ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปนเปื้อน เดอะซีรี่ส์ EP.1 คดีสิ่งแวดล้อม "มหากาพย์ 23 ปี"

สิ่งแวดล้อม
31 ต.ค. 66
14:01
834
Logo Thai PBS
ปนเปื้อน เดอะซีรี่ส์ EP.1 คดีสิ่งแวดล้อม "มหากาพย์ 23 ปี"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ปนเปื้อน เดอะซีรี่ส์

ปนเปื้อน เดอะซีรีส์ EP.2 หลุมฝังกลบ "ชุมชนหนองพะวา" ยุติธรรมไม่มีจริง

ปนเปื้อน เดอะซีรีส์ EP.3 "ขยะอันตราย" ผู้ก่อมลพิษ ต้องรับผิดชอบ

ความสูญเสียราคาแพง จากโรงงาน "แว็กซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล" ... ชนะคดีแต่ไม่ได้เงินเยียวยา - ใช้เงินหลวงกำจัดของเสียอันตราย คดีมหากาพย์ 23 ปี

"59 ล้านบาท" คือ ราคาที่รัฐต้องจ่ายไปก่อนเบื้องต้น เพื่อนำของเสียอันตรายอย่างน้อยกว่า 13,000 ตัน ออกจากโรงงาน แว็กซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ออกไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ หลังโรงงานรีไซเคิลแห่งนี้ถูกร้องเรียนว่าสร้างผลกระทบให้พื้นที่โดยรอบมากว่า 23 ปี เพราะนำของเสียอันตรายมาลักลอบทิ้งและฝังกลบในบริเวณโรงงาน โดยมีการนัดประชุมแผนการขนย้ายในวันที่ 30 ต.ค.2566

เงินจำนวนนี้ คือ งบประมาณที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรมยื่นเสนอขอคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติงบกลางลงมา เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานรีไซเคิลแห่งนี้ก่อน เนื่องจากตัวโรงงานเอง อ้างว่า ไม่มีศักยภาพที่จะนำของเสียอันตรายเหล่านี้ไปกำจัดได้ เพราะโรงงานล้มละลายไปแล้ว

ธนู งามยิ่งยวด เคยเป็นเจ้าของสวนลำไยกว่า 100 ไร่ ในที่ดินของตัวเอง แต่ละปีจะมีกำไรจากการซื้อขายและส่งออกลำใยปีละประมาณ 2 ล้านบาท เมื่อปี 2543 มีโรงงานรีไซเคิลมาตั้งอยู่ที่ต้นน้ำ ห่างจากสวนลำไยประมาณ 400 เมตร น้ำในห้วยเริ่มมีฟองสีขาว ส่งกลิ่นเหม็น ตรวจพบมีการปนเปื้อนสารเคมีทั้งในน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน ในที่สุดต้นลำไยได้ทยอยตายลงจนหมด

บริษัท แว็กซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ ได้รับใบอนุญาตให้เปิดกิจการในปีเดียวกันกับที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ คือ ปี 2543 มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ถึง 9 ใบ โดยมี 5 ใบ เป็นโรงงานลำดับที่ 106 หรือที่เรียกกันว่า "โรงงานรีไซเคิล" ซึ่งชาวบ้านพบว่า โรงงานแห่งนี้ประกอบกิจการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับสีทาบ้าน และอาจไม่ได้มีกระบวนการรีไซเคิลจริง

"ของเสียจำนวนมากกลับถูกฝังกลบอยู่ใต้ดิน จากนั้นก็เทปูนทับลงไปพร้อมสร้างหลังคาขึ้นมาปกคลุมคล้ายเป็นโรงเรือนไม่ให้ถูกมองเห็นได้จากด้านบน แต่หากเดินเข้าไปดูในโรงงานก็จะพบว่า พื้นปูนใต้หลังคาที่คลุมไว้มีลักษณะเป็นคลื่น ไม่ราบเรียบ และไม่ได้ประกอบกิจกรรมใดๆ ในโรงเรือน" ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ทุกคน ให้ข้อมูลตรงกัน

ต่อมาผลกระทบเริ่มขยายออกไปในวงกว้างเพิ่มขึ้น ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกือบทั้ง ต.น้ำพุ ตัดสินใจรวมตัวกันฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ซึ่งต่อมากลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะเป็นคดีทางสิ่งแวดล้อมคดีแรกที่ประชาชนชนะคดีจากการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม เมื่อปี 2563... แต่ผลที่ตามมา กลับไม่ใช่ชัยชนะที่สวยงาม

ธนู ในฐานะเจ้าของสวนลำไยกว่า 100 ไร่ ได้ประเมินความเสียหายร่วมกับทีมทนายความ เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากโรงงานไปเป็นเงินจำนวน 16 ล้านบาท

แม้ ธนูจะเป็นผู้ชนะในคดีนี้ แต่ศาลมีคำพิพากษาให้โรงงานจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท เนื่องจากไม่เคยมีตัวอย่างและหลักเกณฑ์การประเมินค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ศาลจึงไปนำหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาความเสียหายจากภัยแล้งมาเป็นหลักในการพิจารณา

"ชนะคดีมา 3 ปีแล้ว ศาลพิพากษาให้โรงงานจ่ายค่าเสียหายให้แค่ 600,000 บาท จากที่เรียกไป 16 ล้านบาท โรงงานยังไม่เคยจ่ายแม้แต่บาทเดียว หลายปีผ่านมา สวนลำไยเสียหายมาก ทำให้ขาดรายได้ จึงเปลี่ยนรูปแบบเอาพื้นที่ไปทำกิจกรรมให้คนมาเที่ยว ก็ไม่มีใครมาเพราะเหม็นสารเคมี ขายที่ดินก็ไม่มีใครซื้อ สิ่งที่ทำได้เพียงการขายอุปกรณ์ เครื่องมือหากินไปทีละชิ้น จนทุกวันนี้ก็ต้องขายสมบัติเก่าๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อให้มีเงินใช้ในแต่ละวัน"

ธนู บอกว่า ในฐานะเป็นผู้เสียหายและได้รับผลกระทบจากโรงงานที่ลักลอบทิ้งของเสีย และยังเป็นชาวบ้านที่ลุกขึ้นสู้ รวมตัวกันฟ้องร้องกันเอง เป็นกลุ่มคนที่ชนะคดีไปแล้วด้วย แต่สิ่งที่ได้รับ คือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย ดิน น้ำ อากาศยังปนเปื้อนเหมือนเดิม ไม่ได้รับการเยียวยา ของเสียก็ยังอยู่ที่เดิม จึงหวังว่าที่กรมโรงงานฯ ไปขอเงินรัฐบาลมาได้ จะช่วยกำจัดของเสียพวกนี้ออกไปได้จริงๆ

แต่ .. งบประมาณ 59 ล้านบาทที่นำมากำจัดของเสียอันตรายราว 13,000 ตันนี้ จะกำจัดไปได้แค่เพียงของเสียที่มองเห็นบนดินเท่านั้น เช่น ถังขนาด 200 ลิตร กว่า 58,000 ใบ / ถัง 1,000 ลิตร กว่า 900 ใบ / ปิ๊ป / ถุงบิ๊กแบ็ก / ดินที่ปนเปื้อน ....ยังไม่รวมสิ่งที่อยู่ใต้ดิน

จินดา เตชะศรินทร์ ผอ.กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า งบประมาณกว่า 59 ล้านบาทที่กรมโรงงานฯ ไปขอมาจากคณะรัฐมนตรี จะถูกใช้เพื่อนำของเสียอันตรายชุดแรกออกไปกำจัด เป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ก่อน จากนั้นก็จะดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้คือจากทางโรงงาน ในฐานที่เป็นผู้ก่อมลพิษ โดยได้หารือกับทางอัยการแล้วว่า ในการฟ้องร้องจะต้องเรียกค่าเสียหายมากกว่าค่ากำจัดของเสียอันตราย เพราะต้องบวกค่าดำเนินการ

กรมโรงงานฯ ต้องส่งเจ้าหน้าที่และนักวิทยาศาสตร์ลงไปติดตามตรวจสอบการประเมินราคาค่ากำจัดของเสีย ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปการขนย้ายของเสียไปกำจัดแล้ว จะสรุปตัวเลขที่ต้องฟ้องเรียกคืนเงินให้กับรัฐต่อไป

ส่วนของเสียอันตรายที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน ผอ.กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม บอกว่า กรมโรงงานฯ กำลังหารือกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และอาจต้องหารือเพิ่มเติมกับกรมทรัพยากรธรณี เพื่อตั้งงบประมาณเพิ่มสำหรับการขุดเจาะสำรวจในบริเวณนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีค่าดำเนินการขุดเจาะอีกประมาณ 15 ล้านบาท ซึ่งจะต้องไปดูอีกว่าจะใช้งบประมาณจากแหล่งไหน

หลังจากนั้นจึงจะประเมินได้ว่าจะต้องใช้เงินอีกเท่าไหร่ในการนำของเสียอันตรายที่อยู่ใต้ดินออกไปกำจัด ซึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องยื่นฟ้องเรียกคืนจากโรงงานอีกในรอบถัดไป

จากการติดตามสถานการณ์ของธนู ผู้นำชุมชน และเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ ซึ่งร่วมกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดของเสียอันตราย เพื่อตรวจสอบการสำรวจก่อนการขนย้ายของเสียอันตราย

มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า เมื่อทดลองเจาะลงไปตามจุดต่างๆ ที่มีร่องรอยการฝังกลบพบทุกจุดมีของเสียอันตรายบรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็กถูกฝังอยู่ ส่วนมากมีลักษณะเป็นฝุ่นทราย มีสีแดง และมีราคาค่ากำจัดอยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อตัน หรือกล่าวได้ว่า มีราคาค่ากำจัด "แพงกว่า" ของเสียที่ไม่ได้ถูกฝังกลบไว้

หมายความว่า หากจะกำจัดของเสียอันตราย จาก "แว็กซ์ กาเบ็จ" ให้หมดไปก่อน รัฐอาจต้องใช้งบประมาณอีกหลายสิบล้านบาทมาดำเนินการไปก่อน แล้วค่อยไปฟ้องร้องเรียกคืนจากโรงงานในภายหลัง

วันที่ 30 ต.ค.2566 มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรงงานแว็ก กาเบ็จ ซึ่งประชุมเป็นครั้งที่ 4 แล้ว เพื่อสรุปแผนการขนย้ายของเสียอันตรายที่อยู่บนดินออกไปก่อนในรอบแรก แต่ยังพบปัญหาว่า ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องไปขอหมายศาลเพื่อให้เอกชนที่รับหน้าที่นำของเสียไปกำจัดสามารถเข้าไปขนย้ายออกจากโรงงานได้ เพราะที่ผ่านมายังมีความพยายามของทางโรงงานที่จะยับยั้งการขนย้ายมาโดยตลอด

แม้ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรงงานแว็กซ์ กาเบ็จ จะถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่องในหลายช่องทาง แต่ในทางกลับกัน ธนู ย้ำว่า ยังไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ของเสียอันตรายยังไม่เคยถูกนำไปกำจัด ชาวบ้านได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะการปนเปื้อนในช่วงที่ฝนตก

23 ปี มหากาพย์การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานรีไซเคิล แว็กซ์ กาเบ็จ จึงเริ่มต้นด้วยการสิ้นเนื้อประดาตัวของประชาชนที่อยู่ใกล้โรงงาน พวกเขาเป็นเหยื่อให้กลุ่มคนที่ลักลอบทิ้งของเสียอันตรายได้ร่ำรวยด้วยการลดต้นทุนค่ากำจัดของเสีย...

แต่บทเรียนที่มีราคาแพงที่สุด ที่หน่วยงานของรัฐควรจะได้ค้นพบจากการละเลยจนทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาได้อย่างยาวนาน คือ การปนเปื้อนของเสียอันตราย ซึ่งมีราคาแพงลิบลิ่วและไม่มีวันแก้ไขได้ ชาวบ้านที่ชนะคดีความไม่สามารถกลับมามีชีวิตที่มีความสุขได้อีก, ดิน น้ำ อากาศ กลับมาไม่ได้เหมือนเดิม, โรงงานผู้ก่อมลพิษหนีความรับผิดชอบมหาศาลได้ด้วยเพียงคำว่า "ไม่มีเงิน"

และสุดท้าย หากหน่วยงานรัฐจะคืนความเป็นธรรมให้ประชาชนผู้เดือดร้อนได้บ้างก็ต้องใช้ "งบประมาณของรัฐ" โดยไม่มีหลักประกันใดๆ สามารถบอกได้ว่า การดำเนินคดีจะทำให้รัฐได้เงินส่วนนี้คืนมา

ที่สำคัญ คือ โรงงานรีไซเคิลที่ จ.ราชบุรี เป็นแค่หนึ่งในอีกหลายจุดที่กำลังจะเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันตามมาในอนาคตอันใกล้ เพียงเพราะคำว่า "ละเว้น" ที่ถูกปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน

รายงานโดย: สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง