ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชิงเดือดเก้าอี้ "บอร์ดประกันสังคม" ใครเป็นใคร ก่อนเลือกตั้ง 24 ธ.ค.นี้

สังคม
1 พ.ย. 66
13:52
16,253
Logo Thai PBS
ชิงเดือดเก้าอี้ "บอร์ดประกันสังคม" ใครเป็นใคร ก่อนเลือกตั้ง 24 ธ.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ใครเป็นใคร ลงสมัครเลือกตั้ง "บอร์ดประกันสังคม" 2566 ขณะที่ สำนักงานประกันสังคม ขยายเวลาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งถึง 10 พ.ย.นี้

ในวันอาทิตย์ที่ 24 ธ.ค.2566 นี้ สำนักงานประกันสังคม เตรียมจัดการเลือกตั้ง "ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง" และ "ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน" เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม หรือ บอร์ดประกันสังคม

การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเปิดให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิเลือกตัวแทนของผู้ประกันตน และนายจ้างกว่า 24 ล้านคนในระบบประกันสังคม ให้เข้าไปทำหน้าที่เสนอความเห็นและนโยบายในการดูแลจัดการบริหาร "กองทุนประกันสังคม" ให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด ได้เป็นครั้งแรก

อ่านข่าว : เช็กขั้นตอนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง "บอร์ดประกันสังคม"

สำหรับ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ ผู้ประกันตน มาตรา 33, มาตรา 39, มาตรา 40 และนายจ้างที่อยู่ในระบบ ประกันสังคม โดยลูกจ้าง 1 คน และนายจ้าง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทน ได้ฝ่ายละ 7 คน

ข้อมูลการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ วันที่ 31 ต.ค. ฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 รวม 399,954 คน จากผู้ที่มีคุณสมบัติสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 12,831,713 คน และฝ่ายนายจ้าง ลงทะเบียนใช้สิทธิแล้ว 2,215 คน จาก 437,074 คน

ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566

ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566

ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566

ใครเป็นใคร ลงสมัครเลือกตั้ง "บอร์ดประกันสังคม" 2566

ในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ มีผู้สมัคร "ฝ่ายผู้ประกันตน" ทั้งนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เข้าร่วมสมัครด้วย เช่น นสพ.บูรณ์ อารยพล หรือ หมอบูรณ์  นักเคลื่อนไหว "กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน" ที่เคยเรียกร้องให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้นำเงินสมทบกรณีชราภาพมาออกมาใช้ในยามวิกฤต ในช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยสมัครรับเลือกตั้งในนาม "กลุ่ม 3 ขอต้องไปต่อ" โดยมีผู้สมัครจำนวน 5 คน

อ่านข่าว : ร้องแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคมนำเงินชราภาพออกมาใช้ดำรงชีพก่อน

นอกจากนี้มี กลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ที่ส่งสมาชิกในเครือข่ายเข้าร่วมสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกันสังคม จำนวน 7 คนในฝั่งของผู้ประกันตน นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์ฯ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ทางกลุ่ม มีเป้าหมายเพื่อยกระดับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33, 39 และ 40 ให้เท่ากัน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ซึ่งมักถูกมองว่าไม่มีนายจ้างคุ้มครอง ทำให้ที่ผ่านมาได้สิทธิประโยชน์ที่ด้อยกว่า 

นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมที่จะมีตัวแทนจากผู้ประกันตนเข้าไปจะช่วยยกเครื่องคำนวนเงินสมทบใหม่ ดูแลการชดเชยการว่างงาน และสวัสดิการด้านสุขภาพ อีกด้วย 

6 ขั้นตอนการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ประกันตน

6 ขั้นตอนการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ประกันตน

6 ขั้นตอนการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ประกันตน

อ่านข่าว : สสรท. ส่ง 7 ผู้ประกันตน ลงสมัครรับเลือกตั้ง บอร์ดประกันสังคม

และอีกหนึ่งในผู้สมัครเป็นบอร์ดผู้ประกันตน คือ น.ส.สุนทรี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ​ ในฐานะแรงงานนอกระบบ โดย ระบุว่า ต้องการให้สิทธิประโยชน์ของทุกมาตราเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะ มาตรา 40 เป็นข้อเสนอขององค์กรแรงงานนอกระบบตลอดมา คือ การคุ้มครองหญิงแรงงานนอกระบบหลังคลอด ซึ่งควรได้รับค่าชดเชยไม่ต้องทำงานอย่างน้อย 3 เดือน ให้ได้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และเรื่องการประกันการว่างงานสำหรับแรงงานนอกระบบ

อีกคนคือ อ.อรอนงค์ นิธิภาคย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร​ สถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ที่ลงสมัคร​รับเลือกตั้งเป็นบอร์ดผู้ประกันตน ระบุหากได้เข้าไปเป็นบอร์ดฯ จะเลือก การลงทุนทางตรงกับผู้ประกันตน โดยเฉพาะเรื่องของธนาคารแรงงาน เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยตรง

สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ผู้ที่จะใช้สิทธิในการเลือกตั้งบอร์ด ผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 ซึ่งจะต้องลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ เลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมผ่านทาง www.sso.go.th หรือ ติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ได้จนถึงวันที่ 10 พ.ย.2566 นี้ 

ขั้นตอนการลงทะเบียนนายจ้างใช้สิทธิเลือกตั้งฯ บอร์ดประกันสังคม

ขั้นตอนการลงทะเบียนนายจ้างใช้สิทธิเลือกตั้งฯ บอร์ดประกันสังคม

ขั้นตอนการลงทะเบียนนายจ้างใช้สิทธิเลือกตั้งฯ บอร์ดประกันสังคม

 ความสำคัญของ "บอร์ดประกันสังคม" 

สำหรับคณะกรรมการประกันสังคม มีความสำคัญ และไม่ควรที่จะมองข้าม ซึ่งจะเป็นตัวแทนของผู้ประกันตนเข้าไปดูแล "กองทุนประกันสังคม" ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่สุดของประเทศ โดยมีบทบาทอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 

  • เสนอความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคม
  • วางระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
  • พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ
  • พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานประกันสังคม
  • ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน
  • ปฎิบัติการอื่นตามที่กฎหมาย หรือตามที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมอบหมาย

ฉะนั้นใครที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ก็อย่างลืมเข้าไปลงทะเบียนกัน นั้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชาชนผู้จ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคมจะได้เข้าคูหาเลือกตัวแทนที่จะมาจัดการเงินกองทุนนี้โดยตรง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกคน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ร้องแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้เบิกเงินกองทุนชราภาพมาใช้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง