ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มองทิศทางสงครามหลัง "ไบเดน" เยือนอิสราเอล

ต่างประเทศ
18 ต.ค. 66
20:05
1,393
Logo Thai PBS
มองทิศทางสงครามหลัง "ไบเดน" เยือนอิสราเอล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การเดินทางเยือนอิสราเอลของผู้นำสหรัฐฯ ถูกจับตามองจากทั่วโลก เนื่องจากการเดินทางเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งที่มีแนวโน้มขยายวงกว้าง หลังจากกลุ่มสนับสนุนฮามาสต่างแสดงจุดยืนพร้อมยื่นมือให้ความช่วยเหลือกาซาอย่างเต็มที่

วันนี้ (18 ต.ค.2566) เวลาประมาณ 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางถึงกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล โดนมีนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เดินทางมารอต้อนรับถึงสนามบินนานาชาติเบน กูเรียน ในกรุงเทล อาวีฟ ซึ่งผู้นำทั้งสองได้เข้าสวมกอดทักทายกันอย่างแนบแน่น

อ่านข่าว : เหตุรุนแรง "อิสราเอล-ฮามาส" เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 เกิดอะไรขึ้นบ้าง

การเดินทางเยือนอิสราเอลเกิดขึ้นในวันที่ความขัดแย้งอาจขยายกว้าง จนกลายเป็นบททดสอบสำคัญอย่างมากของไบเดน

ผู้นำสหรัฐฯ มีจุดยืนสนับสนุนอิสราเอลนับตั้งแต่ความขัดแย้งเปิดฉากขึ้นและย้ำถึงความสำคัญของการเร่งบรรเทาวิกฤตมนุษยธรรมในกาซา แต่เหตุโจมตีโรงพยาบาลในกาซา จนสร้างความสูญเสียร้ายแรง กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้นำสหรัฐฯ ในการทำภารกิจครั้งนี้ให้สำเร็จ เพราะรัฐบาลจอร์แดนพับแผนจัดประชุมสุดยอด 4 ฝ่าย ระหว่าง ผู้นำสหรัฐฯ จอร์แดน อียิปต์ และปาเลสไตน์ เพื่อหาทางยุติความขัดแย้งร่วมกัน

ผู้นำสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ 60 Minutes ของสถานีโทรทัศน์ CBS ถึงจุดยืนในศึกอิสราเอล-ฮามาส โดย ระบุผมคิดว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นในกาซา ตามความคิดของผม คือ ฮามาสและกลุ่มสุดโต่งไม่ได้เป็นตัวแทนของชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด

และมองว่ามันจะเป็นความผิดพลาดหากอิสราเอลยึดครองกาซาอีกครั้ง ขณะที่การบุกเข้าไปเพื่อกวาดล้างกลุ่มสุดโต่ง กลุ่มเฮซบอลลาห์ทางเหนือ และกลุ่มฮามาสทางใต้ เป็นความจำเป็นอย่างมาก

การขีดเส้นของผู้นำสหรัฐฯ คือ อิสราเอลจะต้องไม่เข้าไปยึดครองกาซา หลังจากอิสราเอลมีคำสั่งให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่ทางตอนเหนือลงไปยังพื้นที่ตอนใต้

การขยับตัวของอิสราเอลสร้างความกังวลถึงความพยายามในการผนวกดินแดนอย่างเบ็ดเสร็จ จนกระทบต่อชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์ 2,300,000 ชีวิตในกาซา

อีกประเด็นคือการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นมา ความพยายามแก้ปัญหาผ่าน "แนวทาง 2 รัฐ" ขณะนี้ก็ยังคงเต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะกลุ่มชาตินิยมในอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ยอมรับแนวทางนี้ สำหรับแนวทาง 2 รัฐ หรือ Two-State Solution ถูกเสนอผ่านข้อตกลงออสโล เพื่อเป็นแนวทางในการยุติความขัดแย้งของอิสราเอลกับปาเลสไตน์

สหประชาชาติเคยเสนอให้แบ่งดินแดนเป็นรัฐชาวยิวและรัฐชาวอาหรับ ขณะที่นครเยรูซาเล็มจะเป็นเมืองนานาชาติให้ทั้ง 2 ฝ่ายดูแลร่วมกัน อีกหลายประเทศทั่วโลกต่างขานรับการแก้ปัญหาผ่านแนวทาง 2 รัฐ เพราะอิสราเอลและปาเลสไตน์จะได้สถานะเป็นรัฐบนดินแดนศักด์สิทธิ์เท่าเทียมกัน

แนวทาง 2 รัฐ: ความหวังสู่สันติภาพที่มืดมน

การลงนามในข้อตกลงออสโล ที่ทำเนียบขาว เมื่อเดือน ก.ย.ปี 1993 ถือเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญในการสร้างสันติภาพของทั้งสองฝ่ายและปูทางให้ยิตซาค ราบิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอลและยาสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในอีก 1 ปีต่อมา

ขณะที่การก่อกำเนิดของข้อตกลงก็สร้างความไม่พอใจให้ชาวยิวกลุ่มขวาจัด นำไปสู่การลอบสังหารราบินในกรุงเทล อาวีฟ ในช่วงปลายปี 1995

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา แนวทาง 2 รัฐ ยังไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะทั้งสองฝ่ายยังหาฉันทามติเกี่ยวกับขอบเขตการปกครองไม่ได้

รัฐบาลอิสราเอลยังคงเดินหน้าสร้างนิคมชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ นำไปสู่การกระทบกระทั่งกันเป็นระยะ และบ่มเพาะความเกลียดชังขึ้นมา ขณะที่แนวคิดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งยังเต็มไปด้วยความท้าทาย เนื่องจากข้อเสนอต่าง ๆ ก็จะต้องวกกลับไปที่กลไกแนวทาง 2 รัฐ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กต.ออกแถลงการณ์ต่อเหตุโจมตี รพ.ในฉนวนกาซา

เริ่ม 22 ต.ค.นี้ เริ่มแผนอพยพ "คนไทย" จากอิสราเอลต่อเครื่องดูไบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง