วันนี้ (1 พ.ย.66) นายมนตรี เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงกรณีจากการประชุมของคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอให้พิจารณา เรื่องการให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม โดยระบุว่า ในสถานการณ์ในปีที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะในส่วนของชาวไร่อ้อย เป็นผู้ปลูกอ้อยได้รับผลกระทบ ขาดทุนมาโดยตลอด

ซึ่งในปีนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกดี จึงทำให้โอกาสที่จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้มีมากขึ้น ซึ่งในคณะกรรมการอ้อยหรือคณะส่วนของชาวไร่อ้อย ได้เห็นว่าวันนี้ราคาน้ำตาลตลาดโลกดี จึงจะได้มีการเพิ่มราคาน้ำตาลบริโภคภายในประเทศ เพราะว่าราคาน้ำตาลบริโภคภายในประเทศ ต่ำกว่าราคาน้ำตาลบริโภคของประเทศเพื่อนบ้าน จึงได้มีการกำหนดขึ้นราคาโดยคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย ขึ้นในกิโลกรัมละ 4 บาท

เมื่อขึ้นไปแล้วจะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย มีรายได้เพิ่มขึ้นตันละ 40-50 บาท เป็นการช่วยเหลือชาวไร่สามารถที่จะปลูกอ้อย และอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ได้ เพราะว่าค่าแรงงาน, ค่าใช้จ่าย, ปุ๋ย, ยา ทั้งหมดขึ้นราคาไปมาก นี้คือเหตุผลหนึ่ง แต่ปรากฏว่า กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน ได้นำเสนอให้มีการควบคุมราคาน้ำตาลทรายบริโภคภายในประเทศ โดยมติคณะรัฐมนตรี ไม่ให้ขึ้นราคาน้ำตาล ให้กับไปใช้ในราคาเดิม ซึ่งวันนี้การกลับไปใช้ในราคาเดิม สร้างผลกระทบให้กับชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นรายได้ที่ชาวไร่อ้อยควรจะได้ เพื่อให้เทียบเคียงราคาน้ำตาลตลาดโลก จึงทำให้ชาวไร่อ้อยไม่มีโอกาสที่จะได้ กลายเป็นว่าถ้าจะมีการประกาศราคาอ้อยในฤดูหีบ 66/67 ทำให้ราคาต้นทุนของชาวไร่สูงกว่าราคาน้ำตาลตลาดโลก จะทำให้ชาวไร่อ้อยขาดทุนต่อไปอีก

ขณะที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงเรานั้น มีราคาน้ำตาลทรายสูงกว่าของประเทศไทย ก็จะส่งผลให้น้ำตาล ทะลักออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านแบบผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกองทัพมด ที่พร้อมจะลักลอบส่งออกน้ำตาลเหล่านี้ ไปสู่ประเทศที่บริโภคน้ำตาลแพงกว่าประเทศไทย อนาคตน้ำตาลภายในประเทศก็จะขาดตลาดทันที

ในวันนี้ องค์กรหลักได้มีการพูดคุยใน 4 องค์กร ได้แก่ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ,ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน,สหสมาคมชาวไร่อ้อย แห่งประเทศไทย ,สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, ได้สรุปกำหนดมาตรการขั้นเด็ดขาดด้วยกันปิดโรงงานผลิตน้ำตาลทั่วประเทศ พร้อมกันในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 เพื่อไม่ยอมนำน้ำตาลในส่วนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ในส่วน 70% เพราะหากจำหน่ายไปแล้ว เราก็จะขาดทุน ส่วนน้ำตาลที่เหลืออีก 30% ที่เป็นโคต้าของโรงงานก็จะปล่อยเป็นเรื่องโรงงานเราไม่ยุ่งเกี่ยวหากจะปล่อยไปจำหน่าย

สำหรับการเตรียมปิดโรงงานน้ำตาลครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำตาลในฤดูหีบอ้อย ดังนั้น ข้อเรียกร้องของการปิดโรงงานน้ำตาลในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตอบการแก้ปัญหาที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร

ประการที่สอง เงินจำนวน 8,000 ล้านบาท ที่จะช่วยเหลือการตัดอ้อยปี 2565/66 ตันละ 120 บาทที่ค้างแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะทำเช่นไร ซึ่งการปิดโกดังในครั้งนี้ถือเป็นมาตรการขั้นเด็ดขาดจนกว่าจะได้ข้อสรุปในการช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ชัดเจน ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแล้วนายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต6 ได้เปิดห้องประชุมกับคณะกรรมการบริหารของสมาคมชาวไร่อ้อยเพื่อกำหนดมาตรการและแบ่งหน้าที่ในการเคลื่อนไหวไปยังโรงงานเพื่อปิดโกดังโควต้าส่วน 70% ของสมาคมชาวไร่อ้อยไม่ให้ออกสู่ตลาดในครั้งนี้