ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปรับแผนรับคนไทยส่งดูไบ ย้ำแรงงานเก็บเอกสารการบินเตรียมเบิก

อาชญากรรม
22 ต.ค. 66
15:03
577
Logo Thai PBS
ปรับแผนรับคนไทยส่งดูไบ ย้ำแรงงานเก็บเอกสารการบินเตรียมเบิก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ก.แรงงานปรับแผนอพยพสั้นลง เช่าเหมาลำส่งแรงงานพักดูไบก่อน ล่าสุดยอดลงทะเบียนขอกลับมากถึง 8,439 คน ด้านญาติของความชัดเจนหลังแรงงานจังหวัดโทรสร้างความสับสน ส่วนอดีตทูตเทลอาวีฟชี้แรงงานไทยยังเนื้อหอมภาคเกษตรอิสราเอล

วันนี้ (22 ต.ค.2566) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าขณะนี้สามารถพาคนไทยและแรงงานไทย เดินทางกลับประเทศไทยได้แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 2,823 คน ผู้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์กลับประเทศไทย จำนวน 8,439 คน และแจ้งไม่ประสงค์กลับประเทศไทย จำนวน 118 คน ขณะที่คนไทยเดินทางมายังศูนย์พักพิงฯ จำนวน 2,541 คน

แรงงานไทยทยอยเดินทางกลับ

แรงงานไทยทยอยเดินทางกลับ

แรงงานไทยทยอยเดินทางกลับ

ตั้งแต่ที่ 22 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป รัฐบาลปรับแผนการอพยพคนไทย โดยจะลำเลียงคนไทยที่ต้องการกลับประเทศไปพักคอยที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก่อน ซึ่งจะมีเครื่องบินขนาดใหญ่ ที่รัฐบาลจะจ้างเหมาลำ ระหว่างเทลอาวีฟมายังดูไบ จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

ขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานได้เตรียมพร้อมในทุกด้านเพื่อรองรับคนไทยและแรงงานไทยที่จะอพยพเข้าไปเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาด้วยตนเอง และ กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทยแล้ว ขอให้แรงงานไทยเก็บหลักฐานการเดินทาง ได้แก่ บัตรโดยสาร ใบเสร็จ เอกสารทุกอย่างในเที่ยวบินไว้ เพื่อใช้ในการขอรับเงินค่าตั๋วเครื่องบินต่อไป

ขณะที่วันนี้ จะมีการอพยพนำคนไทยกลับประเทศ 2 เที่ยวบิน โดยเป็นเครื่องบินกองทัพอากาศเที่ยวบินที่ 3 คาดว่าจะถึงสนามบิน บน.6 เวลา 12.15 น. จำนวน 140คน และเครื่องบินพาณิชย์คาดว่าจะถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 13.40 น. เช่นกัน จำนวน 311 คน รวมทั้งหมด 451 คน

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าตอนนี้มีผู้แสดงเจตจำนงเดินทางกลับประเทศเกือบ 8,500 คน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องพยายามหาทางเอาคนไทยกลับมาให้ได้มากที่สุด โดยตนได้ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับภาคเอกชนที่มีเครื่องบินนำกลับเข้ามา

นายกฯ ไทย ขณะเยือน ซาอุดีอาระเบีย

นายกฯ ไทย ขณะเยือน ซาอุดีอาระเบีย

นายกฯ ไทย ขณะเยือน ซาอุดีอาระเบีย

และในวันที่ 23 ต.ค.2566 เวลา 14.30 น. จะประชุมนัดพิเศษครั้งใหญ่ที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรายงานความคืบหน้า และประเมินสถานการณ์ความรุนแรงในอิสราเอล

ครอบครัวขอความชัดเจนสถานะแรงงานในอิสราเอล 

ญาติ และเพื่อนบ้านบ้านนาล้อม ต.นาหัวบ่อ อ.โพนสวรรค์ จ.ครพนม ให้กำลังใจและดูแล นางราตรี เหลินต้ายซ้าย อย่างใกล้ชิด หลังเป็นลมหมดสติเมื่อได้ทราบข่าวจาก นายพัฒนายุทธ ต้อนโสกรี สามีที่ไปเป็นแรงงานในอิสราเอล และถูกจับเป็นตัวประกัน เสียชีวิตแล้ว

เพื่อนบ้าน บอกว่าในช่วงเช้า แรงงานจังหวัดแจ้งว่า นายพัฒนายุทธ เสียชีวิต จากนั้นช่วงสายก็โทรมาขอโทษ และบอกว่า ยังไม่แน่ชัดว่าเสียชีวิตแล้วหรือไม่ ท่ามกลางความสับสน ทางครอบครัวและญาติ ยังคงหวังว่า นายพัฒนายุทธ ยังมีชีวิตอยู่

เช่นเดียวกับที่บ้านหนองท่ม ต.โพนจาน อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ซึ่งเป็นบ้านพักของนางโสดา แต้มกลาง แม่ของนายปริญญา แต้มกลาง แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล ญาติพี่น้องและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอโพนสวรรค์ มาดูแลและให้กำลังใจ หลังเพื่อนคนงานในอิสราเอลแจ้งว่า ลูกชายเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา

นางโสดา แต้มกลาง เปิดเผยว่า ตลอด 15 วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยมาบอกความคืบหน้า ว่าลูกชายยังมีชีวิต หรือ เสียชีวิตแล้ว บอกแค่ว่า ยังติดต่อหรือติดตามตัวลูกชายไม่ได้ กระทั่งเพื่อนคนงานโทรมาแจ้งว่าลูกชายเสียชีวิต เพราะไม่ต้องการให้แม่และน้องสาวรอ โดยไม่มีความหวัง

8 ศพแรงงานไทยเดินทางกลับบ้าน

8 ศพแรงงานไทยเดินทางกลับบ้าน

8 ศพแรงงานไทยเดินทางกลับบ้าน

ส่วนที่ จ.กำแพงเพชร ญาติและครอบครัว นายโยธิน ทองอาจ อายุ 32 ปี แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอล ร่วมกันทำพิธีผูกแขนรับขวัญ นายโยธิน หลังเอารอดชีวิตกลับมาได้ ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบในอิสราเอลที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง

ระหว่างนี้ นายโยธิน ขอใช้เวลากับครอบครัวและทำนาไประยะหนึ่งก่อนเพื่อตั้งหลัก จากนั้นค่อยหางานอื่นเพิ่ม และหากสถานการณ์สงบ ก็อยากกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลอีก เช่นเดียวกับแรงงานไทยคนอื่นๆ ที่ต้องการหารายได้ เพื่อนำมาปลดเปลื้องหนี้สินและให้คนในครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้น

อดีตทูตอิสราเอลเชื่อ "แรงงานไทย" ไม่ใช่เป้าหมาย "ฮามาส"

อดีตทูต "จักร บุญ-หลง" เชื่อว่า แรงงานไทยไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่มฮามาส ก่อนจะชี้ว่าเหตุที่แรงงานไทยถูกจับเป็นตัวประกัน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่สีแดง

เนื่องจากเป็นแรงงานภาคการเกษตร ที่อยู่ในพื้นที่เรดโซน และไม่เชื่อว่า แรงงานไทย คือ เป้าหมายของกลุ่มฮามาส แต่สิ่งสำคัญ คือ รัฐบาลไทย ต้องสื่อสารต่อเนื่องไปถึงกลุ่มฮามาส ถึงจุดยืนของไทย ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง

อดีตทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ไม่ปฏิเสธว่า การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี แต่เชื่อมั่นว่า อิสราเอล จะยังคงเป็นเป้าหมายของแรงงานไทย ด้วยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ทั้งค่าแรงที่จูงใจ ความต้องการแรงงานฝีมือภาคการเกษตรของนายจ้างอิสราเอล พร้อมชี้ว่าความอันตราย อยู่ในเฉพาะพื้นที่สีแดง ซึ่งเป็นดุลยพินิจของรัฐบาล ในการพิจารณาให้แรงงานไทย เข้าไปทำงานในพื้นที่อันตรายในอนาคตหรือไม่

อ่านข่าวเพิ่ม :

ยกระดับสงคราม! อิสราเอลโจมตีมัสยิดผู้ลี้ภัย ใน เวสต์ แบงก์

นโยบายต่างประเทศของไทย ความท้าทายในโลกยุคแบ่งขั้ว-เลือกข้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง