เด็กนักเรียนกว่า 100 คนใน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ร่วมกล่าวคำปฏิญาณตนเป็นพลเมืองที่ดีในพิธีมอบบัตรประจำตัว 13 หลัก แก่เด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยตัวอักษร G
เด็กนักเรียนรหัส G เป็นเด็กนักเรียนไร้สถานะทางทะเบียนที่ได้รับการกำหนดเลขประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา แต่ไม่เกี่ยวกับเลข 13 หลักของกระทรวงมหาดไทย
(นักเรียนรหัส G หมายถึง นักเรียนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนคนไทย ซึ่งต้องมีตัวเลขประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา แต่ไม่เกี่ยวกับเลข 13 หลักของกระทรวงมหาดไทย โดยมีหลักการการกำหนดเลขใช้แทนเลข 13 หลัก ดังนี้ เลขหลักที่ 1 G คือ Generate หมายถึงการออกเลขประจำตัว 13 หลักที่ถูกกำหนดขึ้นโดยระบบ DMC (Data Management Center) )
ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.มีนโยบายแก้ปัญหาสถานะทางทะเบียนแก่เด็กกลุ่มนี้ โดยตั้งคณะทำงานโครงการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสถานะของเด็กรหัส G นำร่องใน 3 จังหวัด คือ จ.ตาก เชียงใหม่ และเชียงราย
โรงเรียนใน อ.แม่อาย เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ร่วมกับฝ่ายทะเบียนอำเภอ และ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตั้งคณะทำงานเชิงรุก ตรวจสอบคุณสมบัติของเด็กนักเรียน หากพบว่าเข้าเรียนต่อเนื่อง ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ไม่มีสัญชาติอื่น ไม่มีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักร และเดินทางไป-กลับเพื่อศึกษา ฝ่ายทะเบียนอำเภอ ก็จะเพิ่มชื่อในทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และ ได้รับบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งมีเลข 13 หลัก
นิศารัตน์ เหล่าพนัสสัก รองผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 เปิดเผยว่าโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 รับเด็กด้อยโอกาส 10 ประเภท ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
โรงเรียนอยากให้เด็กกลุ่มนี้มีสถานะเพื่อที่จะได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น สามารถทำงานเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ และเข้าถึงสวัสดิการของด้านการรักษาพยาบาลของรัฐ สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ เพราะโดยความเป็นครูแล้ว รักเด็กทุกคนเท่าเทียมกัน เราไม่ได้เลือกปฏิบัติว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กคนไทย หรือ เป็นเด็กไม่มีสัญชาติ
เด็กๆมีศักยภาพ มีความพร้อม เด็กส่วนใหญ่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น แล้วก็พัฒนาตัวเองอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงสมควรได้รับการส่งเสริม และ ได้รับโอกาสดีๆ
สลีลญา คำภาแก้ว นายอำเภอแม่อาย บอกว่า โรงเรียนในพื้นที่ 57 แห่ง มีเด็กนักเรียนรหัส G รวมเกือบ 2,500 คน และได้รับการแก้ปัญหาสถานะแล้วกว่า 1 พันคน ที่เหลืออีกกว่า 1,400 คน กำลังเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบ
สำหรับปัญหาอุปสรรคใหญ่ๆ มีอยู่ 2 เรื่อง 1 คือ ผู้ปกครอง หรือ ผู้ยื่นคำร้อง ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์จนบางครั้งให้ข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น สถานที่เกิด เอกสารของพ่อแม่ หลายคนมีบัตรแรงงานข้ามชาติที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว กลับแจ้งว่าไม่มี แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้วจึงพบข้อเท็จจริง
เรื่องที่ 2 คือ บุคลากรของสำนักทะเบียนอำเภอ เนื่องจากปลัดอำเภอมีคนเดียว ทำให้การทำงานล่าช้าไปบาง แต่เราก็พยายามแก้ไขปัญหาเต็มที่
ทั้งนี้เมื่อเด็กนักเรียนรหัส G ได้รับบัตรประจำตัว 13 หลักแล้ว ก็จะจัดพิธีการกล่าวคำปฏิญาณตนเป็นพลเมืองที่ดี เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจหลักการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศไทย
เด็กๆ ต้องช่วยกันดูแลตัวเองไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ผิดกฎหมาย และช่วยประเทศชาติด้วย และย้ำเตือนให้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้เขาสำนึกที่ว่าสิ่งที่เขาได้รับวันนี้ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐานของเขาดีขึ้น
หลังได้รับบัตรประจำตัว 13 หลักแล้ว เด็กๆ ยังเดินทางไปยังโรงพยาบาลแม่อาย เพื่อลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลจากกองทุนคืนสิทธิ
นพ.เฉลิม โพธานารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่อาย ระบุว่า นอกจากบัตรประจำตัว 13 หลัก ทำให้เด็กๆ ได้รับสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของพลเมืองแล้ว ยังถือเป็นแบ่งเบาภาระแก่โรงพยาบาลชายแดน ซึ่งต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หรือ ผู้ไม่มีชื่อตามทะเบียนราษฎร์ ประมาณ 2-3 หมื่นคน แต่ไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากคนกลุ่มนี้ได้
หากไม่มีบัตร ไม่มีสิทธิ์อะไรเลย เราก็ให้การรักษาตามปกติ แต่ค่าใช้จ่ายก็จะไม่สามารถเบิกได้ แต่หากได้รับบัตร13 หลักแล้วทางโรงพยาบาลก็ได้รับงบประมาณ มาใช้บริหารจัดการ เป็นค่ายา ค่าอุปกรณ์การแพทย์ได้
แม้การแก้ปัญหาเด็กนักเรียนจะเป็นเรื่องสำคัญของหลายๆ หน่วยงาน แต่ที่ผ่านมายังพบว่าการแก้ปัญหายังมีความล่าช้า เนื่องจากการจัดทำทะเบียนประวัติ และ กำหนดเลขให้เด็กนักเรียนรหัส G มีแนวทางปฏิบัติไม่เหมือนกัน เจ้าหน้าที่รัฐขาดความเข้าใจ
รังสิมา ไอราวัณวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทยระบุว่า แม้ว่าทางรัฐบาลจะออกกฎระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล
แต่ก็ต้องยอมรับว่าระเบียบที่มีออกมายังไม่ได้มีรายละเอียดมากเพียงพอที่จะให้ผู้ปฏิบัติสามารถที่จะตัดสินใจได้เอง บางครั้งมีลักษณะของการใช้ดุลพินิจ จึงทำให้การปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ อาจจะเป็นไม่เป็นมาตรฐาน
จึงมีข้อเสนอ 2 ข้อ แก่รัฐบาล ข้อที่ 1 คือ ให้มีการออกระเบียบขั้นตอนที่ละเอียดมากเพียงพอที่จะให้ผู้ปฏิบัติไม่ต้องใช้ดุลพินิจอีกต่อไปส่วนข้อที่ 2 ให้มีการจัดสรรงบประมาณ และ บุคลากรให้หน่วยงานต่างๆที่ได้รับผิดชอบเรื่องการแก้ไขสถานะบุคคล เพื่อให้สามารถทำได้ทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
ข้อมูลตัวเลขของกลุ่มเด็กนักเรียนรหัส G เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 6 หมื่น 8 พันคนในปี 2564 เพิ่มเป็น 72,000 คนในปี 2565 และ ล่าสุดปีนี้ มีจำนวน 82,000 คน
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลของรัฐบาล นอกจากเป็นไปตามคำมั่นสัญญาในการยกระดับการให้ความคุ้มครองทางสังคม แก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่แถลงต่อที่ประชุมระดับสูงของ UNHCR ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ยังเป็นการสร้างสมดุลระหว่างสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน กับความมั่นคงด้วย
พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ