วันนี้ (17 ต.ค.2566) ชมรมอนุรักษ์นกแก้วโม่งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำ "รังเทียมนกแก้วโม่ง" 4 รัง ขึ้นไปติดตั้งบนต้นยางนาที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งสองต้น ข้างต้นยางนาที่ยืนต้นตายสูงกว่า 30 เมตร ที่วัดมะเดื่อ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เพื่อเป็นรังทดแทนให้นกแก้วโม่งจับคู่ผสมพันธุ์ และยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่อไป
นกแก้วโม่ง จัดให้อยู่ในสถานะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์เพราะถิ่นอาศัยถูกคุกคามจากความเจริญของสังคมเมือง ซึ่ง จ.นนทบุรี ถือเป็นฝูงนกแก้วโม่งที่ใหญ่ที่สุดในไทย และเป็นฝูงสุดท้ายในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล
นายชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ ชมรมอนุรักษ์นกแก้วโม่งวัดสวนใหญ่ ผู้ประดิษฐ์โพรงเทียม กล่าวว่า เคยติดตั้งโพรงเทียมที่วัดสวนใหญ่ไปแล้ว เมื่อปี 2563 พบนกแก้วโม่งตัวเมียเข้าใช้ประโยชน์ทำรัง ฟักไข่ ต่อเนื่อง จึงตั้งความหวังโพรงเทียมในวัดมะเดื่อจะสำเร็จตาม
จากการสำรวจของชมรมนักอนุรักษ์นกแก้วมองวัดสวนใหญ่ คาดการณ์ว่ามีนกแก้วโม่งอาศัยอยู่ใน จ.นนทบุรี ประมาณ 200 ตัว ซึ่งจะอยู่รวมกันบริเวณต้นไม้สูงกลางทุ่งนาแห่งหนึ่งที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ในช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ นกแก้วโม่งจะแยกย้ายกันหาโพรงจากไม้ที่ยืนต้นตายเพื่อทำรังฟักไข่ โดยกำลังจะผลักดันให้เป็นสัตว์อัตลักษณ์ของเมืองนนทบุรี
อ่านข่าว : "นกแก้วโม่ง" กับความหวังอนุรักษ์อัตลักษณ์ จ.นนทบุรี
"นกแก้วโม่ง" นกหายาก
นกแก้วโม่ง ถือเป็นนกที่หายาก และเป็นนกแก้วไทยที่ติดอันดับ 1 จากนกแก้วไทย 10 ชนิดที่เป็นที่นิยมอย่างสูง ที่ผ่านมานกแก้วโม่งถูกจับนำไปเลี้ยง จนลดจำนวนลงอย่างมาก ซึ่งมีกลุ่มผู้ล่าเข้าไปจับนกในป่าแถบลาว เมียนมา และกัมพูชาด้วย
จนกระทั่งกว่า 30 ปี จำนวนนกเริ่มเพิ่มขึ้น ตามที่ปรากฎในหลายพื้นที่ และมีการตั้งกลุ่มอนุรักษ์เช่น โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย หรือ แถวสวนจิตรลดา และใน จ.ปทุมธานี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำคานเหล็ก เจาะไม้ค้ำยัน ไม่ตัดต้นยางนารักษา "รังนกแก้วโม่ง"