ในอดีตความงดงามนี้เคยหายไป เพราะผลกระทบจากการพัฒนาลำคลอง ทำให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาฟื้นคลองนาคา จนทำให้พลับพลึงธาร ที่เหมือนสมบัติของชุมชน กลับมาเติบโตกลางสายน้ำอีกครั้ง
จ.ระนอง มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติมาก โดยเฉพาะดอกพลับพลึงธาร การโปรโมทพลับพลึงธาร จึงเป็นกิจกรรมเริ่มแรกของกลุ่มอันซีนระนอง เป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ด้วย สนับสนุนการท่องเที่ยวด้วย
ดอกพลับพลึงธารขึ้นทะเบียนเป็นดอกไม้ใกล้สูญพันธุ์ ในไทยก็จะมีแค่ที่ จ.ระนอง และ พังงาเล็กน้อยเท่านั้น
น.ส.กฤชสร ทรายแก้ว ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานชุมพร-ระนอง กล่าวว่า การท่องเที่ยวหลายอย่างเป็นการทำลายธรรมชาติ แต่การส่งเสริมการฟื้นฟูพลับพลึงธาร ควบคู่ไปกับการพัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชนที่บ้านไร่ใน ตอบโจทย์ที่ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวด้วย
ชาวบ้านทำกิจกรรมกันอย่างเงียบๆ มานานแล้ว แต่วันนี้หลายคนแสดงให้เห็นว่า มีใจอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอยากให้นักท่องเที่ยวมาเยือน
ไม่เพียงแต่คนในชุมชนเท่านั้น ที่มารวมตัวทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูดอกพลับพลึงธาร แต่วันนี้แนวคิดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน ยังมีเด็ก ๆ จากสถาบันการศึกษาเข้าร่วมเรียนรู้
เด็กๆ ได้สนุกสนานไปกับการแกะกรอบกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ ก่อนจะนำไปใช้เป็นกรอบ ที่มีภาพพื้นหลังเป็นดอกพลับพลึงธารในลำน้ำ และเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานศิลปะ คัทเอาท์ สเก็ตช์ (cutout sketch) ที่ได้นำศิลปะมาผนวก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน
น.ส.ปาริชาต ทองกลั่น นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสุขสำราญราษฎร์รังสรรค์ กล่าวว่า เป็นการส่งเสริมให้คนไทยที่ไม่เคยรู้จักดอกพลับพลึงธาร มารู้จัก มาศึกษา เพราะใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว และยังทำให้คนรู้จักจังหวัดระนองมากขึ้นด้วย
ขณะที่นายพชร อาชาศรัย อาจารย์พิเศษ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การนำศิลปะ คัทเอาท์ สเก็ตช์ (cutout sketch) มาใช้ในการทำกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว มีแนวคิดง่ายๆ คือ ตอนนี้ใคร ๆ ก็เป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ สิ่งที่เราอยากจะบอกต่อสิ่งที่เราอยากถ่ายทอด ก็สามารถส่งผ่านผลงานศิลปะได้ ให้น่าสนใจ นอกจากจะเป็นภาพถ่ายที่สวยงามเพียงอย่างเดียว
นอกจากการอนุรักษ์ และฟื้นฟูพลับพลึงธารแล้ว สิ่งที่จะทำให้คนในชุมชนร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืน นายอัมรินทร์ ประสมพล ผู้ประสานงานกลุ่มท่องเที่ยวบ้านไร่ใน มองว่า จะต้องสร้างรายได้ให้กับคนชุมชนด้วย
จึงร่วมกันผลิตผลผลิตต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น กาแฟสด และของดีต่าง ๆ จากบ้านไร่ใน รวมถึงพัฒนาแหล่งที่พัก หรือ โฮมสเตย์ รองรับเพราะหากทำให้ คนในชุมชนมีรายได้ ชาวบ้านก็จะได้มีกำลังใจในการพัฒนาพื้นที่ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ตอนแรกผมยัง 50-50 ว่า ท่องเที่ยวชุมชนบ้านไร่ในจะไปได้ไหม แต่วันนี้เราเห็นหลายส่วนมาร่วมกัน ทั้งกลุ่มอันซีนระนอง ททท.สถาบันการศึกษา นักวิชาการ และคนในชุมชน ผมมั่นใจมากขึ้น เพราะการฟื้นฟูพลับพลึงธารที่เป็นเรื่องยากมาก แต่พวกเราก็ทำได้ และคนในชุมชนก็เริ่มมีรายได้จากสิ่งนี้ ผมคิดว่ามันไปต่อได้แน่ ๆ
การเติบโตของดอกพลับพลึงธารกลางสายน้ำใส หลังการล่มสลายในอดีต เป็นหนึ่งในต้นแบบของการจัดการท่องเที่ยวชุมชน ที่เริ่มจากความไม่สิ้นหวัง ทุกฝ่ายจึงพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะสร้างความมั่นใจและความเข้มแข็งให้กับชุมชน ในการที่ร่วมกันฟื้นคืนพลับพลึงธาร ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งสายน้ำ”