วันนี้ (18 พ.ย.2566) ทีมสัตวแพทย์อัปเดตอาการ "พลายเดือน" ลูกช้างป่าทับลานพลัดหลงโขลงและมีอาการบาดเจ็บที่ขาหลังข้างขวา ต่อมาตรวจพบว่ากระดูกหักและทีมสัตวแพทย์จากหลายหน่วยงานได้ร่วมกันรักษาด้วยวิธีใส่เฝือกขาหลัง 2 ข้างไปก่อนหน้านี้
อ่านข่าว : ระดมหมอรักษา "ลูกช้างป่าทับลาน" เข้าเฝือกขาหลัง กินนมได้-ไม่ซึม

ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตวป่าและพันธุ์พืช
ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตวป่าและพันธุ์พืช
ล่าสุด อาการลูกช้างป่ามีความอยากกินนมปกติ แต่เนื่องจากการขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ ลูกช้างป่าถ่ายเหลวเป็นน้ำสีเหลืองออกเขียว จึงต้องงดนม ให้น้ำเกลือผ่านเส้นเลือดและให้เกลือแร่แบบกินเบื้องต้นก่อน ปัสสาวะปกติ ซึ่งสัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตวป่าและพันธุ์พืช
ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตวป่าและพันธุ์พืช
ส่วนกิจวัตรประจำวันในการดูแลลูกช้างป่า มีการพาเดินเล่นช้าๆ และอยู่บนอุปกรณ์ช่วยพยุงตลอดเวลา โดยยก 2 ขาหลังที่เข้าเฝือกเหนือพื้นเล็กน้อย ขาหน้าไม่มีการดึงรั้งสามารถลงน้ำหนักได้เต็ม 2 ฝ่าเท้า ทำความสะอาดลดความชื้นของเฝือก เปลี่ยนถุงหุ้มเฝือกเพื่อลดการปนเปื้อนสิ่งสกปรก เช็กระดับรอกให้เหมาะสมทุกครั้งในการยืน

ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตวป่าและพันธุ์พืช
ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตวป่าและพันธุ์พืช
นอกจากนี้ ทีมสัตวแพทย์ให้ยาฉีดลดปวดลดอักเสบ แคลเซียมสำหรับกินและผงโปรไบโอติก ใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetotherapy Vet) เพื่อลดปวด ลดอักเสบ ควบคู่กับการรักษาทางยา โดยจะใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าตามโปรแกรมการรักษา ทั้งนี้สัตวแพทย์ยังต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดและประเมินอาการวันต่อวัน
อ่านข่าวอื่นๆ
อัปเดต 1 สัปดาห์ "กันยา" อยู่ฟาร์มเชียงใหม่ แข็งแรง-กินนมแม่บ่อย