ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือนภัย "วันฮาโลวีน" มิจฉาชีพหลอกล้วงข้อมูลอ้างแจกของ

อาชญากรรม
30 ต.ค. 66
09:27
4,739
Logo Thai PBS
เตือนภัย "วันฮาโลวีน" มิจฉาชีพหลอกล้วงข้อมูลอ้างแจกของ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยมิจฉาชีพ "วันฮาโลวีน" หลอกลวงแจกของ-ขายสินค้าอ้างโปรโมชัน นำข้อมูลส่วนตัว เบอร์โทรศัพท์ เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเดบิต-บัตรเครดิต ขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และหลอกโอนเงินค่าประกันสินค้า

วันนี้ (30 ต.ค.2566) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า จากสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ พบว่า ในช่วงที่ผ่านมายังคงมีผู้เสียหายหลายคนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้า และบริการออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญต่าง ๆ

ในวันที่ 31 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันฮาโลวีน มิจฉาชีพมักฉวยโอกาสจัดโปรโมชันต่าง ๆ เพื่อหลอกลวงขายสินค้า หรือบริการให้แก่ประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งการสร้างเพจร้านค้าปลอม หรือเพจที่พักปลอม โดยมักขายสินค้า หรือบริการในราคาต่ำกว่าปกติ อ้างเป็นโปรโมชันในช่วงดังกล่าว

กระทั่งเมื่อหลอกลวงได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายแล้ว ก็จะปิดเพจ หรือบล็อกบัญชีผู้เสียหายหลบหนีไป รวมถึงการใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมโพสต์ข้อความ หรือส่งข้อความไปยังอีเมลในลักษณะในสิทธิพิเศษ เช่น เป็นผู้โชคดีได้รับโทรศัพท์ฟรีวันฮาโลวีน Halloween Get Free เป็นต้น พร้อมแนบลิงก์ให้ผู้เสียหายติดต่อ หรือให้กรอกข้อมูลส่วนตัวผ่านเว็บไซต์อันตราย ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลทางการเงิน เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต รหัสหลังบัตร รหัสใช้ครั้งเดียว (OTP) เป็นต้น

จากนั้นมิจฉาชีพจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ทั้งการขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือนำข้อมูลไปสุ่มแฮ็กเข้าบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ หรือใช้รหัสบัตรเดบิต บัตรเครดิตชำระค่าสินค้า หรือนำไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมายต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วยังมีการหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินค่าประกันสินค้าก่อนด้วย

สถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 - วันที่ 25 ต.ค.2566 พบว่า การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 140,045 เรื่อง หรือคิดเป็น 40.27% สูงเป็นลำดับที่ 1 โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2,041 ล้านบาท รองลงมาจากการหลอกลวงให้ลงทุน การหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงาน และการข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center)

5 แนวทางการป้องกันถูกหลอก

  • ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญ ๆ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง รวมถึงการจองที่พัก ควรจองผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
  • ระมัดระวังการซื้อสินค้าหรือบริการที่ราคาถูกกว่าปกติ หรือมีการจัดโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม
  • หากจะซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ต้องระมัดระวังเพจปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบ โดยเพจจริงจะได้รับเครื่องหมายยืนยันตัวตน มีผู้ติดตามสูงกว่าเพจปลอม สร้างมาเป็นเวลานาน และมีรายละเอียดการติดต่อที่ชัดเจน อย่างน้อยต้องสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามข้อมูลได้ นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่
  • ระวังการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล ในการเข้าใช้งานเว็บไซต์ใด ๆ ขอให้พิมพ์ หรือกรอกชื่อเว็บไซต์ด้วยตนเอง
  • ไม่คลิกลิงก์ที่แนบมากับอีเมล หรือข้อความสั้น (SMS) ที่ไม่ทราบเเหล่งที่มาและไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะที่เป็นการสำรวจข้อมูล กรอกแบบสอบถามต่าง ๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูลของมิจฉาชีพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง