ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฮาโลวีนทั้งชีวิต "หมอนิติเวช" อาชีพพูดแทนคนตาย

สังคม
30 ต.ค. 66
11:18
2,589
Logo Thai PBS
ฮาโลวีนทั้งชีวิต "หมอนิติเวช"  อาชีพพูดแทนคนตาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

Trick or Treat เทศกาลหลอกผี แต่ผีไม่หลอก สำหรับอาชีพ “หมอนิติเวช” ที่ต้องทำหน้าที่ ค้นหาปริศนา สาเหตุการตาย แทนศพที่พูดไม่ได้ แต่ความจริงต้องเปิดเผย

อ.พญ.หทัยชนก พึงเจริญพงศ์ สาขาวิชานิติเวชวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าประสบการณ์ทำงานว่า สนใจงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นรูปแบบการของการทำงาน ที่ตรงไปตรงมา ร่างของผู้เสียชีวิตบอกความจริง ปราศจากบิดบัง สามารถใช้ตามอง และใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์พิสูจน์  แตกต่างจากการรักษาคนไข้ที่ต้องรอให้คนไข้ เปิดใจเล่าข้อมูลโดยไม่ปิดบัง จึงจะสามารถวินิจฉัยรักษาโรคได้ตรงกับอาการป่วย

ไม่ใช่ทุกศพต้องผ่าตรวจชันสูตร การทำงานของหมอนิติเวช และอยู่ภายใต้ กฎหมาย ป.วิ อาญา ม.148 และมีการแบ่งประเภทคดี เช่น ศพที่ตายผิดธรรมชาติ ถูกทำให้ตาย , ตายด้วยอุบัติเหตุ ถูกสัตว์ทำให้ตาย กับ ผู้ป่วยคดี ตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน เพื่อบอกสาเหตุ และพฤติการณ์การตาย

แสงสว่าง "พิสูจน์" ความจริง

อ.พญ.หทัยชนก กล่าวว่า ภาพการทำงานของแพทย์นิติเวช ต่างจากซีรีย์เกาหลี กระบวนการหาความจริง มีทั้งการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อหาเบาะแสข้อมูล ตั้งแต่รอยเลือดที่กระเซ็นปรากฏ  เป็นของใคร เพื่อบอกจุดเกิดเหตุ เชื่อมต่อ การต่อสู้ หรือการทำร้าย ว่าเริ่มที่จุดไหน ส่วนร่างผู้ตาย จะถูกนำมาผ่าพิสูจน์หาความจริง ในที่สว่างไม่ใช่ไฟสลัว เพราะต้องเก็บรายละเอียด ด้วยสายตาที่มองเห็น ไม่ให้หลุดข้อมูลสำคัญ เช่น  กรณีถูกฟันนับสิบแผล หรือ ถูกยิง จุดไหน คือ จุดตาย และวิถีกระสุนในลักษณะใด เป็นสาเหตุของการตาย รอยแผลบนร่างกาย เข้ากับ อาวุธชนิดใด หากในที่เกิดเหตุมีมีดหลายเล่ม  หรือ ปืน หลายกระบอก และเพื่อความมั่นใจหรือไขข้อสงสัยก็จะใช้กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ เช่น การเก็บดีเอ็นตรวจ การย้อมสีชิ้นเนื้อ

การผ่าศพ เพื่อให้มั่นใจ ว่าไม่ใช่ฆาตกรรมอำพราง ใช้แพทย์นิติเวช อย่างน้อย 5 คน ช่วยกันสังเกต ไม่ให้ข้อมูลหลุดหาย ทำตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตรงหน้า บางร่างใช้เวลาไม่นาน ทำอย่างตรงไปตรงมา แต่ที่ใช้เวลามากคือ ศพที่ถูกยิง เพราะต้องหาว่าจุดไหนคือ จุดตาย และวิถีกระสุนเข้าออกทิศทางไหน

เชื่อ "หลักฐาน" ไม่ใช่วิญญาณ

อ.พญ.หทัยชนก เล่าว่า ส่วนตัวไม่มีเซนส์ แต่เชื่อว่า วิญญาณมีจริง การทำงานต้องไม่ปรุงแต่งจิตใจ มองร่างผู้ตาย ว่า ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นคนปกติ หากป่วยพบแพทย์ แต่เมื่อเสียชีวิตผิดปกติต้องหาความจริง ส่วนเรื่องวิญญาณออกจากร่างแล้วมาติดตาม เหมือนในละคร  ส่วนตัวคิด ว่า แพทย์นิติเวชแค่ทำหน้าที่ ไม่ได้มีอะไรสำคัญพิเศษ วิญญาณก็คงไปตามหาญาติ ตามคนที่รัก ที่คิดถึง หรือไม่ ตามคนร้าย

ส่วนข้อมูลจากญาติคนตายที่ ระบุว่า ผู้ตายมาเข้าฝันบอกเรื่องราวการตาย  ส่วนตัวยังไม่เจอ แต่จะเป็นการซักถามเพื่อนำข้อมูลมาประกอบ เช่น มีอะไรน่าสงสัย มีศัตรูหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบ แต่จะไม่นำข้อมูลความฝัน  “ผีมาบอก”เป็นตัวตัดสิน เพราะกระบวนการหาความจริงทางกฎหมายใช้หลักฐานจากการชันสูตร ไม่ได้ให้น้ำหนักของวิญญาณ และยังมีวิทยาศาสตร์มาร่วมไขคดี ตั้งแต่ การแข็งตัวของศพ การตกตะกอนของเลือด เพื่อบอกช่วงเวลาการเสียชีวิต

ความเข้าใจผิดเรื่องผีเกิดขึ้น ได้จากการให้เวลาการตายคลาดเคลื่อน เช่น การแข็งตัวของศพ บางครั้งร่างที่ข้อหรือเส้นเอ็นแข็งตัวเร็ว จากการใช้ยาบางชนิด หรือ มีไข้ แต่ป้าข้างบ้านบอก เพิ่งเห็นผู้ตายเดินออกจากบ้าน กลายเป็นวิญญาณมาปราฎตัว 

"ศพเน่า-ถูกแทง"ผ่ายากที่สุด

อ.พญ.หทัยชนก กล่าวว่า ปกติของการผ่าศพก็เพื่อดูความปกติของอวัยวะภายใน ว่าเกิดจากการถูกทำร้าย หรือ มีรอยโรคอะไร แต่มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ความผิดปกติจากการทำงานของอวัยวะไม่สามารถบอกไม่ได้ หรือ เซลล์ในร่างกายเปลี่ยน มีเกลือแร่ผิดปกติ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดก่อนหรือหลังการเสียชีวิต เช่นเดียวกับ กรณีศพเน่า การหาความจริงยิ่งยาก เช่น ศพถูกแทงและเน่า ถือว่าผ่ายากที่สุด เพราะความเน่า บาดแผลไม่รู้ว่าจุดไหน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด 

ลักษณะการเน่าของศพ วันแรก หน้าท้องจะมีลักษณะเขียว ,วันที่ 2 มีรอยเส้นเลือดเน่า ปรากฎบนใบหน้า ,วันที่ 3 วัน ตาถลนลิ้นจุกปาก เพราะแบคทีเรียในร่างกาย สร้างแก๊สขึ้นมาไม่ใช่เพราะถูกบีบคอ หรือ ผูกคอตาย,ส่วนวันที่ 4 ดวงตาเริ่มยุบเข้าไปในเบ้าตา และวันที่ 5  เริ่มเห็นกระดูกบนใบหน้า ทั้งนี้สภาพอากาศก็มีผลให้ทำศพเน่าเร็วขึ้น เช่น ฤดูร้อน  

ผีไม่น่ากลัวเท่าคน

ส่วนคดีที่น่ากลัว ชวนสลดหดหู่ อ.พญ.หทัยชนก เล่าว่า คงหนีไม่พ้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ระหว่างสามี ภรรยา บางคนต้องมาจบชีวิตด้วยน้ำมือของคนรัก หากค้นข้อมูลประวัติก่อนเสียชีวิต พบว่าในครอบครัวมีการกระทบกระทั่ง เริ่มจาก ต่อว่า ด่าทอ จากนั้นทำร้าย เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ขว้างของ บ่อยขึ้น เริ่มรุนแรง ลงมือตบตี จนเสียชีวิต เป็นลักษณะความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (toxic relationship) หากมีใครสักคนเข้าไปหยุดพฤติกรรมรุนแรง หรือ กล้าที่จะก้าวออกมา ไม่ยอม ไม่ปล่อยให้คนรักทำร้าย เหตุการณ์เช่นนี้ก็ไม่เกิดขึ้น

ถ้าออกมาความสัมพันธ์นั้นได้ ก็จะไม่ต้องจบชีวิตแบบนั้น  คนรักทำร้าย หรือการยอมไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องถูกต้อง เป็นความน่ากลัวของจิตใจมนุษย์ ทั้งคนกระทำ และคนที่ยอมถูกกระทำ

หลักธรรมะ ขจัดการปรุงแต่ง

อ.พญ.หทัยชนก กล่าวว่า ทุกการทำงานมีผ่านมา มีเรื่องราวของคนตายให้พบเห็น ใช้หลักธรรมเรื่องการปล่อยวาง ตั้งอยู่ ดับไป ทำให้การทำงานราบรื่น และไม่มีอุปสรรคกับการใช้ชีวิต เจอศพไฟไหม้ ยังทานหมูกระทะได้ ผ่าศพเห็นเครื่องใน ก็ยังทานเครื่องในสัตว์ได้ ความคิดสามารถแยกแยะ และวางได้ แต่ยัง มีบางเรื่องที่เป็นความเชื่อส่วนบุคคล  เรื่องการทำงาน ของแพทย์นิติเวช คือ เรื่องสีประจำวัน หากวันไหนทีมใส่ผิดสี อาจเจอคดีมากกว่าปกติ และต้องผ่าศพหลายเคส

เพราะเบื้องหลังความตายไม่มีใครรู้ แต่ที่ต้องรู้คือสาเหตุการตาย การไขปริศนาจากศพ จึงไม่อาจนำความเชื่อมาตัดสิน และผีก็ไม่เคยฆ่าคน เท่ากับ คน ฆ่าคนด้วยกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

“ฮาโลวีน 2023” กับเทศกาลผีนานาชาติ “พูด ผี-ปีศาจ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง