หลังการประชุมใหญ่วิสามัญ ของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 27 ต.ค.2566 หนึ่งในวาระสำคัญ นอกจากการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคฯ และการประกาศผลการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ และเป็นไปตามคาดที่พรรคมีมติเลือก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายสรวงศ์ เทียนทอง
ขณะที่ตำแหน่ง "เลขาธิการพรรค" เป็น "นายสรวงค์ เทียนทอง" ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน ลูกชายคนโตของ "ป๋าเหนาะ" หรือ นายเสนาะ เทียนทอง ซึ่งปัจจุบันอายุ 89 ปี
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเสนาะ เทียนทอง
นายเสนาะ เจ้าของหลายฉายา เช่น "เจ้าพ่อวังน้ำเย็น" และ "ผู้จัดการรัฐบาล" มีบทบาทสนับสนุนให้หัวหน้าพรรคการเมืองก้าวขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรี ถึง 3 คน คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ ทักษิณ ชินวัตร
การเลือกนายสรวงค์ ให้ยืนเคียงข้าง น.ส.แพทองธาร สะท้อนถึงความใกล้ชิดระหว่าง 2 ตระกูล
อ่านข่าว : มติเพื่อไทย เลือก "แพทองธาร" หัวหน้าพรรคคนใหม่
นายเสนาะ เทียนทอง
"บอย สรวงศ์ - ลูกป๋าเหนาะ"
"สรวงศ์ เทียนทอง" ชื่อเล่น "บอย" เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2518 ปัจจุบันอายุ 48 ปี เป็นบุตรคนโตของ นายเสนาะ กับนางอุไรวรรณ เทียนทอง
สรวงศ์ คือ สส.สระแก้ว เขต 3 พรรคเพื่อไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศจาก Johnson Wales University ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประสบการณ์การทำงานการเมือง
- ในปี 2548 นายสรวงศ์ ได้รับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.สระแก้ว ครั้งแรก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป สังกัด "พรรคไทยรักไทย"
- ปี 2550 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในสังกัด "พรรคพลังประชาชน" ซึ่งมีนายเสนาะ เทียนทอง บิดาเป็นหัวหน้าพรรค
- ปี 2554 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ในสังกัด "พรรคเพื่อไทย"
- ปี 2556 รับตำแหน่งเป็น รมช.สาธารณสุข ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แทน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
- ปี 2557 ในเดือน พ.ค. ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ปฏิบัติหน้าที่ รักษาราชการแทน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร แทน นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งในระหว่างรักษาการ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
- ปี 2562 ลงสมัครเลือกตั้งในจังหวัดสระแก้วในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป สังกัดเพื่อไทยอีกครั้ง แต่นายสรวงศ์ไม่ได้รับเลือกตั้ง
- ปี 2566 นายสรวงศ์ ลงรับสมัครเลือกตั้งใน จ.สระแก้ว ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป สังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง และล่าสุดได้รับเลือกเป็น เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ทำหน้าที่เป็น หัวหน้าพรรคคนใหม่
หลังได้รับเลือกเป็น "เลขาธิการพรรคเพื่อไทย" คนใหม่ นายสรวงศ์ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เจาะลึกประเด็นร้อน" ทาง FM100.5 กับบทบาท "เลขาธิการพรรค คนใหม่ ว่า วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเป็นคนรุ่นตนที่จะเข้ามา บริหารงานและสานงานต่อ รวมถึงคิดในสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้พรรคแข่งแกร่งขึ้น
การเป็นเจนเนอร์เรชันของนักการเมืองมีความได้เปรียบ เช่น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ตั้งแต่ติดตามนายทักษิณ ชินวัตร มาทำงานการเมืองในยุคก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และเปิดตัวเป็นทำงานการเมืองอย่างเป็นทางการ ในฐานะที่ปรึกษาพรรค จากนั้นก้าวเข้ามาทำหน้าที่ "หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย" และเมื่อลงสนามเลือกตั้ง ปี 2566 ในนาม "แคนดิเดทนายกฯ" จนปัจจุบันเป็นหัวหน้า "พรรคเพื่อไทย" ซึ่งมองว่าทุกอย่างเป็นไปตามสเต็ป
อ่านข่าว : “แพทองธาร” ผงาดหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คนที่ 8
นายสรวงศ์ กล่าวว่า คนที่อยู่ในครอบครัวแวดวงการ เมืองมาก่อน สิ่งที่เจอและซึมซับ คือความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่ในสายตาตลอด ก่อนที่จะเข้ามาเป็น สส. สมัยแรก คิดอยากทำหลายเรื่อง แต่พอเข้ามาแล้วติดหลายเรื่อง เราแค่เป็นฟันเฟืองหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย
วัยของพวกผมคือวัยทำงาน เป็นวัยที่เห็นความแตกต่างระหว่างรุ่นต่อรุ่น แล้วนำมาปฎิบัติได้ ซึ่งมองว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว มองว่าไม่ใช้เรื่องของอายุ แต่เป็นเรื่องมุมมองทางการเมือง รวมไปถึงคุณสมบัติของแต่ละคนมากกว่า
ส่วนที่มีคนพูดว่า ทักษิณ สั่งการลงมาจากชั้น 14 นายสรวงศ์ กล่าวว่า ห้ามคนพูดไม่ได้ ห้ามคนคิดไม่ได้ แต่ผมมีหน้าที่อย่างเดียวคือพิสูจน์ผลงาน ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และทำผลงานออกมาพิสูจน์ตนเองว่า สิ่งต่าง ๆ ที่พูดกันมันไม่ใช้ความจริง ลบคำสบประมาทต่าง ๆ ว่าได้มาเพราะเป็นลูกคนนั้นคนนี้
ทรัพย์สิน "สรวงศ์"รวย 932 ล้านบาท
นายสรวงศ์ แจ้งมีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง(ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของตนเองและภรรยา รวมถึงบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยมีทรัพย์สิน 932 ล้านบาท หนี้สิน 75,999 บาท โดยแจ้งรายได้ต่อปีเป็นค่าตอบแทนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการบริษัท 144,000 บาท
ขณะที่รายจ่ายต่อปี ค่าเบี้ยประกันภัยค่าที่อยู่อาศัยค่าใช้จ่ายส่วนตัว รวมทั้งค่าเล่าเรียนบุตร ที่ต้องจ่ายร่วมกับ คู่สมรส รวม 5.9 ล้านบาท จำนวน 4 บริษัท แบ่งเป็น เงินสดรวมคู่สมรส 800,000 บาท
เงินฝาก รวมคู่สมรส 7 บัญชี รวม 27 ล้านบาท ที่ดินรวมคู่สมรส 79 แปลง มูลค่ารวม 499 ล้านบาท บ้านเดี่ยวรวมคู่สมรสและบุตร 4 หลัง และห้องชุด 1 หลัง มูลค่ารวม 194 ล้านบาท
และยังมีการลงทุน 11 บริษัท มูลค่ารวม 17 ล้านบาท รถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมคู่สมรส 11 คันรวมมูลค่า 9.6 ล้านบาท ประกันชีวิต 22 เล่ม ของตนเองและบุตร มูลค่ารวม 130 ล้านบาท
อ่านข่าวอื่น ๆ
คาดสัปดาห์หน้า นายกฯ เคาะกลุ่มคนได้เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท
“แพทองธาร” ย้ำแนวทางเพื่อไทย “ตายังดูดาว เท้ายังติดดิน”
ถอดนัย"เศรษฐา"ส่งไม้ต่อการเมือง "แพทองธาร"เหมาะนั่งนายกฯ
จับกระแสการเมือง : 27 ต.ค.66 “อุ๊งอิ๊ง” กุมบังเหียนเพื่อไทย ก้าวต่อไปนายกฯคนใหม่ ?