เมื่อวันที่ (12 ต.ค.66) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ครั้งที่ 5/2566 ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ
ร.อ.ธรรมนัส เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุม คปก.ได้มีมติที่สำคัญและเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกร คือ
1.เห็นชอบหลักการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ อาทิ 1) การจัดที่ดินยังคงเป็นไปเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามศักยภาพของพื้นที่ 2) สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด 3) ต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนที่ ส.ป.ก.กำหนด 4) สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) 5) ต้องถือครอง ส.ป.ก. 4-01 และทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยมีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่ ทั้งนี้ ส.ป.ก. จะเป็นนายทะเบียนในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่างๆ เอง
2.เห็นชอบ “โครงการตรวจสอบและดำเนินการกรณีเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินถึงแก่ความตายในเขตปฏิรูปที่ดิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” วงเงิน 22.5 ล้านบาท เพื่อให้ ส.ป.ก.นำไปใช้จ่ายเพื่อเร่งรัดและติดตามให้ทายาทเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ถึงแก่ความตายมาแจ้งขอรับสิทธิการจัดที่ดินแทนที่ (รับมรดก) ซึ่งยังไม่มาแสดงตนอีก จำนวน 171,434 ราย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ตามมติ คปก.ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่เห็นชอบให้ขยายระยเวลาออกไปอีก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2566
3.เห็นชอบ “โครงการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกหนี้เงินกู้กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามนโยบายรัฐบาล ระยะเวลา 3 ปี” ตามระเบียบ คปก.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การให้กู้ยืมเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2554 โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้ 1) เงินต้นเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท 2) สถานะเป็นลูกหนี้ปกติ 3) สามารถขอผ่อนผันการชำระเงินต้นรายงวดและงดเว้นดอกเบี้ยเงินกู้ของเงินรายงวดที่ครบกำหนดชำระ โดยระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567
หลังจากครบระยะแรกจะมีการประเมินผลเพื่อที่จะนำไปสู่การปรับปรุงและดำเนินการระยะ 2 และ 3 ต่อไป โดยมีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไขโครงการนี้ จำนวน 17,806 ราย คิดเป็นต้นเงินที่พักชำระหนี้รวม 630 ล้านบาท และเป็นดอกเบี้ยที่งดเว้นรวมปีละ 25.2 ล้านบาท ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าเงื่อนไขสามารถยื่นลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่ ส.ป.ก.จังหวัดทุกจังหวัดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวเน้นย้ำว่า โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกจะสามารถแจกให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567 อย่างแน่นอน หลังจากนั้นเมื่อครบระยะเวลา 1 ปี ส.ป.ก.จังหวัดทุกจังหวัดจะเริ่มทยอยออกโฉนดให้กับพี่น้องเกษตรกรในทุกจังหวัดและคาดว่าจะออกโฉนดได้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 5 ปี
พร้อมกันนี้ยังได้เชิญชวนให้ทายาทเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินถึงแก่ความตายเร่งมาแจ้งขอรับการจัดที่ดินแทนที่ (รับมรดก) เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนเอกสารสิทธิจาก ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ส.ป.ก. ทุกจังหวัด และบริการ Mobile Unit ของ ส.ป.ก. ที่ออกให้บริการในพื้นที่