ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เมื่อก่อนเคยเท่ ตอนนี้โดนเท จากใจคนเคยเลี้ยง "อิกัวนา"

สิ่งแวดล้อม
16 พ.ย. 66
11:24
4,700
Logo Thai PBS
เมื่อก่อนเคยเท่ ตอนนี้โดนเท จากใจคนเคยเลี้ยง "อิกัวนา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คนทั่วไปหากเดินเล่นก็คงจูงหมาจูงแมว แต่ถ้าใครสักคนอุ้ม "อิกัวนา" พาดบ่าเมื่อ 20 ปีก่อน คนๆ นั้นจะได้รับความสนใจขึ้นมาทันที เพราะ "อิกัวนา" ในช่วงเวลานั้นคือสัตว์หน้าตาแปลกประหลาดที่คนไทยไม่ได้เห็นกันได้ง่ายๆ และมีราคาแพง มองไปมองมาก็เหมือนสัตว์สร้างบารมี

ไทยพีบีเอสออนไลน์พูดคุยกับ เป้ หรือ นายนพเก้า ดวงฤดีสวัสดิ์ อดีตเจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยงอิกัวนาขนาดใหญ่ที่ลุยตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์มานานหลายปี แม้ในปัจจุบัน "เป้" จะเปลี่ยนอาชีพไปแล้ว แต่เมื่อพูดคุยถึง "กะปอมยักษ์" เป้ก็เล่าถึงที่มาที่ไปได้ และข้อเท็จจริงหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ

หน้าตาโหด แต่นิสัยอยู่ในโหมดเรียบร้อย

หลายคนที่เห็น อิกัวนา ที่นำมาแสดงโชว์ตามงานต่างๆ มักจะทำได้แค่ยืนมองนิ่งๆ แล้วพึมพรำเบาๆว่า "น่ากลัว" "เลี้ยงไปได้ยังไง" เพราะหน้าตาอิกัวนา ดูไม่ค่อยจะเป็นมิตรสักเท่าไหร่ บวกกับภาพจำที่หลายคนมักเข้าใจว่า อิกัวนาก็น่าจะเป็นสัตว์ชนิดเดียวกับตัวเงินตัวทอง 

เป้และอิกัวนาของเขา เฟซบุ๊ก : เป้ นพเก้า ดวงฤดีสวัสดิ์

เป้และอิกัวนาของเขา เฟซบุ๊ก : เป้ นพเก้า ดวงฤดีสวัสดิ์

เป้และอิกัวนาของเขา เฟซบุ๊ก : เป้ นพเก้า ดวงฤดีสวัสดิ์

แต่ เป้ บอกว่า อิกัวนาถ้านำไปเทียบกับหนูหรือแมลงสาบ ยังมีความดุร้ายหรือน่ากลัว "น้อยกว่า" ด้วยซ้ำ นิสัยของอิกัวนาจะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมง่าย รักความสงบ แต่ถ้าถูกรุกราน เช่น อุ้มไม่ถูกท่า จับหางหรือคอ อิกัวนาก็จะแสดงความดุร้ายออกมาได้ แต่นั่นคือการปกป้องตัวมันเองจากสิ่งรอบข้าง 

ปัจจุบัน อิกัวนา ที่พบได้อย่างแพร่หลายในไทยคือ กรีนอิกัวนา หรือ อิกัวนาพันธุ์เขียว โดยปกติถ้าเพาะเลี้ยงตามฟาร์มมาตั้งแต่แรก ก็จะเลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย แต่ในปัจจุบันพบว่า มีอิกัวนาที่อาศัยในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เหล่านี้หากจับมาเลี้ยงจะเชื่องยาก จะไม่ชอบถูกขังในกรงและเกิดอาการเครียด ไม่ยอมกินอาหารจนตายในที่สุด 

อ่าน : รู้จัก "อิกัวนาเขียว" เอเลียนสปีชีส์ เบอร์ต้น

อิกัวนาถูกทิ้งเพราะซาลโมเนลลา 

เมื่อ 5-6 ปีก่อน หรือทุกวันนี้ ก็ยังมีคนติดต่อผมว่าเก็บอิกัวนาได้ ให้ทำยังไง หรือจะเอามาขายให้ผมอยู่เลย

เป้ เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์การแพร่กระจายประชากรอิกัวนาในปัจจุบันให้ทีมข่าวฟัง เขาบอกว่าจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อสิบกว่าปีก่อน มีข่าวว่า อิกัวนามีแบคทีเรียที่ชื่อ "ซาลโมเนลลา" อยู่ในตัว ซึ่งซาลโมเนลลาเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง ได้ 

คนเลยกลัว จึงนำไปปล่อยสู่ป่า

อ่าน : กองทัพ "อิกัวนา" บุกลพบุรี เก็บขี้หาเชื้อโรค-ใครปล่อยโทษ 6 เดือน

ประกอบกับคนเลี้ยงหลายคนไม่มีความรู้ที่มากพอ ทำกรงไม่ได้มาตรฐาน ลูกอิกัวนาที่ฟักตัวออกมาก็หลุดรอดออกไปได้ ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้จำนวนประชากรอิกัวนาในป่าเพิ่มขึ้น 

เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งมี แต่มีมานานและมีทั่วไทยแล้ว ลองไปดูที่ จ.ตาก ก็ได้
คุณจะได้เจออิกัวนานอนอาบแดดอยู่กลางถนน   

เมื่อก่อนตัวละหมื่น วันนี้แทบไม่มีราคา

เป้ เล่าอีกว่าสมัยก่อนที่เพาะเลี้ยงอิกัวนาขาย เขาขายตั้งแต่ราคาหลักพันจนถึงหลักหมื่น แต่เมื่อเริ่มแพร่หลาย เพราะเลี้ยงง่าย ราคาก็เริ่มตกลง ยกตัวอย่างถ้าวันนี้จะต้องรับซื้อลูกอิกัวนาสักตัว ก็คงให้ในราคาไม่เกินตัวละ 5-10 บาทเท่านั้น 

ลูกอิกัวนา เฟซบุ๊ก : เป้ นพเก้า ดวงฤดีสวัสดิ์

ลูกอิกัวนา เฟซบุ๊ก : เป้ นพเก้า ดวงฤดีสวัสดิ์

ลูกอิกัวนา เฟซบุ๊ก : เป้ นพเก้า ดวงฤดีสวัสดิ์

อิกัวนาตัวเมียออกลูกเป็นไข่ครั้งละ 50-80 ฟอง แค่นี้ก็ได้ผลผลิตมากจนไม่ต้องซื้อใหม่แล้ว 

วงจรการสืบพันธุ์ของอิกัวนา จะผสมพันธุ์ปีละ 1 ครั้งในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. จากนั้นตัวเมียจะใช้เวลาตั้งท้องนานราว 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) เมื่อออกไข่ต้องฟักไข่อีก 90 วัน นั่นหมายถึงประชากรอิกัวนาจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย. เป็นต้นไป

ไข่อิกัวนา เฟซบุ๊ก : เป้ นพเก้า ดวงฤดีสวัสดิ์

ไข่อิกัวนา เฟซบุ๊ก : เป้ นพเก้า ดวงฤดีสวัสดิ์

ไข่อิกัวนา เฟซบุ๊ก : เป้ นพเก้า ดวงฤดีสวัสดิ์

อ่าน : สมาคมผู้นิยมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ คาดอีกัวนา "หลุด" สู่ธรรมชาติ ไม่ใช่การปล่อย

อิกัวนาถ้าเลี้ยงในกรงจะมีอายุประมาณ 10-15 ปี แต่อิกัวนาป่าจะอยู่ได้นานถึง 15-20 ปี สำหรับการประกาศจับอิกัวนาทั่วประเทศ ที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น เป้ให้คำแนะนำว่า ถ้าใครที่อยากจับอิกัวนา เพียงแค่นำตัวเมียมาใส่กรง รอไม่นานจะเจอ อิกัวนาตัวผู้มาวนเวียนใกล้ๆ เพราะช่วงผสมพันธุ์ เพศผู้จะตามกลิ่นฟีโรโมนของตัวเมียจนเจอ 

แต่ถ้าจะต้องทำลายทิ้ง มุมมองของเป้บอกว่า อิกัวนาสามารถนำไปทำอาหารได้ แต่ต้องย้ำว่า "ต้องทำให้สุกเท่านั้น" ส่วนที่กินได้คือช่วงโคนหางและต้นขาหลัง 

อ่าน : อุทยานฯ ประกาศจับ "อิกัวนา" ก่อนนิเวศพัง พบ 3 พิกัดปชก.พรึ่บ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง