17 ต.ค.2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรื่อง คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คดีหมายเลขแดงที่ ล.5598/2566 กองบังคับคดีล้มละลาย 3 ศาลล้มละลายกลาง กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม หลังบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้ลูกหนี้ทั้ง 11 แกนนำพันธมิตรล้มละลาย
โดยศาลได้มีคำสั่งลงวันที่ 12 ก.ย.2566 ให้พิทักษ์ทรัพย์ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์
นายอมร หรืออิทธิ หรืออมรเทพ หรือรัชต์ชยุตม์ หรืออมรศักดิ์ อมรรัตนานนท์ หรือศิรโยธินภักดี หรืออิทธิประชา, นายสำราญ รอดเพชร, นายศิริชัย ไม้งาม, นางมาลีรัตน์ หรือ มาลีรักษ์ แก้วก่า และ นายเทิดภูมิไท หรือเทิดภูมิ ใจดี เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483
ศิริชัย ไม้งาม หรือ "พี่ไม้" อดีตประธานสหภาพแรงงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) และ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2 ที่ถูกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ด้วย บอกว่า ทำใจและเตรียมใจไว้แล้วตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้ในคดีแพ่ง แต่คดีอาญายังไม่จบ โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 ธ.ค.2566
"คดีปิดสนามบิน เราต่อสู้มาตลอดว่า ผู้ที่ประกาศปิดสนามบิน คือ การท่าอากาศยานฯ ซึ่งระหว่างเหตุชุมนุม กลุ่มพันธมิตรฯเข้ามาดูแลให้เพราะเกรงว่าทรัพย์สินราชการซึ่งเป็นสมบัติของชาติจะได้รับความเสียหาย เราในฐานะพนักงานรัฐวิสาหกิจคนหนึ่ง ก็ต้องช่วยดูแลและเราได้ส่งคืนสนามบินให้กับการท่าฯ หลังศาลมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ในขณะนั้นลาออก" หนึ่งในอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ย้อนเหตุการณ์
ในวัย 64 ปี ศิริชัย หรือ "พี่ไม้" เกษียณอายุราชการจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวที่ จ.ชลบุรี คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ล้มละลาย แม้จะมีผลต่อการใช้ชีวิตในบั้นปลาย โดยเฉพาะเงินสะสมก้อนสุดท้ายที่จะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะต้องถูกยึดด้วย เนื่องจากถูกฟ้องล้มละลาย
พี่ไม้ "ศิริชัย" ยอมรับว่าคนวัยนี้ มีโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า ทั้ง โรคหัวใจ ต้อหิน ก็ยังหวังว่าจะมีเงินรักษาตัว แต่ได้กำลังใจจากครอบครัว หลายคนถามว่าหย่ากับภรรยาหรือไม่ ไม่ได้หย่า และยังใช้ชีวิตปกติ เราไม่มีทรัพย์สินอะไร รับเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจ ไม่มีทรัพย์สิน ไม่ได้ทำธุรกิจ
"...แรกๆ ก็เครียด เพราะเงินกองทุนที่มีอยู่ก็พอสมควร แต่ตอนนี้ไม่แล้ว ลูกสาวบอกว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วงหนู ผมในฐานะหัวหน้าครอบครัว ก็ต้องขอบคุณครอบครัวที่เข้มแข็ง เราเป็นนักต่อสู้ก็ต้องยอมรับชะตากรรม เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ก็ต้องยอมรับคำตัดสิน"
ในฐานะหนึ่งในอดีตแกนนำพันธมิตร ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากขบวนการต่อสู้เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล สิ่งที่ได้รับนอกจากหมายจับ การเดิน-เข้าออกศาล การถูกพิทักษ์ทรัพย์ล้มละลาย และ การมีคดีความที่ต้องรอลุ้นในนัดต่อๆ ไป ศิริชัย หรือ "พี่ไม้" บอกว่า หากย้อนอดีตกลับไป ก็จะทำเหมือนเดิม แรกๆ รู้สึกตกใจกับคำพิพากษาที่ออกมา แต่ไม่เสียใจกับสิ่งที่ทำลงไป ถือว่า ทำดีที่สุดในช่วงการต่อสู้ทางการเมืองขณะนั้น เป็นการต่อสู้เพื่อบ้านเมือง ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง
การต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิป ไตย(พธม.) ไม่ได้เสียเปล่า ทำให้การไฟฟ้าฯไม่ถูกแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจไปเป็นของเอกชน ซึ่งหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของคนรุ่นต่อไปว่า เขาจะยังรักษาไว้หรือไม่ และรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรกับอนาคตของการไฟฟ้า หรือจะปล่อยให้เหมือนกับประเทศอาร์เจนตินา และกรีซ
นอกจากคดีปิดสนามบินที่ทำให้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ล้มละลายแล้ว ศิริชัย หรือ "พี่ไม้" บอกว่า วันที่ 2 พ.ย.2566 แกนนำกลุ่มพันธมิตรจะต้องเดินทางไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อฟังคำสั่งในคดีสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา จนเกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 หากนับระยะเวลาการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมใช้เวลานานถึง 15 ปี
ในฐานะอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ที่ต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างโชกโชน ศิริชัย หรือ "พี่ไม้" บอกว่า "ทักษิณ ชินวัตร" เดินทางกลับมาไทยแล้ว หลังหนีคดีไปนานถึง 17 ปี แม้จะกลับมารับโทษในฐานะนักโทษ แต่ประชาธิปไตยในระบบอุปถัมภ์ยังไม่ไปไหน มีการใช้นโยบายประชานิยมซื้อใจประชาชน ไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมา
คดีนี้ โดนพิทักษ์ทรัพย์ 13 คน แต่จำหน่ายไป 2 คน คือ ศรัญยู วงศ์กระจ่าง และ ดร.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่เสียชีวิต .. หลังศาลมีคำสั่ง ยังไม่ได้คุยกับใคร ต่างฝ่ายก็กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว ส่วนใหญ่จะพบกันเมื่อเดินทางไปศาล หรือศาลนัดฟังคำสั่ง
สำหรับคดีปิดสนามบิน มีมูลหนี้ที่ 11 แกนนำพันธมิตรฯ ต้องชำระคำพิพากษาจำนวนเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี
โดยบุคคลผู้เป็นหนี้ ลูกหนี้ หรือ มีทรัพย์สินของลูกหนี้ อยู่ในครอบครอง จะต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หากไม่ปฏิบัติตาม มีความผิดระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 173/1
อ่านข่าวเพิ่ม : ราชกิจจาฯเผยแพร่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 11 แกนนำพันธมิตรฯ