ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชะตากรรม 162 คนไทยในภาวะสงคราม "เมืองเล่าก์ก่าย"

ต่างประเทศ
15 พ.ย. 66
11:36
3,393
Logo Thai PBS
ชะตากรรม 162 คนไทยในภาวะสงคราม "เมืองเล่าก์ก่าย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.) รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พร้อมด้วยกงสุลไทย กรุงย่างกุ้ง และผู้เกี่ยวข้อง เข้าพบนายหม่อง หม่อง ทาน รมต.กิจการสังคมและตรวจคนเข้าเมือง ย่างกุ้ง เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการช่วยเหลือ 162 คนไทยที่อยู่ที่เมืองเล่าก์ก่าย แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่สามารถนำตัวคนไทยทั้งหมดกลับมาได้

รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ใน Suthichai live เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2566 ที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันคนไทยทั้งหมดถูกจับอยู่ที่เมืองเล่าก์ก่าย เขตการปกครองของกองกำลังติดอาวุธโกกั้ง ติดกับชายแดนจีน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีสถานประกอบการ สถานบันเทิง และโรงแรมที่ดึงดูดให้แรงงานไทยหลั่งไหลเข้าไปทำงาน ไม่ว่าจะสมัครใจหรือถูกชักจูงโดยนายหน้าหรือโบรกเกอร์ และเมื่อเกิดความขัดแย้งในบริเวณดังกล่าวก็ทำให้คนไทยติดอยู่ในพื้นที่นั้น

"หากดูตามสถานการณ์ คนไทยที่อยู่พื้นที่ดังกล่าวกำลังอยู่ภายใต้ภาวะสงคราม และอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าช่วยเหลือ แต่ทหารเมียนมาก็สูญเสียจำนวนมากเช่นเดียวกัน เมื่อเทียบกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส พบว่าไม่ว่าฝ่ายใดที่จับชาวต่างชาติเป็นตัวประกันมักจะได้เปรียบในการต่อรอง ส่วนการจับไปเป็นโล่มนุษย์หรือไม่ยังไม่สามารถสรุปจากสถานการณ์ตอนนี้ได้" 

และอธิบายว่า พื้นที่รัฐฉานภาคเหนือมีกลุ่มกองกำลังที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มพันธมิตรภารดรภาคฝ่ายเหนือ ประกอบไปด้วย กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA), กองทัพบกสหรัฐ (AAR) และ กองกำลังโกกั้ง (MNDAA) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนั้นจะเข้าไปร่วมกับพันธมิตรฝ่ายเหนืออีก 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  1. กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) เป็นตัวแสดงที่สำคัญ
  2. กองกำลังเมืองลา
  3. กองทัพรัฐฉานฝ่ายเหนือ
  4. กองกำลังคะฉิ่น ทั้งนี้ยังมีกลุ่มกองกำลังเล็ก ๆ อีก 7-8 กลุ่ม แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อชายแดนด้านจีนและเมียนมา

ส่วนด่านการค้า หมู่เจ้-รุ่ยลี่ ชายแดนจีน-เมียนมา ที่เกิดความขัดแย้งในปัจจุบัน รศ.ดร.ดุลยภาค บอกว่า บริเวณดังกล่าวเป็นศูนย์กลางของจีนที่สามารถขยายอำนาจได้ใน 3 ภูมิภาคของเอเชีย คือ เอเชียใต้, เอเชียตะวันออก และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้อยู่ในจุดขยายอำนาจของจีนก่อนที่ สี จิ้นผิง จะประกาศโครงการ One Belt One Road

นอกจากนี้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีการแย่งชิงถนนสายพม่า หรือเบอร์มาโรด ระหว่างฝ่ายกองทัพญี่ปุ่นกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งกองทัพจีนก็เข้าร่วมรบในครั้งนั้น ดังนั้น สถานการณ์ปัจจุบันที่กองกำลังโกกั้งและพันธมิตรแนวร่วมยึดพื้นที่ในรัฐฉานภาคเหนือล้อมล่าเสี้ยว และปิดหนทางจากมัณฑะเลย์ที่เชื่อมไปสู่ชายแดนจีน สิ่งนี้เองซ้ำรอยกับเบอร์มาโรด และถนนสายพม่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้ครองครองถนนสายนี้จะถือว่าได้เปรียบในการคุมภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชีย

รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวอีกว่า ขณะนี้กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ โดยเฉพาะโกกั้งควบคุมแนวเบอร์มาโรด จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าทางจีนมีความสัมพันธ์กับทั้งกองทัพพม่าและกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ จีนจะเลือกเข้าร่วมกับฝ่ายใด

ส่วนผลประโยชน์ชายแดนจีน-พม่า ยังดูยากว่าจีนจะเข้ากับฝ่ายใด อย่างไรก็ตามหากพูดถึงจีนต้องนึกถึง "โครงการหนึ่งแถบและเส้นทาง" ที่จะต้องมีเสถียรภาพในดินแดนของพม่า ซึ่งก็อยู่ที่ว่าถ้ากองทัพพม่าให้ความมั่นใจกับจีนได้มากน้อยเพียงใด โดยจะยอมให้จีนเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือพลังงานหรือไม่

จีนอาจเข้าร่วมกับกองทัพทหารเมียนมา แต่ถ้าเจรจากันไม่สำเร็จจีนก็พร้อมที่จะหนุนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ เพราะต้องอย่าลืมว่าผู้ที่หนุนเรื่องอาวุธกับฝ่ายที่เข้าร่วมกับกองทัพพม่าคือ จีน 

รศ.ดร.ดุลยภาค ยังกล่าวถึงบทบาทของกลุ่มจีนเทาว่า ส่วนใหญ่คนพวกนี้จะอพยพมาอยู่ในเขตรัฐฉาน เข้าไปในเขตกองกำลังไทยใหญ่ฝ่ายเหนือ หรือ โกกั้ง และกองกำลังเหล่านี้ก็ให้ที่พักพิงกับกลุ่มจีนเทา อาจมีการแลกเปลี่ยนเป็นการจ่ายเงินเพื่อแลกกับการคุ้มครองความปลอดภัย

แม้ฝ่ายรัฐบาลจีนอาจไม่พอใจฝั่งกองทัพ เนื่องจากจีนเคยให้การสนับสนุนกองทัพบางกลุ่ม แต่กลับไปให้ความช่วยเหลือกลุ่มจีนเทาที่จีนต้องการกวาดล้าง ซึ่งทางออกสำคัญที่น่าจะช่วยลดความรุนแรง และทำให้ชาวเมียนมาทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น คือ เรื่องระเบียงมนุษยธรรม ซึ่งทหารเมียนมากลัวมาก และการเข้าไปดำเนินการเรื่องผ่านทหารเมียนมานั้นน่าจะทำได้

รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวอีกว่า สำหรับกองทัพเมียนมามีปราการเหล็กอยู่ที่เนปิดอว์ ซึ่งโครงข่ายยุทธศาสตร์และกำลังพล รวมถึงเครื่องบินรบที่ได้จากรัสเซียที่เข้ามาถล่มกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ แต่ข้อเสียเปรียบคือขณะนี้กำลังพลเริ่มลดน้อยลง เพราะมีผู้ที่เสียชีวิตจากการสู้รบ และมีการวางกองกำลังที่ผิดไป เช่น เทกำลังพลไปที่จุดใดจุดหนึ่ง ทำให้อีกฝั่งหนึ่งนั้นไม่มีผู้รักษาการ ทำให้กองกำลังโกกั้งและพันธมิตรเห็นช่องว่างจึงเข้ายึดแนวภาคเหนือได้

"ปัจจุบันสถานการณ์ทหารเมียนมาเรียกได้ว่าหลังชนฝา ซึ่งทหารเมียนมาให้ความ สำคัญกับศักดิ์ศรีในการรบมาก และเมื่อเสียเปรียบ ก็ต้องเอาคืน และถ้าหากสถานการณ์ในเมียนมาจนมุมมากกว่าเดิม อาจมีการติดต่อกับรัสเซีย หรือเกาหลีเหนือมากขึ้น เพื่อพัฒนาแนวการรบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"

ส่วนผลกระทบกับที่จะเกิดกับไทยนั้น ร.ศ.ดร.ดุลยภาค บอกว่า ที่ผ่านมาการต่อสู้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทหารเมียนมาใช้กองกำลังภาคพื้นดินขนาดใหญ่เข้าถล่มฐานที่มั่นของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defence Force: PDF) แนวร่วมของกะเหรี่ยง (KNU) และทหารกะเหรี่ยงคะยา (KNPP) พื้นที่ชายแดนของไทยที่ได้รับผลกระทบคือ ตาก และพื้นด้านภาคเหนือของไทย เชียงใหม่ เชียงราย และ แม่ฮ่องสอน สถานการณ์จะค่อนข้างแตกต่าง เพราะทั้ง 3 จังหวัด จะอยู่ติดกับสามเหลี่ยมทองคำ และรัฐฉานภาคใต้จะมีกองกำลังที่สำคัญ ได้แก่ สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) และกลุ่มว้าใต้

"เมียนมาในสายตาจีน-ไทย จีน มองว่ารัฐฉานภาคเหนือ ภาคกลาง เช่น โกกั้ง และ ว้า-เมืองลา เคยเป็นเขตอิทธิพลของจีนมาก่อน และจีนสามารถสั่งการได้ ส่วนประเทศไทยไม่ได้มองเช่นนั้น เราอาจมีความสัมพันธ์กับสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ตามชายแดนของรัฐฉานภาคใต้ แต่ไม่ได้แผ่ขึ้นไปมาก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง