โดยที่จุดยืนของแต่ละชาติในอาเซียนก็ไม่ได้เป็นเอกภาพเสียทีเดียว แต่จุดนี้อาจเป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทาย
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีชาวมุสลิมมากกว่า 260 ล้านคน จากจำนวนประชากรมุสลิมทั่วโลกทั้งหมด 1,800 ล้านคน แม้ว่าตัวเลขนี้อาจดูเหมือนไม่มากสักเท่าไหร่ แต่ชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศถือว่ามีจุดยืนในความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่น่าจับตามองไม่น้อย
ผู้ประท้วงหลายพันคนรวมตัวในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแสดงพลังสนับสนุนปาเลสไตน์และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการสนับสนุนอิสราเอล ซึ่งภาพการชุมนุมในลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้วในรอบ 10 วัน
มูห์ยิดดิน ยาสซิน และ มหาธีร์ โมฮาหมัด อดีตผู้นำมาเลเซีย 2 คน ที่ปัจจุบันอยู่กันคนละฝั่งทางการเมือง ออกมายืนบนเวทีเดียวกันอีกครั้ง เพื่อสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในการประท้วงเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม
ขณะที่นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ประกาศจุดยืนไม่โอนอ่อนต่อแรงกดดันจากชาติตะวันตก ที่จะให้ประณามการกระทำของฮามาสและยืนยันที่จะเดินหน้ารักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มนี้ต่อไป นอกจากนี้ยังเตรียมบริจาคเงิน 100 ล้านริงกิต เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกาซาด้วย
นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกฯมาเลเซีย
มาเลเซียมีชาวมุสลิมมากกว่า 22 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ขณะที่อันดับ 1 คือ อินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลกมากกว่า 229 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 87 ของประชากรทั้งประเทศ
การประท้วงเรียกร้องยุติสงครามอิสราเอล-ฮามาส ในอินโดนีเซีย
ส่วนชาวมุสลิมในฟิลิปปินส์กว่า 6 ล้านคน และ ไทยอีกกว่า 4 ล้านคน ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ ขณะที่ชาวมุสลิมในเมียนมามักจะกระจุกตัว อยู่ในพื้นที่แถบรัฐยะไข่ ตามมาด้วย สิงคโปร์ บรูไน ที่แม้ว่าจะมีชาวมุสลิมเพียงแค่ 300,000 กว่าคน แต่คิดเป็น 3 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ และลาวมีน้อยที่สุด ไม่ถึง 10,000 คน
เป็นที่ทราบกันดีว่า อาเซียนพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เริ่มกลับเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น แต่สถานการณ์ในตะวันออกกลาง กำลังทำให้อาเซียนบางประเทศต้องคิดหนักว่าจะเดินเกมอย่างไร
ยกตัวอย่างฟิลิปปินส์ โดยในช่วงกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจัดการประท้วงจากกลุ่มผู้สนับสนุนทั้งสองฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมแสดงพลังสนับสนุนปาเลสไตน์และไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตในกาซา หรือการจัดงานจุดเทียนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตกว่า 1,400 คน จากเหตุบุกโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา
ในด้านหนึ่ง "ฟิลิปปินส์" เป็นชาติเดียวในเอเชียที่ลงมติสนับสนุนการก่อตั้งรัฐอิสราเอล จากประเทศที่สนับสนุนทั้งหมด 33 ประเทศทั่วโลก บนเวทีสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อปี 1947 รวมทั้งยังสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลมานานถึง 65 ปีแล้ว และการสู้รบในตะวันออกกลางถือเป็นสิ่งที่ฟิลิปปินส์ไม่อยากเห็นมากที่สุด
การประท้วงเรียกร้องยุติสงครามอิสราเอล-ฮามาส ในฟิลิปปินส์
ในบรรดาชาติสมาชิกอาเซียน มีเพียง 3 ประเทศ ไทย, กัมพูชา และ ฟิลิปปินส์ ที่ได้รับรายงานมีผู้เสียชีวิตและสูญหายจากเหตุบุกโจมตีในอิสราเอล โดยประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 30 คน ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ ชี้ว่า มีคนไทยที่คาดว่าถูกจับตัวไป 19 คน ส่วนรัฐบาลกัมพูชา ระบุว่า มีนักศึกษากัมพูชาเสียชีวิตจากเหตุโจมตีดังกล่าว 1 คน
ฟิลิปปินส์ มีผู้เสียชีวิต 4 คน และ อีก 2 คน ทางการยังไม่สามารถติดต่อได้ จึงคาดว่าอาจถูกจับไปเป็นตัวประกัน โดยฟิลิปปินส์มีสถานการณ์คล้ายๆ กับไทย คือ มีแรงงานในอิสราเอลกว่า 30,000 คน และ แรงงานจำนวนมากกำลังรอความช่วยเหลือเพื่อพาตัวกลับบ้าน แต่แรงงานฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่จะทำงานในภาคสาธารณสุข เช่น การดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย
การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาสที่ส่อเค้าขยายวงกว้าง จนนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพในตะวันออกกลาง กำลังกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ฟิลิปปินส์ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะอย่างแรก คือ สงครามอาจส่งผลให้กลุ่มติดอาวุธมุสลิมในพื้นที่ทางตอนโต้ของฟิลิปปินส์ฉวยโอกาสขึ้นมาก่อเหตุได้
ขณะที่สงครามยังอาจทำให้ประเทศเสียรายได้ก้อนใหญ่ โดยตะวันออกกลางถือเป็นภูมิภาคทำเงินให้กับแรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์ที่มีอยู่กว่า 2,000,000 คน ซึ่งในแต่ละปีจะส่งเงินกลับประเทศไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่น่าสนใจ คือ หลายประเทศในอาเซียนซื้ออาวุธจากบริษัทสัญชาติอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ เมียนมา เวียดนามและไทย ขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซียเอง ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล ซึ่งปัจจัยที่สลับซับซ้อนเหล่านี้ทำให้การเดินเกมของอาเซียนบนความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จุดนี้อาจกลายเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้อาเซียนเข้าไปพูดคุยได้กับทั้ง 2 ฝ่ายได้เช่นกัน
วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์