินความเร็วที่กฎหมายกำหนดซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและคนวัยทำงาน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคลากรทางสังคมและความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อประเทศชาติมหาศาล
นายคงศักดิ์ กล่าวว่า หากมองปัญหาภาพใหญ่ของประเทศ การไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสม ให้บริการเพียงพอในทุกพื้นที่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ประชาชนต้องเลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และ รถจักรยานยนต์ เพื่อการเดินทางแทน ขณะเดียวกันเมื่อระบบขนส่งสาธารณะของไทย ยังกระจุกตัวแค่ในกรุงเทพมหานคร และไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงไปในส่วนภูมิภาค ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ส่งผลให้บริการ รถโดยสารสาธารณะมีแนวโน้มลดจำนวนลง
นายคงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐยังไม่มีมาตรการในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะ ทำให้การคมนาคมขั้นพื้นฐาน เช่น ระบบรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ และ รถเมล์โดยสาร กลายเป็นบริการทางเลือก เป็นพาหนะสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งสิทธิของผู้บริโภคต้องได้ใช้การบริการขนส่งมวลชนสาธารณะ สามารถเข้าถึงจุดบริการ รถสาธารณะไม่เกิน 0.5 กิโลเมตร หรือ ไม่เกิน 15 นาที และควรมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่เกินร้อลยะ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ ควรต้องรอไม่เกิน 15 นาที ในชั่วโมงเร่งด่วน หรือไม่เกิน 30 นาทีในชั่วโมงปกติ
ปัจจุบันกระแสการเรียกร้องของผู้บริโภค ที่ต้องการมีระบบขนส่งสาธารณะในแต่ละเมืองเริ่มมีมากขึ้น เพราะทุกคนต้องการมีขนส่งสาธารณะที่ตอบโจทย์การใช้งานของแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ควรมีแค่ในเมืองใหญ่ที่เดียวอย่างกรุงเทพมหานคร แต่ควรต้องมีให้บริการในทุกเมืองทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ปัจจุบันทุกบ้านจะมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ให้ใช้อยู่แล้ว แต่ภาครัฐควรกำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้คนทุกคนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ในทุกพื้นที่จากความต้องการออกแบบของคนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิตกับคนทุกคน เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อด้านคมนาคมขนส่งที่ทุกคนขึ้นได้ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ และลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืนแท้จริง
อ่านข่าวอื่น :
เช็ก 30 สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ก่อนเปิดทดลองนั่งฟรี 21 พ.ย.นี้