วันนี้ (7 พ.ย.2566) กวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า ไทยส่งไม้ต่อให้สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคประจำปี พ.ศ.2566 มีสมาชิกเข้าร่วมจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศที่เป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งก่อนมีนโยบายโมเดลใหม่ เช่น "Bio Circular Green (BCG)" เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งต้องกล่าวว่าประเทศไทยโชคดี เพราะสหรัฐฯ ได้นำแนวความคิดที่บรรจุอยู่ในเอกสาร Bangkok Goals on BCG มาปฏิบัติตาม
แม้ในช่วงแรกสหรัฐฯ ยังมีท่าทีที่ไม่ชัดเจนมากนัก แต่เมื่อมองดูแล้วหากไม่ปฏิบัติตาม การประชุมเอเปคในครั้งนี้ อาจไม่ประสบความสำเร็จ เพราะความขัดแย้งของมหาอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับสมาชิกเขตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรัสเซียและจีน อีกทั้งอาจไม่สามารถเข็นข้อเสนอต่างๆ ให้มีฉันทามติได้
ในปี 2565 การประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ประสบความสำเร็จอย่างมาก ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้ทั้งโลกจึงจับตามองไปที่ โจ ไบเดน ปธน.สหรัฐฯ และสถานที่จัดการประชุมอย่างนครซานฟรานซิสโก เพราะช่วงหลังหากกล่าวถึง นครซานฟรานซิสโก ก็จะมีแต่ข่าวร้าย กล่าวคือ เป็นเมืองที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจแล้ว เพราะเต็มไปด้วยอาชญากรรม และเมืองนั้นเสื่อมโทรมไปมาก
กวี บอกว่า ในช่วง 2 สัปดาห์หลังจากนี้จะมีการประชุมเอเปค โดยทางซานฟรานซิสโกได้ออกกฎระเบียบว่า อาจปิดกั้นถนนบางสาย เพราะจะมีผู้นำหลายประเทศมารวมกัน ซานฟรานซิสโกในปัจจุบันไม่ได้เฟื่องฟูอย่างในอดีต ปธน.โจ ไบเดน จึงต้องการที่จะฟื้นฟูนครซานฟรานซิสโกให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง จึงเลือกใช้เป็นสถานที่ประชุมเอเปคในปีนี้ ส่วนไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งไม้ต่อให้กับสหรัฐฯ ต้องเป็นผู้ติดตามข้อเริ่มต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Bio Circular Green (BCG) รวมทั้งการลดช่องว่างระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือกล่าวได้ว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ดีแล้ว
การประชุมเอเปคมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ฉะนั้นสมาชิกต้องส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
กวี บอกอีกว่า ส่วนประเทศไทยได้เสนอข้อริเริ่มไว้มากมาย ซึ่งประเทศสมาชิกได้ปฏิบัติตามนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว คือการส่งเสริมเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายสภาพสิ่งแวดล้อม โดยเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยรับมาปฏิบัติต่อจากรัฐบาลชุดที่แล้ว นอกจากนี้ ประเด็นที่ไทยต้องการผลักดันคือ ความเชื่อมโยง (Connectivity) เช่น แลนด์บริดจ์ ที่จะมีการสร้างทางรถไฟคู่ขนานกับทางรถยนต์ เพื่อเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย นับเป็นจุดที่ไทยต้องการบอกกล่าวให้ทั่วโลกทราบว่า ไทยส่งเสริมเรื่องความเชื่อมโยง เพื่อเพิ่มการค้าการลงทุน
นอกจากนี้อีกประเด็นที่น่าจับตามองคือ ธรรมาภิบาลของสมาชิกเขตเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันนี้มีเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Government เข้ามาเกี่ยวข้อง ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศไทยต้องการหยิบยกขึ้นมาเสนอในการประชุม เพื่อให้ผู้นำจากทั่วโลกได้ทำความรู้จักและนำมาถกเถียงกัน ซึ่งอาจจะใช้เวลานานมาในการวางรากฐาน และตั้งกฎเกณฑ์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
กวี ยังวิเคราะห์ถึงประเด็นอื่นๆ ว่าจะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่าง ปธน.สหรัฐฯ จะสามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้หรือไม่ เพราะรัสเซียไม่น่าจะส่ง ปธน.วลาดีมีร์ ปูติน เข้าร่วมการประชุมอย่างแน่นอน ในขณะที่จีนก็เป็นที่น่าจับตามองเช่นเดียวกัน เพราะการประชุมในครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจีนเป็นสำคัญ โดยตัวแทนการประชุมจากจีนจะเป็น ปธน.สี จิ้นผิง หรือไม่ยังไม่มีข้อมูลออกมา
ส่วน โจ ไบเดน ต้องการให้การประชุมเอเปคครั้งนี้สำเร็จลุล่วง เพื่อผลักดันให้ตนเองมีคะแนนเสียงมากขึ้นในสายตาประชาคมโลก ซึ่งการประชุมจะสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
ปัจจัยแรกคือ "จีน" เพราะมีความพยายามที่จะปรับความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศให้ดีขึ้น เพื่อปูทางให้ ปธน.สี จิ้นผิง มาร่วมประชุมในครั้งนี้ ถ้าผลปรากฏออกมาว่า สี จิ้นผิง ไม่มา ความสำเร็จของการประชุมในครั้งนี้ลดลงครึ่งนึง เพราะประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจไม่ร่วมมือกัน
ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ สหรัฐฯ จะสามารถเข็นคำแถลงการณ์ผู้นำออกมาได้หรือไหม ถ้าไม่สามารถกระทำได้ สหรัฐฯ อาจได้ผลประโยชน์อย่างหนึ่งคือ การออกคำแถลงการณ์ของประธานเอเปคเพียงผู้เดียว กล่าวคือ การออกแถลงการณ์ไม่ต้องสนใจความคิดเห็นของประเทศอื่นๆ สามารถใส่ข้อเรียกร้องที่ต้องการได้เลย เช่น การประณามรัสเซียเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือการประณามกลุ่มฮามาส
ดังนั้นต้องจับตาดูว่าสหรัฐฯ จะเล่นการเมืองระดับไหนจึงจะต้านจีนและรัสเซียได้ ถ้าสหรัฐฯ ต้องการต้านจีนและรัสเซียจริง สหรัฐฯ ต้องแสดงบทบาทของตนเองออกมา
ความหวังของสหรัฐฯ คือ ปธน.สี จิ้นผิง ต้องเข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือข้อริเริ่มต่างๆ
บทบาทสหรัฐฯ ในเวทีการประชุม 2566
เมื่อเปรียบเทียบกับการประชุมในปี 2565 แล้ว พบว่าทุกการประชุมในหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การลงทุน หรือการท่องเที่ยว ฯลฯ ไม่มีคำแถลงการณ์ร่วมออกมาเลยสักฉบับเดียว เฉพาะฉะนั้นการรอคำแถลงการณ์ของผู้นำนั้นเป็นไปได้ยาก ในที่นี้ขึ้นอยู่ว่าสหรัฐฯ จะวางตัวอย่างไร ซึ่งถ้ามีคำแถลงการณ์ประณามจีนและรัสเซียออกมา การประชุมในครั้งนี้ไม่น่าจะสำเร็จได้
ส่วนผลกระทบต่อไทยคือ เรื่องที่ไทยเคยผลักดันในปีก่อนหน้าอาจหยุดชะงักลง ซึ่งเจ้าภาพในปีถัดไปอาจต้องเป็นผู้ที่ต้องดำเนินการข้อริเริ่มต่าง ๆ ต่อไป
สื่อมวลชนอาวุโส ระบุว่า การประชุมเอเปคครั้งนี้ หากจีนไม่เข้าร่วมประชุมสามารถตีความได้ 2 แบบ ได้แก่
- ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนนั้นยังไม่ได้พอ ถึงขนาด ปธน.สี จิ้นผิง จะต้องเดินทางไปถึงซานฟรานซิสโก ทั้งที่คาดว่าการเดินทางไปพบกันที่บาหลีจะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศดีขึ้น
- ถ้า ปธน.สี จิ้นผิง ไม่เข้าร่วม จะส่งผลเสียต่อสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน
และ 7 วันต่อจากนี้เป็นช่วงเวลาที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะทุกนาทีจะมีมิติที่สามารถบอกได้ว่า ปธน.สี จิ้นผิง จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมหรือไม่ หาก สี จิ้นผิง ไม่เข้าร่วมการประชุม ด้าน โจ ไบเดน จะเสียหน้ามาก
ซึ่งทางสหรัฐฯ ต้องหาวิธีแก้เกมไว้ เพราะงานนี้ต้องเอาใจและหาเสียงทั้งในประเทศและเวทีโลกว่า สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกอยู่