วันนี้ (25 ต.ค.2566) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เป็นประธานเปิดศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและมอบแนวทางการสื่อสารการป้องกันฝุ่นปี 2567
กำชับให้ ทส.ยกระดับมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาในที่ 26 ต.ค.นี้ โดยจะเสนอยกระดับกลไกกรรมการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งระดับชาติและระดับจังหวัดด้วย
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทส.
เนื่องจากปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปีจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จำเป็นต้องเตรียมรับมือ หรือจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทุกมิติ ทั้งกลไกการทำงาน ข้อมูล งบประมาณ กฎระเบียบ และยกระดับการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนเชิงรุก ตรงจุด ต่อเนื่อง บ่อยครั้ง เข้าใจง่าย และเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มทั้งช่วงก่อน ระหว่างและหลังสถานการณ์ เพื่อสร้างความเข้าใจรับทราบการดำเนินงานของทุกภาคส่วน
เปรียบเทียบจำนวนวันฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน คาดการณ์ปี 2567 เอลนีโญทำปัญหารุนแรง
เอลนีโญทำฝุ่นพิษรุนแรงลากยาว 6 เดือน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกทม.-ปริมณฑล และพื้นที่ 17 จัง หวัดภาคเหนือในปี 2567 จะรุนแรงขึ้น มาจากผลกระทบจากปรากฎการณ์เอล นีโญในช่วงเดือน ก.ย.2566-เม.ย.2567
ทั้งนี้จากปรากฎการณ์เอลนิโญ มีกำลังแรงขึ้นในแถบฝั่งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านจนมีความรุนแรง ส่งผลให้การเผาไหม้ชีวมวลจุดติดได้ง่ายและความต้องการใช้พลังงานจากภาคครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ยังได้ยกระดับการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนเป็น 4 ระดับ
แจ้งเตือน 4 ระดับ-ส่ง SMS ถึงประชาชน
สำหรับการแจ้งเตือน ระดับที่ 1 รายงานประจำวัน ให้รายงานสถานการณ์และผลการคาดการณ์ปริมาณ PM 2.5 ทุกวันของช่วงเวลา 14.00 น. เพื่อให้ประชาชนได้ทราบแนวทางการปฏิบัติตัวผ่านช่องทางเฟซบุ๊กของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) และสื่อต่างๆ
ระดับที่ 2 รายงานประจำสัปดาห์ ให้รายงานการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่น 7 วันล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนล่วงหน้าในการปฏิบัติตัวช่วงอาทิตย์นั้น โดยจะเป็นการรายงานร่วมกัน 4 หน่วยงาน คือ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการจังหวัด และกรมประชาสัมพันธ์
ทส.ปรับระดับการแจ้งเตือนภัยฝุ่น PM2.5 เป็น 4 ระดับ
ระดับที่ 3 รายงานกรณีพิเศษเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติ หากสถานการณ์ PM 2.5 เข้าขั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือมีเหตุการณ์สำคัญ เช่น ปัญหาหมอกควันข้ามแดนเข้ามามีผลกระทบต่อประเทศไทย จะให้ ศกพ.รายงานสถานการณ์ต่อประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบและแนวทางการปฏิบัติตน
ระดับที่ 4 กรณีมีประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ จะให้สื่อสารและจัดเสวนา ศกพ.จะเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆมาให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ
ทส.ยังได้เตรียมหารือกับ กสทช. เพื่อเพิ่มการแจ้งเตือนประชาชนในระบบ SMS Alert ด้วย มาใช้สำหรับแจ้งเตือนประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
อ่านข่าว
เตือน 24-25 ต.ค.นี้ กทม.รับมือค่าฝุ่น PM2.5 สูง
นายกฯ กำชับทุกหน่วยงานเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5