ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ป่วยเพิ่ม “ฝีดาษลิง” สัปดาห์เดียวติดเชื้อ 24 คน

สังคม
30 ต.ค. 66
14:38
1,383
Logo Thai PBS
ป่วยเพิ่ม “ฝีดาษลิง” สัปดาห์เดียวติดเชื้อ 24 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถานการณ์ฝีดาษลิง น่าห่วงสัปดาห์เดียวพบผู้ป่วยรายใหม่ 24 คน ตาย 1คน ติดเชื้อเอชไอวีร่วม ทำผิวหนังตาย ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ไตวาย หัวใจล้มเหลว วอนงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า

สถานการณ์ฝีดาษวานร น่าห่วง รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยมากขึ้น 24 คน เสียชีวิต 1 คน เป็นผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีร่วม ทำผิวหนังตาย และติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน วอนงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า


วันนี้ (30 ตุลาคม 2566) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย (ข้อมูล วันที่ 28 ตุลาคม 2566) พบ ผู้ติดเชื้อรวม 559 คน เสียชีวิต 1 คน (ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง) แบ่งเป็นชาวไทย 503 คน ชาวต่างชาติ 52 คน และไม่ระบุสัญชาติ 4 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ 474 คน ในจำนวนนี้ รู้ตัวติดว่า เชื้อ HIV 274 คน คิดเป็นร้อยละ 44.18 หากแบ่งตามกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 30-39 ปี จำนวน 241 คน ,อายุ 20-29 ปี จำนวน 172 คน


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 24 คน เป็น คนกรุงเทพ 9 คน , เชียงใหม่ และ นนทบุรีจังหวัดละ 3 คน ภูเก็ต 2 คน และ นครปฐม ชลบุรี ปทุมธานี ปราจีนบุรี สระบุรี อุดรธานีและอุบลราชธานีจังหวัดละ 1 คน ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยเอชไอวีติดฝีดาษวานรเสียชีวิต 1 คน เป็นชายไทย อายุ 24 ปี เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีและขาดยามา 3 ปี ระดับเม็ดเลือดขาว CD4 เท่ากับ 3 เซลล์ต่อมิลลิลิตร เริ่มป่วยตั้งแต่ 25 ส.ค. 66 และไปรับ การรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งด้วยอาการไข้ อ่อนเพลีย มีผื่นใบหน้า หลัง มือ บริเวณอวัยวะเพศ และต่อมาวันที่ 12 ก.ย.66ได้รับการส่งต่อมารักษาที่สถาบันบำราศบำราศนราดูร เนื่องจากมีอาการรุนแรง ผิวหนังตายบริเวณที่จมูก แผ่นหลัง และนิ้วมือ และมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนัง

เนื่องจากผู้ป่วยเอชไอวีรายนี้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องพบการแพร่กระจายของเชื้อฝีดาษวานรไปที่ปอดทำให้เกิดปอดอักเสบ และมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่เกิดจากเชื้อซีเอ็มวี (Cytomegalovirus; CMV) แม้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา tecovirimat นาน 28 วัน ร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษาโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่ตรวจพบ แต่ยังมีการตายของเนื้อเยื่อเป็นบริเวณกว้างขึ้น ต่อมามีภาวะไตวายและระบบการหายใจล้มเหลวจนเสียชีวิตในที่สุด

สำหรับอาการของโรคฝีดาษวานรที่พบบ่อยได้แก่ มีผื่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และอาการคัน สำหรับการรักษานั้น หากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย จะรักษาตามอาการ และสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีโรคประจำตัวร่วม เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะให้ยาต้านไวรัส Tecovirimat (TPOXX) ซึ่งผลการรักษาส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้น แต่มีบางรายที่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรงจะเสียชีวิต

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขกระจายยาต้านไวรัสดังกล่าวไปที่โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดที่พบการระบาด และย้ำว่าโรคนี้สามารถป้องกันได้ หากหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ งดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง