ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พลิกวิกฤต "สงครามอิสราเอล-ฮามาส" สร้างโอกาส สินค้าไทย

เศรษฐกิจ
9 พ.ย. 66
15:30
3,575
Logo Thai PBS
พลิกวิกฤต "สงครามอิสราเอล-ฮามาส" สร้างโอกาส สินค้าไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สนค.ชี้เศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง แนะไทย เร่งหาช่องทางการค้า-ลงทุนใหม่

วันนี้ (9 พ.ย.2566) สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสชาวปาเลสไตน์ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2566 ถือเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของทั้ง 2 ฝ่ายในรอบ 50 ปี โดยเริ่มจากปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มฮามาสในชื่อ Al Aqsa Flood ทำการยิงขีปนาวุธโจมตีเป้าหมายทางทหารของอิสราเอล และส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าไปโจมตีหลายเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอล

จนทำให้อิสราเอลประกาศเข้าสู่ภาวะสงครามและเริ่มปฏิบัติการโจมตีตอบโต้อย่างรุนแรงในพื้นที่ฉนวนกาซา ซึ่งสงครามดังกล่าวดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือนแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง แต่ปฏิบัติการของอิสราเอลกลับยกระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ทั้งประชาชน บ้านเรือน เศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจรอบนอก หากสงครรามยังคงยืดเยื้อต่อไปอีก

โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาหรับที่สะท้อนความเปราะบางของความสัมพันธ์ของประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสงครามครั้งนี้อาจลุกลามบานปลายไปเป็นความขัดแย้งในระดับภูมิภาค

อย่างไรก็ตามหากสงครามยังยืดเยื้อต่อไป ย่อมส่งผลสะเทือนเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน เพราะบริเวณพื้นที่ความขัดแย้งนี้ใกล้กับแหล่งพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเส้นทางการขนส่งที่สำคัญของโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 สงครามอิสราเอล-ฮามาส ทำราคาทองคำสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย

สงครามบานปลาย ดันราคาทอง-น้ำมันพุ่ง

กระทบเศรษฐกิจไทยร้อยละ 0.2

สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะมีมูลค่าการค้าระหว่างกันค่อนข้างน้อยแต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามดังกล่าว

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ประเมินผลกระทบสงครามอิสราเอล-ฮามาส ในรอบ 1 เดือน มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างจำกัด เหตุการค้าไทยกับอิสราเอลและปาเลสไตน์ มีเพียงร้อยละ 0.2 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวม

ส่วนการขนส่งสินค้ายังเป็นปกติ นักท่องเที่ยวมาไทย แค่ร้อยละ 1 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ส่วนผลกระทบด้านพลังงานยังไม่ชัดเจน แต่ทั้งนี้ยังต้องจับตาหากสงครามยืดเยื้อ ขยายวงกว้าง ทำการผลิต ขนส่งชะงัก อาจกระทบส่งออก-นำเข้าสินค้าบางรายการได้ แนะไทยวางตัวเป็นกลาง แสวงหาช่องทางการค้า การลงทุน

สถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอน นับเป็นความเสี่ยงใหม่ของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าที่ต้องจับตาและประเมินผลกระทบในระยะยาว ขณะเดียวกันก็เป็นทั้งประเด็นท้าทายและโอกาสของไทยด้วย

คาดสงครามยืดเยื้อแต่จำกัดวง

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสงครามอิสราเอล-ฮามาสไม่ได้ส่งผลกระทบรวดเร็วและรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกเหมือนกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน เพราะอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ได้มีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกมาก โดยถึงขณะนี้ผลกระทบของความขัดแย้งต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกยังมีจำกัด ราคาน้ำมันโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6

ขณะที่ราคาสินค้าเกษตร โลหะส่วนใหญ่ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจากการประเมินของธนาคารโลก หากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปในลักษณะนี้ ราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ผอ.สนค. ระบุว่า แนวโน้มสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสงครามครั้งนี้อาจยืดเยื้อน่าจะคาบเกี่ยวในกรณีสงครามจำกัดวงและกรณีสงครามตัวแทน แต่มีโอกาสน้อยที่จะยกระดับความรุนแรงไปจนถึงกรณีที่เกิดสงครามโดยตรงระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแต่ละประเทศต่างก็อยู่ในภาวะอ่อนแอจากวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทำให้ไม่น่าจะต้องการเข้าสู่ภาวะสงคราม

หลายชาติเร่งช่วยหาทางออก

นายพูนพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับท่าทีของสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปที่แม้จะสนับสนุนอิสราเอลในการโจมตีฮามาสเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ก็พยายามหารือผู้นำหลายชาติอาหรับที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง และให้ความสำคัญกับการคุ้มครองพลเรือนชาวปาเลสไตน์

ขณะที่ท่าทีของประเทศตะวันออกกลางในกลุ่มประเทศ OPEC ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันหลักของโลก ก็ไม่ได้มีแนวโน้มออกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันไปยังประเทศที่สนับสนุนอิสราเอลเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสงครามอาหรับ-อิสราเอล หรือสงครามยมคิปปูร์ใน ค.ศ.1973

ผลกระทบทางเศรษฐกิจกับไทยกรณีที่ไม่ขยายวงหรือรุนแรงจากปัจจุบันมาก ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยกับอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมกันอยู่ในระดับต่ำ เพียงประมาณร้อยละ 0.2 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของไทย

โดยการขนส่งสินค้าเข้า-ออกจากอิสราเอลไม่กระทบ เนื่องจากท่าเรือส่วนใหญ่ของอิสราเอลยังเปิดดำเนินการตามปกติ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 1 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดรวมทั้งด้านการลงทุนไม่มีการลงทุนโดยตรงจากทั้ง 2 ประเทศคู่ขัดแย้ง

ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมต่อการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อเงินเฟ้อ แต่ยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนเพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงแรกของสงครามยังต่ำกว่าระดับสูงสุดในเดือน ก.ย.2566 รวมทั้งค่าเงินบาทผันผวนและอ่อนค่าลงในช่วงแรกตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐและทองคำ

ผอ.สนค. กล่าวอีกว่า จากการประเมินทิศทางสงครามและผลกระทบในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเชื่อว่ากรณีที่การสู้รบยังดำเนินต่อไปแบบจำกัดวงอยู่ในฉนวนกาซาและบริเวณพรมแดนอิสราเอลกับซีเรียและเลบานอนไม่น่าจะมีผลกระทบรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ หรือส่งผลกระทบสืบเนื่องจนสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ห่วงแรงงานไทยไม่มีงานทำ

ผอ.สนค. ระบุว่า ยังมีบางประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วง คือ ด้านแรงงาน เนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากไต้หวัน มีแรงงานจำนวนกว่า 26,000 คน ที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลอาจได้รับผลกระทบจากสงครามและว่างงานลงอย่างฉับพลัน ซึ่งประเด็นนี้ภาครัฐอาจต้องมีมาตรการช่วยเหลือรองรับที่เหมาะสม

นอกจากนี้ หากสงครามยกระดับรุนแรงในพื้นที่อิสราเอลหรือประเทศรอบ ๆ อิสราเอล จนทำให้ภาคการผลิต การขนส่งเกิดการหยุดชะงัก และนำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ก็อาจทำให้การส่งออกสินค้าบางรายการที่มีอิสราเอลเป็นตลาดส่งออกสำคัญส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบอยู่บ้าง เช่น เครื่องประดับ (เพชร) ไฟเบอร์บอร์ด ทูน่ากระป๋อง และรถยนต์รถยนต์นั่ง รวมทั้งสินค้านำเข้า อาทิ เพชร และปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ที่ไทยนำเข้าจำนวนมากจากอิสราเอล

แนะผู้ประกอบการมองหาตลาดใหม่

ผอ.สนค. กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการต้องเริ่มมองหาตลาดส่งออกหรือแหล่งนำเข้าอื่น ๆ ทดแทนให้มากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หากสงครามขยายวงไปสู่ระดับภูมิภาค ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมน่าจะรุนแรงพอสมควร เพราะกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นทั้งตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ และเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญของไทยหลายรายการ ดังนั้นจึงต้องติดตามพัฒนาการของสงครามอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมมาตรการรองรับได้อย่างทันท่วงที

พลิกวิกฤตสงครามสร้างโอกาสสินค้าไทย

ผอ.สนค. กล่าวอีกว่า ความขัดแย้งของประเทศต่าง ๆ กลับเป็นโอกาสในการหาช่องทางการค้าและการลงทุนของไทย ในฐานะประเทศที่วางตัวเป็นกลางเหนือความขัดแย้ง เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไทยได้รับผลประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากสหรัฐฯ จากจีนมาไทย

และยังมีโอกาสส่งออกสินค้าทดแทนเข้าไปในตลาดคู่ขัดแย้ง เช่นเดียวกับกรณีเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่สร้างความไม่ไม่มั่นคงทางด้านอาหารทั่วโลกก็ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์จากความต้องการซื้อสินค้าเกษตรและอาหาร

ดังนั้น เหตุความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในครั้งนี้ ที่แม้ไทยยังไม่ได้รับผลกระทบทางตรง แต่ภาพรวมของสงครามสงครามในภูมิภาคดังกล่าว ก็มีส่วนบั่นทอนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกกลาง จึงถือเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือทางการค้าและการลงุทน รวมทั้งผลักดันสินค้าไทย เช่น อาหารฮาลาล กับกลุ่มประเทศมุสลิมอื่น ๆ ทดแทนได้

อ่านข่าวอื่นๆ:

ขนแรงงานไทยฝ่าสงครามอิสราเอล รัฐล่าช้าหรือไม่เตรียมการ

IMF เตือนสู้รบตะวันออกกลางยืดเยื้อทำต้นทุนราคาน้ำมันพุ่ง 10%

ราคาน้ำมันดิบเดือนก.ย.ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 9 เดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง