วันนี้ (2 พ.ย.2566) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า บริเวณจุดผ่านแดนราฟาห์ของอียิปต์ มีประชาชนมารอเป็นจำนวนมากหลังจากเจ้าหน้าที่ระบุว่าจะมีการเปิดจุดผ่านแดนอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางต่างชาติและผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 400 คนสามารถข้ามแดนไปยังฝั่งอียิปต์ได้ หลังจากอียิปต์ อิสราเอลและกลุ่มฮามาสบรรลุข้อตกลงร่วมกัน เพื่อเปิดทางให้อพยพคนกลุ่มนี้ได้
ขณะที่แหล่งข่าวทางการทูต เปิดเผยว่า ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางต่างชาติประมาณ 7,500 คน จะทยอยอพยพออกจากกาซาภายในช่วง 2 สัปดาห์นี้
ผู้คนข้ามแดนจากกาซาผ่านด่านราฟาห์เข้าไปฝั่งอียิปต์ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2023
"ด่านราฟาห์" ทางรอดเดียวของชาวกาซา
"ด่านราฟาห์" เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวกาซามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการส่งความช่วยเหลือหรือการลักลอบขนสิ่งของต่างๆ ผ่านเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดิน
ด่านราฟาห์ เป็นเส้นทางเชื่อมกาซากับโลกภายนอกเพียงจุดเดียวที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของอิสราเอล ซึ่งได้ปิดตายด่านผ่านแดนอีก 2 จุดไปแล้วตั้งแต่สงครามปะทุขึ้น ดังนั้นราฟาห์จึงเป็นจุดเดียวเท่านั้นที่ชาวกาซาจะใช้เดินทางเพื่อหนีตายได้
ด่านนี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของกาซา ติดกับคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ มีการบริหารจัดการร่วมกันจากกลุ่มฮามาสและทางการอียิปต์ที่มีสิทธิชี้ขาดว่าจะให้ใครผ่านเข้า-ออกหรือไม่ ซึ่งสถิติเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า การนำเข้าสินค้าผ่านจุดนี้ไปยังกาซาคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 37.1 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการขนส่งอาหารถึงร้อยละ 17
เดิมที่ราฟาห์ใน 2 ฝั่งพรมแดนเป็นเมืองเดียวกัน แต่หลังการแบ่งเมืองออกเป็น 2 ส่วนตามข้อตกลงสันติภาพระหว่างอียิปต์และอิสราเอลในปี 1979 ทำให้บริเวณนี้มีอุโมงค์ใต้ดินที่ใช้ลักลอบขนส่งสินค้าและค้าขายสิ่งของต่างๆ เชื่อมต่อกันมากมาย กลายเป็นท่อน้ำเลี้ยงของชาวกาซา ซึ่งยังรวมถึงการเป็นช่องทางจัดส่งอาวุธอีกด้วย
ต่อมาหลังปี 2007 ฮามาสเข้ากุมอำนาจปกครองในกาซา นำมาสู่การคุมเข้มพรมแดน การเคลื่อนที่ของคนและสิ่งของผ่านด่านเป็นไปอย่างจำกัดถึงขีดสุด เฉพาะชาวกาซาที่ถือใบอนุญาต หรือชาวต่างชาติเท่านั้นที่จะเดินทางเข้าไปในอียิปต์ได้
จุดผ่านแดนราฟาห์
สำหรับชาวกาซาทั่วไป การผ่านด่านราฟาห์ต้องเข้าสู่กระบวนการที่อาจใช้เวลาตั้งแต่ 1-3 เดือน ใช้ทั้งใบอนุญาตขาออกที่ออกให้โดยฮามาส และใบอนุญาตเข้าเมืองของทางการอียิปต์ และเมื่อถึงเวลาเดินทางจริง เมื่อออกจากด่านฝั่งกาซาแล้วจะต้องไปรอกระบวนการขอวีซาในฝั่งอียิปต์อีก ซึ่งบางคนอาจถูกปฏิเสธไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าอียิปต์ในจุดนี้
มาตรการเข้มงวดของอียิปต์ยังบังคับใช้แม้กระทั่งในยามที่กาซาถูกอิสราเอลถล่มอย่างหนัก ทั้งๆ ที่ชาวปาเลสไตน์ในกาซาถือเป็นพันธมิตรอาหรับของอียิปต์ เหตุเพราะอียิปต์ไม่ต้องการแบกรับภาระผู้อพยพ รวมถึงเสี่ยงเผชิญกับปัญหาความไม่สงบอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
รายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ปี 2022 ด่านราฟาห์เปิดทำการ 245 วัน มีคนผ่านเข้ามากกว่า 133,000 คนและเดินทางออก 144,000 คน จนถึงเดือน ก.ค.2023 มียอดการผ่านด่านเฉลี่ยเดือนละ 27,000 คน ส่วนเดือน ส.ค.2023 ทางการอียิปต์อนุญาตให้คนจากกาซาผ่านแดนเข้าไปได้ 19,608 คนและปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ 314 คน
การเดินทางข้ามแดนหยุดชะงักลงนับตั้งแต่ฮามาสโจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ต.ค. กระทั่งวันที่ 1 พ.ย. อียิปต์ยอมเปิดด่านเป็นครั้งแรก โดยผู้ถือหนังสือเดินทางต่างชาติชุดแรกผ่านด่านราฟาห์ออกจากกาซาเข้าไปยังอียิปต์ เป็นส่วนหนึ่งในรายชื่อกว่า 400 คนที่ได้เดินทางออกจากกาซา และผู้บาดเจ็บอีก 81 คนที่จะได้ข้ามไปรักษาตัวในอียิปต์
อียิปต์ส่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บชาวปาเลสไตน์ชุดแรกที่ข้ามแดนเข้ามา พร้อมตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับในเมืองใกล้เคียง ขณะที่ในบรรดาชาวต่างชาติที่เดินทางออกจากกาซา มีชาวออสเตรเลียรวมอยู่ด้วย 20 คน ขณะที่ออสเตรีย ระบุว่ามีพลเมืองเดินทางออกมาแล้ว 31 คน ส่วนคนสัญชาติอื่นๆ ที่อยู่ในรายชื่อมีทั้งชาวฟินแลนด์ เช็ก อังกฤษ ญี่ปุ่น บัลแกเรีย อินโดนีเซียและจอร์แดน ตามข้อตกลงที่กาตาร์ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางการเจรจากับกลุ่มฮามาส
นอกจากการเคลื่อนที่ของผู้คนแล้ว ในยามที่สถานการณ์ปกติ แต่ละวันจะมีรถบรรทุกมากกว่า 500 คันนำความช่วยเหลือและสินค้าต่างๆ เข้าไปในกาซา กระทั่งด่านถูกปิดตายช่วงวันที่ 7-21 ต.ค.หลังการสู้รบปะทุขึ้น และขณะนี้อิสราเอลอนุมัติให้รถบรรทุกสิ่งของช่วยเหลือเข้ากาซาได้แล้ววันละ 100 คัน โดยเหลือเพียง 1 ใน 5 จากจำนวนเดิม ท่ามกลางปัญหาการตรวจสอบที่ล่าช้า ซึ่งเจ้าหน้าที่อียิปต์ระบุว่าเกิดจากฝ่ายอิสราเอล
อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาความเคลื่อนไหวบริเวณด่านราฟาห์ เกี่ยวกับการเดินทางออกจากพื้นที่สงครามของผู้ถือหนังสือเดินทางต่างชาติ และการนำส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในกาซา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ราฟาห์" เส้นทางเดียวหล่อเลี้ยง "คนในกาซา"
อิสราเอลถล่มค่ายผู้อพยพในกาซาเสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน