ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ภาณุรัตน์ หลักบุญ" คุมทัพ ป.ป.ส. "รบ" ยาเสพติดรอบด้าน

อาชญากรรม
13 พ.ย. 66
15:47
685
Logo Thai PBS
"ภาณุรัตน์ หลักบุญ" คุมทัพ ป.ป.ส. "รบ" ยาเสพติดรอบด้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

รุก รบ เดินเร็ว สโลแกนประจำตัว "บิ๊กหลวง" พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ข้ามห้วยจากตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. สไลด์มาเป็นข้าราชการพลเรือน ผ่านงานหลากหลาย จากตำรวจป่าไม้ดูแลในภาคเหนือ มากองปราบปราม และ ทางหลวง เป็น ผบก.สายตรวจ และปฏิบัติการพิเศษ

"ผมไม่ได้มาเล่นๆ ฝ่าด่านเข้ามาตรงนี้ ก็ต้องแสดงวิสัยทัศน์ และการทำงานของ ป.ป.ส. เราต้องจับมือกับภาคีเครือข่าย ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหารให้เดินไปพร้อมๆ กัน ผมเชื่อว่า ปัญหายาเสพติดสามารถแก้ไขได้" พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หรือ "บิ๊กหลวง" ย้ำ

ผู้เสพ 20 ปี เพิ่มขึ้น 900 เปอร์เซ็นต์

แม้ในช่วงที่รับราชการตำรวจ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ จะไม่ได้มีหน้าที่ปราบปราบโดยตรง แต่เกาะติดสถานการณ์ปัญหามาตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบันและพบว่า ห้วงเวลาดังกล่าว มีผู้เสพยาถูกจับกุมประมาณ 140,000 คน

และจากปี 2565 ต่อเนื่องปี 2566 มีผู้ต้องหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดกว่า 240,000 คน ตัวเลขแสดงเห็นว่า มีผู้เสพเพิ่มมากขึ้น และหากยังมองว่าผู้เสพคืออาชญากร แสดงว่าการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2546 การปราบปรามไม่ประสบความสำเร็จ

ตัวเลขผู้เสพเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปี 2566 พบผู้เสพสารเสพติดสูงถึง 500,000 ราย มีตัวเลขผู้เสพที่อยู่ในระบบของสาธารณสุขและตำรวจกว่า 1,500,000 คน เพิ่มขึ้นกว่า 900 เปอร์เซ็นต์

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หรือ "บิ๊กหลวง" ตั้งข้อสังเกตว่า การมองผู้เสพคืออาชญากรเท่ากับรัฐยังแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด แต่ควรมองว่าผู้เสพคือ ผู้ป่วย ซึ่งต้องนำสู่กระบวนการบำบัดรักษาดูแล ไม่ว่าจะครอบครองยาเสพติดกี่เม็ด และการนำผู้เสพเข้าสู่ระบบบำบัดมีวิธีการบำบัดที่ถูกต้อง แม้จะไม่ถูกดำเนินคดีก็ตาม

ข้อมูลของ ป.ป.ส. พบว่าปัจจุบันตัวเลขผู้เสพมีจำนวน 530,000 คน จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติดจำนวน 32,000 คน จึงต้องจะนำคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบสาธารณสุข รักษาให้หาย และให้มีแพทย์คอยประเมินอาการว่า จะสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้หรือไม่

โดยต้องผ่านตัวชี้วัดของโครงการ 3 ข้อ คือ ผู้คลุ้มคลั่งจากยาเสพติดลดน้อยลง มีผู้ค้ายาเสพติดในชุมชนน้อยลง และความพึงพอใจของประชาชนมีมากขึ้น

การมองผู้เสพเป็นเหยื่อ หรือผู้ป่วย ตรงกับหลักสากลทั่วไป และประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เมียนมา จีน ลาว ก็มองลักษณะนี้ ยกเว้นกัมพูชา และเวียดนามที่ยังไม่ชัดเจน

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หรือ "บิ๊กหลวง" บอกว่า ปัญหายาเสพติดแก้ไขเพียงมิติเดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้หลายๆ มิติ และการมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย คือ การลดจำนวนผู้เสพ เพื่อไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอีก เพราะหากไม่มีผู้เสพยา แม้จะมียาเสพติดเข้ามาก็ไม่มีคนซื้อ

3 จังหวัดเหนือ-อีสาน พื้นที่คุมเข้มเร่งด่วน

ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถจัดการผู้เสพได้ฝ่ายเดียว จึงต้องแก้ปัญหาผู้จำหน่ายที่อยู่ฝั่งประเทศเพื่อนด้วย ด้วยเหตุนี้ "บิ๊กหลวง" พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ จึงเสนอกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5 (10) ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ประกาศเขตควบคุมและสกัดกั้นยาเสพติดไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ ทางภาคเหนือ 2 จังหวัด เชียงรายและเชียงใหม่

เชียงราย มี 6 อำเภอ คือ อำเภอแม่จัน, แม่ฟ้าหลวง ,แม่สาย, เชียงแสน, เชียงของ และ เวียงแก่น

และเชียงใหม่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอแม่อาย, ฝาง, เชียงดาว, เวียงแหง, ไชยปราการ รวม 11 อำเภอ โดยพื้นที่ภาคเหนือ ป.ป.ส. มอบหมายให้แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็นผู้สั่งการ

สัดส่วนการลักลอบนำเข้ายาบ้าในระดับ 1 ล้านเม็ดขึ้นไป

สัดส่วนการลักลอบนำเข้ายาบ้าในระดับ 1 ล้านเม็ดขึ้นไป

สัดส่วนการลักลอบนำเข้ายาบ้าในระดับ 1 ล้านเม็ดขึ้นไป

ส่วนภาคอีสานตอนบน จ.นครพนม ในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอท่าอุเทน, เมืองนครพนม, ธาตุพนม และ บ้านแพง โดยพื้นที่ทางภาคอีสานมอบหมายให้แม่ทัพน้อยที่ 2 และองคาพยพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องขึ้นตรงกับแม่ทัพน้อยดูแลและสั่งการ เป้าหมายเพื่อลดผู้นำยาเสพติดเข้ามาจำหน่ายในไทย โดยโครงการดังกล่าวจะต้องเริ่มให้เห็นผลภายใน 1 ปี หลังเริ่ม kick off วันที่ 1 ธ.ค.2566 นี้

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หรือ "บิ๊กหลวง" กล่าวว่า หลังโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ป.ป.ส. จะทำโครงการ CBTx หรือ Community Based Treatment การบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ในพื้นที่ 1,483 ตำบลพร้อมกันทั่วประเทศ คาดจะเริ่มได้ต้นเดือน ก.พ.2567

"แม่โขงปลอดภัย" สกัดนำเข้า-แลกผู้ค้าหนีคดี

นอกจากแก้ปัญหายาเสพติดในประเทศ "บิ๊กหลวง" พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ บอกว่า ได้เร่งขับเคลื่อนงานด้านยุทธศาสตร์ต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยสานงานต่อโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย หรือศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย (Safe Mekong Coordination Center) มี 6 ประเทศที่เป็นภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กัมพูชา จีน ลาว เมียนมา เวียดนาม และ ไทย เนื่องจากโรงงานผลิตยาเสพติด อยู่ในเขตอิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์ ประเทศเพื่อนบ้าน ผลิตออกมาขายตัดราคากัน ทำให้ราคายาบ้ามีราคาลดลงเหลือเม็ดละเหลือไม่ถึง 100 บาท

ราคายาบ้าเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดได้ว่าโครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่ บางปัญหาเป็นเรื่องภายในประเทศ สิ่งที่ ป.ป.ส. ทำได้ คือ การขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านให้สกัดกั้น เพราะพื้นที่แหล่งผลิตยาเสพติดเป็นของกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งที่ไทยทำได้ คือ การสกัดเส้นทางนำเข้าสารตั้งต้นหรือเคมีภัณฑ์มากกว่า

นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ คือ หากพบข้อมูลด้านการข่าวว่าจะมีการส่งสารตั้งต้นไปที่ สปป.ลาว แต่ต้องผ่านด่านศุลกากรไทย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ข้อมูลมาก็จะสามารถสกัดกั้นและตรวจสอบได้

พล.ต.อ.ภาณุรัตน์ หรือ "บิ๊กหลวง" กล่าวว่า ในอนาคตปัญหายาเสพติดจะยังไม่หมด ทั้งๆ ที่แก้ไขมานานกว่า 20 ปีแล้ว ในปี 2567 จะเน้นที่ฝั่งผู้ซื้อยาเสพติด โดยต้องการลดจำนวนผู้ซื้อเพื่อไม่ให้ผู้จำหน่ายยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่

UNODC หรือสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ยาบ้าในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้และโดยรอบมีจำนวนเพิ่มขึ้น การแก้ไขปัญหายาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงจำเป็นต้องใช้การสาธารณสุขนำ และสร้างชุมชนเข้มแข็ง

"ปัจจุบันมีการจับกุมผู้ครอบครองยาบ้า 4–5 ล้านเม็ดต่อวัน ได้ที่แนวชายแดน เจ้าหน้าที่ก็ขยายผลสอบ โดยใช้กล้อง CCTV เป็นตัวช่วย และตรวจสอบเส้นทางการเงินว่าเกี่ยวข้องกับเครือข่ายไหนบ้าง ส่วนโครงการค้น หาผู้เสพ ก็สามารถจับกุมผู้ค้ารายย่อยได้มากขึ้น จากการนำผู้เสพมาซักถาม

ส่วนผู้ค้ารายใหญ่ที่หลบหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน ทาง ป.ป.ส.ได้หารือโดยใช้มาตรา 5 (10 ) เพื่อขอความร่วมมือระหว่างประเทศให้จับผู้ต้องหาคดียาเสพติดส่งกลับประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่หลบอยู่ที่เมียนมา และลาว

การรุกและรบ ไม่ได้ทำระนาบเดียว แต่ด้วยความชอบท่องโลกโซเชียล "บิ๊กหลวง" พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ บอกว่า ต้องใช้ช่องทางนี้มีอิทธิพลต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ จึงวางแผนว่าในอนาคตจะนำ Influencer และ Youtuber ทำหน้าที่กระจายข่าว สารสร้างความรับรู้โทษของยาเสพติดให้กับกลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษา

ในธีม "ยาบ้าไม่ใช่ทางของเรา โดยประกวดวิดีโอความยาว 1.30 นาที ลงใน TikTok หัวข้อ "ยาบ้าไม่ใช่ทางของเรา" มีรางวัลเป็นเงินสดมูลค่า 10,000 บาท ขยายไปสู่ระดับจังหวัดและประเทศต่อไป

"...ส่วนตัว ผมเชื่อว่า ยาเสพติดกลัวครอบครัวที่อบอุ่นและเข้มแข็ง หากเราทำให้ชุมชนและครอบครัวเข้มแข็ง ของพวกนี้มันจะเข้าไปไม่ถึง และทำอะไรเด็กไม่ได้" เลขาฯ ป.ป.ส.คนใหม่ ทิ้งท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง