ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และอดีตแนวร่วมคนอื่น ๆ รวม 21 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือ กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนฯ หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม.เดินทางมาศาลฯ
นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม.เดินทางมาศาลฯ
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 25 พ.ค. - 7 ต.ค.2551 จำเลยซึ่งเป็นแกนนำได้ชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกดดัน ก่อความวุ่นวายให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ลาออก โดยปิดล้อมสถานที่ราชการ, รัฐสภา เพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรี สส.,สว. และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หนึ่งในแกนนำ พธม.
นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หนึ่งในแกนนำ พธม.
วันนี้จำเลยทั้ง 20 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกเว้นนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่า จำเลยทั้งหมดก่อความวุ่นวายและชุมนุมไม่ชอบ พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนัก รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหมดกระทำผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายกฟ้อง
ด้านนายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา หนึ่งในจำเลยในคดีนี้ ได้เปิดเผยหลังศาลอ่านคำพิพากษาว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 7 ตุลาคมปี 2551 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เหตุการณ์ความวุ่นวาย ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการที่ตำรวจใช้กำลังและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม โดยที่ผู้ชุมนุมไม่ทันตั้งตัวและไม่ได้เตรียมการมาเพื่อก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งก่อนเกิดเหตุนั้นการชุมนุมก็เป็นไปด้วยความสงบไม่ได้เกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด อีกทั้งการสลายการชุมนุมไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอน คือ ไม่ได้มีการประกาศเตือน เจรจา หรือใช้รถน้ำ
ส่วนทางโจทก์จะมีการยื่นฎีกาต่อหรือไม่นั้น ตนเห็นว่า สองศาลยกฟ้องแล้วคดีควรจะต้องถึงที่สุดแล้ว แต่มีหนึ่งในผู้พิพากษาที่อยู่ในองค์คณะทำความเห็นแย้ง ก็อาจเป็นข้ออ้างให้พนักงานอัยการยื่นฎีกาได้ ซึ่งจะต้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด เพื่อขอให้พนักงานอัยการไม่ยื่นฎีกา
ส่วนจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากนี้นั้น ปัจจุบันแกนนำก็ได้สลายตัวกันไปหมดแล้ว การชุมนุมทางการเมืองที่จะมีขึ้นในอนาคตนั้น เป็นเรื่องของกลุ่มอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาชนและประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองมามากพอแล้ว
สำหรับคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การชุมนุมของพวกจำเลย เป็นการเเสดงสัญลักษณ์ ปราศรัยที่สมเหตุผล ห้ามปรามไม่ให้ก่อความรุนเเรง ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 63 ได้รองรับไว้ เเละเเม้จะมีการกีดขวางกระทบการจราจรไปบ้าง เเต่ก็เป็นปกติของการชุมนุมเเสดงออกตามสิทธิ การชุมนุมตั้งเเต่วันที่ 5 -7 ตุลาคม 2551 ไม่ปรากฏว่ามีความรุนเเรง หรือมีผู้ใดฝ่าฝืนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย จึงพิพากษายกฟ้อง ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลฎีกายกฟ้อง 6 แกนนำพันธมิตร คดีไล่รัฐบาล "สมัคร" ปี 51
อดีตแกนนำ พธม. "ศิริชัย ไม้งาม" ไม่เสียใจทุกสิ่งที่ทำ