เคยมีประสบการณ์เหล่านี้หรือไม่ เมื่อจองตั๋วเครื่องบินแต่กลับได้เครื่องบินรุ่นเก่า นั่งไม่สบาย แอร์ไม่เย็น หรือจองตั๋วชั้นธุรกิจ (Business Class) แต่กลับได้ที่นั่งรุ่นเก่าที่ปรับเอนนอนราบไม่ได้
เวลาที่เราโดยสารเครื่องบิน ข้อมูลหลัก ๆ ที่สายการบินมักจะแจ้งเราได้แก่ หมายเลขเที่ยวบิน เวลาในการเดินทาง รุ่นและยี่ห้อของเครื่องบินที่ใช้ หรือในการซื้อตั๋วบางราคาเราอาจสามารถเลือกที่นั่งล่วงหน้าได้ ซึ่งก็จะช่วยให้เราสามารถวางแผนการเดินทางได้ แต่วันนี้ Thai PBS Sci & Tech จะมาแนะนำเทคนิคที่ทำให้เราสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นด้วยการตรวจสอบว่า เครื่องบินที่เราจะได้นั่งนั้นเป็นเครื่องบินรุ่นอะไร รวมถึงที่นั่งที่เราจะได้นั่งเป็นที่นั่งแบบใด หรือหากยังไม่ได้จองตั๋ว เราอาจใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการเลือกเที่ยวบินที่ได้นั่งเครื่องบินลำใหม่ได้
รู้หรือไม่ เครื่องบินที่สายการบินนำมาให้บริการอาจแตกต่างกันหลายสิบรูปแบบ ?
เนื่องจากธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และซับซ้อน ทำให้บางสายการบินอาจมีรูปแบบเครื่องบินที่นำมาให้บริการมากมายหลากหลายแบบ ยกตัวอย่างเช่นการบินไทย ปัจจุบันมีการนำเครื่องบินมาให้บริการถึง 6 รูปแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่เครื่องบิน Airbus รุ่น A330 และ A350 เครื่องบิน Boeing รุ่น 777 และ 787 โดยแต่ละรุ่นก็จะมีรุ่นย่อยลงไปอีก ซึ่งจะถูกจัดสรรไปให้บริการในเส้นทางต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เครื่องบินที่ใช้ก็มักจะเป็นรุ่นเดียวกันในเที่ยวบินเดียวกัน หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเหตุขัดข้องต่าง ๆ
นั่นหมายความว่า หากเราจองตั๋วเครื่องบินเส้นทาง กรุงเทพฯ - นาริตะ ในเที่ยวบิน TG 676 ซึ่งปกติทำการบินด้วยเครื่องบินแบบ Boeing 777-300ER ไม่ว่าจะบินในวันใด เราก็จะได้เครื่องบินรุ่นเดิม แบบเดิมเสมอ
นั่นหมายความว่า เราอาจสามารถเลือกเครื่องบินที่เราต้องการนั่งได้จากการเลือกเที่ยวบิน ซึ่งในข้อมูลส่วนนี้อาจไม่ได้ยากหรือซับซ้อนอะไรมากนัก เพราะข้อมูลของเครื่องบินที่ใช้ก็จะปรากฏบนหน้าเว็บที่จองตั๋วของสายการบินโดยตรง
รู้จักเครื่องมือเช็กที่นั่งว่าตรงไหนดี
สิ่งสำคัญของการโดยสารด้วยเครื่องบินก็คือ นั่งตรงไหนดี โดยปกติหากเราดูจากเว็บของสายการบินที่ให้เราสามารถกดจองที่นั่งได้ล่วงหน้า เราก็อาจพอเดาออกจากผังตอนกดเลือกได้ หรือสามารถลองนำรุ่นของเครื่องบินไปค้นหาบนกูเกิล (Google) ได้เช่นกัน เช่น ค้นหาว่า “Thai Airways Boeing 777-300ER Economy” เราก็จะเห็นภาพตัวอย่างของที่นั่งที่เราจะได้นั่ง
แต่ถ้าหากเราต้องการที่จะเปรียบเทียบที่นั่งระหว่างเครื่องบินหลาย ๆ รุ่น หรือหลาย ๆ สายการบิน เราก็สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องกดจองที่นั่งล่วงหน้า โดยการไปที่เว็บไซต์ SeatGuru (seatguru.com) ซึ่งจะช่วยให้เรา สามารถดูแผนผังของเครื่องบินได้ว่าเครื่องรุ่นไหน มีที่นั่งแบบไหน รวมถึงได้มีการรวบรวมรีวิวและคำแนะนำจากผู้ที่เคยนั่งเครื่องบินหรือที่นั่งบนเครื่องรุ่นนั้นว่า ที่ตรงไหนควรหลีกเลี่ยง และที่ตรงไหนควรเลือกนั่งหากมีโอกาส
SeatGuru
รู้หรือไม่ เราสามารถตรวจสอบรุ่นย่อยและทะเบียนของเครื่องบินได้ด้วย
แม้ว่าเราจะสามารถดูที่นั่งของเราได้ ไม่ว่าจะผ่านเว็บไซต์ SeatGuru หรือผ่านเว็บไซต์ของสายการบิน แต่หากสายการบินมีเครื่องบินที่ให้บริการเป็นรุ่นย่อยมากกว่าหนึ่งรุ่น เราอาจจะเกิดความสับสนได้ว่า เครื่องบินแต่ละแบบนั้นหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่ เช่น การบินไทย มีรูปแบบของเครื่องบินแบบ 777-300ER อยู่ 2 รุ่นย่อย ใช้รหัส 77Y และ 77W โดย 77W จะเป็นเครื่องบินลำใหม่ รุ่นใหม่ มาพร้อมกับที่นั่งที่ใหม่กว่า สะอาดกว่า และมีอายุน้อยกว่า การรู้ว่าเครื่องบินที่นำมาให้บริการจะเป็น 77W หรือไม่นั้น ก็สามารถทำได้ด้วยการเช็กกับหมายเลขเที่ยวบินจริง ๆ ที่กำลังบินอยู่
และหนึ่งในเว็บไซต์ที่ช่วยให้เราสามารถเช็กรุ่นหรือแม้กระทั่งทะเบียนของเครื่องบินที่กำลังบินก็คือ Flight Radar 24 (flightradar24.com) ซึ่งเราสามารถกรอกเลขเที่ยวบินของเรา และดูประวัติการนำเครื่องบินมาให้บริการได้ เช่น เรากรอกเที่ยวบิน TG 676 ผลการค้นหาก็จะขึ้นว่า ในช่วงสัปดาห์หรือเดือนที่ผ่านมา สายการบินได้นำเครื่องบินรุ่นใดและทะเบียนใดมาให้บริการ และยังสามารถบอกโอกาสที่จะล่าช้า (Delay) ได้อีกด้วย ในกรณีนี้คือเครื่องรุ่น 77W รุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นเครื่องทะเบียน HS-TTA, HS-TTB และ HS-TTC ซึ่งเป็นเครื่องบิน 3 เครื่องใหม่ของการบินไทย มาบินสลับผลัดเปลี่ยนกันไป
พอเห็นแบบนี้เราก็อาจมั่นใจได้เลยว่า หากไม่มีข้อผิดพลาด เครื่องบินที่เรามีโอกาสจะได้นั่งมีอยู่ 3 ลำ และทุกลำเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่แน่นอน
การรู้ว่าเรานั่งเครื่องบินรุ่นอะไรยังมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่จองตั๋วในชั้นธุรกิจ ซึ่งสายการบินบางสายอาจมีที่นั่งชั้นธุรกิจที่แตกต่างกันไป แม้จะเป็นเครื่องบินรุ่นเดียวกัน รหัสเดียวกัน หรือแม้กระทั่งในลำเดียวกันก็ตาม ที่นั่งแต่ละที่อาจจะมีความสะดวกสบายที่แตกต่างกัน
ใช้เว็บไซต์เหล่านี้เพื่อตามนั่งเครื่องบินลายพิเศษได้ด้วย
ในบางกรณี สายการบินอาจมีการนำเครื่องบินรุ่นพิเศษหรือลายพิเศษมาให้บริการ เช่น เครื่องบินลายคิตตี้ และตัวการ์ตูนซานริโอ (Sanrio) ของสายการบิน EVA ของไต้หวัน ซึ่งเราสามารถใช้เว็บไซต์อย่าง Flight Radar 24 มาช่วยตรวจสอบได้ว่าเครื่องบินลำนี้ที่เราต้องการนั่งมีการนำมาให้บริการในเที่ยวบินใดบ้าง เพราะในบางกรณีสายการบินอาจไม่ได้บอกว่าเครื่องบินรุ่นหรือลายพิเศษ จะถูกนำมาใช้บินบนเส้นทางใดบ้างล่วงหน้า
เทคนิคเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้เราสามารถเลือกเครื่องบินและที่นั่ง ให้ตรงกับใจแล้ว อาจยังช่วยให้เราสามารถวางแผนการเดินทางให้กับผู้อื่นได้ด้วย เช่น หากต้องจองเที่ยวบินให้กับญาติ หรือเพื่อนร่วมงาน ผู้บริหาร หรือในโอกาสพิเศษต่าง ๆ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งในทักษะที่รู้ไว้ไม่เสียหาย
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech