บ้าน 3 หลัง ในชุมชนตลาดมูโนะ จ.นราธิวาส หลังเหตุการณ์โกดังเก็บพลุระเบิด จากจำนวน 27 หลังคาเรือน เป็นกลุ่มที่ทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัย ยังเป็นประเด็นข้อถกเถียงและหาข้อยุติไม่ได้ว่า จะมีการชดเชยและจ่ายเยียวยาค่าเสียหาย หรือไม่และอย่างไร
แม้เบื้องต้นบริษัทประกันภัยจะจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้ชาวบ้านที่ทำประกันภัย ตามวงเงินที่ทำประกัน แต่ก็ได้รับไม่เต็มจำนวน ส่วนภาครัฐได้จ่ายเยียวยาเบื้องต้น และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่มีผู้บริจาค และนำไปซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ หลายหลังคาเรือนที่เสียหายน้อยสามารถกลับเข้าไปพักอาศัยได้บ้างแล้ว

โมฮาหมัด แจมเช็ด
โมฮาหมัด แจมเช็ด
แต่บ้านของ โมฮาหมัด แจมเช็ด , อาลีซัน บูโด และ นิฟัยรุส สมานกุลวงษ์ ชาวบ้านหมู่ 1 ต.มูโนะ ยังไม่มีความชัดเจนจากหน่วยงานรัฐและฝ่ายปกครองในพื้นที่ว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากเงินบริจาค หรืองบประมาณที่สำนักนายกรัฐมนตรีกว่า 100 ล้านบาทหรือไม่
โดยเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า บ้านของทั้ง 3 ครอบครัวนี้ ได้รับเงินเคลมประกันจากบริษัทประกันภัย จึงขอสงวนสิทธิในการนำเงินไปช่วยเหลือครอบครัวอื่นๆ ก่อน และหากมีเงินเหลือ อาจจะพิจารณาในภายหลัง

บ้านของ โมฮาหมัด ปลูกบนที่ดินของตัวเอง พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ เป็นบ้านสองชั้น ชั้นบนมี 12 ห้องนอน 12 ห้องน้ำ เพราะเป็นครอบครัวใหญ่ มีลูก 10 คน แต่ละคนมีห้องนอนและห้องส่วนตัว อยู่ใกล้ริมถนน และอยู่ห่างจากโกดังพลุที่ระเบิดเพียงถนนกั้น ด้วยแรงระเบิดจึงทำให้บ้านชั้นบนเหลือแต่ต้นเสา และเศษปูนทรายที่พังถล่มลงมา
ส่วนชั้นล่างด้วยโครงสร้างที่แข็งแรง กำแพงบ้าน 4 ด้าน ประตูรั้ว ถูกแรงระเบิดอัดเสียหาย เหลือเพียงพื้นชั้นล่าง และฝ้าเพดาน ห้องน้ำบางส่วนที่ยังใช้ได้ ส่วนบริเวณครัวติดกับหลังบ้านไม่เหลือให้เห็น เช่นเดียวกับต้นลองกอง และต้นไม้ชนิดอื่น

โมฮาหมัด เจ้าของบ้านหลังนี้ มีอาชีพขายอัญมณีเงินผ่อน เก็บหอมรอมริบตั้งแต่วัยหนุ่ม ปัจจุบันอายุจะ 60 ปีแล้ว จึงสามารถสร้างหลังนี้ในราคา 15 ล้านบาท เพื่ออยู่กับครอบครัวในบั้นปลายของชีวิต
“ปภ.และ อบต.โยนไปโยนมา อ้างว่าไม่มีระเบียบจ่ายให้บ้านที่ทำประกัน ไม่มีอะไรชัดเจน 3 เดือนแล้ว เหมือนอยู่รอไปวันๆ ..สาเหตุที่เราทำประกันเพราะบ้านน้ำท่วมทุกปี แรงดันน้ำดันรั้วพัง ธ.ค.นี้ ก็ใกล้ฤดูฝน บ้านมูโนะเป็นพื้นที่ต่ำเหมือนหลุมกระทะ น้ำท่วมทุกปีแล้ว บ้านยังไม่ได้ซ่อมจะอยู่กันอย่างไร”
ได้ชดเชยจากการทำประกันภัยก็จริง แต่จ่ายเงินตัวเองเพื่อซื้อประกันภัย เป็นคนละส่วนที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ที่ผ่านมารัฐบาลอนุมัติงบเยียวยาและจังหวัดก็ได้รับเงินบริจาค มีความช่วยเหลือเข้ามา แต่ทำไมเราจึงไม่ได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ "โมฮาหมัด" ไม่ต่างจาก "นิฟัยรุส" พยาบาลวิชาชีพ รพ.สต.บ้านมูโนะ ที่ต้องรื้อและทุบบ้านที่อาศัยอยู่มากว่า 30 ปี จากแรงระเบิดในวันนั้น บ้าน 7 ห้องนอน และ 3 ห้องน้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงเสาเข็มเพื่อสร้างขึ้นใหม่ หลังจากได้รับเงินจากบริษัทประกันภัยจำนวน 2,900,000 บาท แต่บ้านที่กำลังสร้างนั้นมีราคาประมาณ 4,500,000 บาท
นิฟัยรุส บอกว่า ซื้อประกันอุบัติภัยบ้านไว้เมื่อเดือน มิ.ย.2566 แต่ทำได้เพียงเดือนเดียวก็เกิดเหตุร้าย ครอบครัวไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ทรัพย์สินในบ้านไม่เหลือ ปลาคาร์ฟที่เลี้ยงไว้ 30 ตัวตายหมด หลังเกิดเหตุต้องออกไปเช่าบ้านอยู่ข้างนอก รัฐจ่ายค่าเช่าบ้านให้ครอบครัวผู้ที่ได้รับความเสียหายเป็นเวลา 6 เดือน เดือนละ 6,000 บาท

นิฟัยรุส สมานกุลวงษ์
นิฟัยรุส สมานกุลวงษ์
หลังเกิดเหตุ ไปขอให้เจ้าหน้าที่โยธาจังหวัดนราธิวาส ออกเอกสาร เพื่อไปเคลมกับบริษัทประกันภัย ถูกบ่ายเบี่ยง อ้างว่าไม่อยู่ในอำนาจ ต้องไปจ้างวิศวกรบริษัทเอกชนให้ประเมินความเสียหาย ราคา 9,000 บาท
เสียใจมาก บ้านผมพังทั้งหลัง แต่ต้องควักเงินส่วนตัวจ้างวิศวกรเอกชน ประเมินความเสียหาย เพื่อนำเอกสารส่งให้บริษัทประกันภัย ให้เขาจ่ายเงินเพื่อจะสร้างบ้าน โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์หรือช่วยเหลืออะไรเลย
ตลอดเกือบ 3 เดือน นิฟัยรุส และครอบครัวต้องเทียวเข้า-ออก ระหว่างบ้านเช่าในตัว อ.สุไหงโก-ลก มายังหมู่บ้านมูโนะ เพื่อกลับมาทำงานและดูการก่อสร้างบ้านในทุกๆ วัน
“ถามไปทุกส่วนราชการของจังหวัดเรื่องค่าชดเชย คำตอบที่ได้รับคือ บ้านที่ทำประกันภัย รัฐไม่จ่ายให้ ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา เพราะรับเงินจากบริษัทประกันภัยแล้ว ผมได้จากบริษัทประกันฯ เพราะใช้เงินส่วนตัวซื้อประกัน การอ้างว่า ไม่มีระเบียบหรือไม่อยู่ในอำนาจที่จะจ่ายให้ มันปวดใจ และเศร้ามาก ผมก็เป็นชาวบ้าน อย่างน้อยๆ ช่วยจ่ายส่วนต่างให้บ้างก็ยังดี”

นิฟัยรุส บอกว่า เงินที่ได้จากบริษัทประกันภัย ไม่พอสร้างบ้านหลังใหม่ จึงยอมเป็นหนี้โดยไปกู้เงินจำนวน 1,000,000 บาท เพื่อนำมาสร้างบ้าน ส่วนการยื่นฟ้องเพ่งเพื่อกับผู้ประกอบการโกดังพลุฯ ได้ยื่นฟ้องแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายไปแล้ว และคงอีกนานกว่าคดีจะสิ้นสุดและได้รับเงินค่าเสียหาย
ข้อมูลจากการลงพื้นที่พบว่า ในช่วงเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ มีภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปนำวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้านมาบริจาค โดยเฉพาะพื้นที่หมู่ 5 ต.บ้านมูโนะ มีทหารช่างเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่เมื่อไปเบิกวัสดุอุปกรณ์ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พบว่า ไม่มีทหารจึงต้องเดินทางกลับ ไม่มีใครทราบว่า สิ่งของดังกล่าวถูกนำไปแจกจ่ายให้ใคร หรือผู้ได้รับความเสียหายรายไหนบ้าง
ข้อมูลในพื้นที่ยังระบุอีกว่า มีคนที่บ้านไม่พัง ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ จากโกดังเก็บพลุระเบิดนำสิ่งของที่ได้รับบริจาค ไปซ่อมแซมบ้านตัวเอง และทำบ้านเช่า แต่รู้ทั้งรู้ ก็ไม่มีใครกล้าท้วงติง คงเป็นเพียงเสียงกระซิบ หรือพูดคุยเฉพาะในวงแคบๆ เพราะชาวบ้าน คือ ชาวบ้าน ส่วนใหญ่ไม่อยากมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
“เขาพลิกวิกฤตความเดือดร้อนของพวกเรา ให้เป็นโอกาสของเขา” เป็นเสียงหนึ่งของชาวบ้านมูโนะที่ระบายให้ฟัง

อาลีซัน บูโด
อาลีซัน บูโด
ขณะที่ อาลีซัน บูโด เป็นอีกคนหนึ่งที่พบกับปัญหานี้ แรงระเบิดจากโกดังเก็บพลุและดอกไม้ไฟ ทำให้บ้านทั้งหลังหายไปในพริบตา แม้ได้รับเงินสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย แต่ไม่ได้เต็มวงเงิน จึงอยากได้เงินเยียวยาความเสียหายจากรัฐเพื่อนำมาสร้างบ้าน
“ไม่เคยมีการชี้แจงความคืบหน้าจากหน่วยงานในพื้นที่ว่าจะทำอย่างไร แบ่งแยกประเภทผู้ได้รับความเสียหาย และจ่ายชดเชยตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่บ้านที่มีประกันภัย มีทั้งหมด 27 หลัง เสียหายมากน้อยแตกต่างกันก็จริง แต่รัฐก็ควรจะเยียวยาอย่างเป็นธรรม และยุติธรรม ไม่ใช่ว่าบ้านที่มีประกัน ไม่จ่ายให้ทั้งๆ ที่ มันเป็นคนละส่วนกัน”

อาลีซัน บอกว่า จากคนไม่มีหนี้ ต้องเป็นหนี้เพราะกู้เงินมาสร้างบ้าน ไม่มีรายได้ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนมีอาชีพค้าขาย ค่าเช่าบ้านที่รัฐจ่ายให้ 6 เดือน ขณะที่ผ่านไปแล้ว 3 เดือนไม่น่าจะพอ
แม้ในพื้นที่เกิดเหตุจะมีการถมดินและลงเสาเอกแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง สิ่งที่ต้องการนอกเหนือจากค่าชดเชย คือ ความจริง และคำชี้แจงจากหน่วยงานรัฐในพื้นที่
“เงินงบประมาณจากรัฐ และเงินบริจาค ควรถูกนำมาจัดสรรและแบ่งให้ตามเกณฑ์ผู้ที่ได้รับความเสียหาย การอ้างว่า บ้านหลังไหนที่ได้เงินประกันจากบริษัทประกันภัยแล้ว ไม่จ่าย ไม่มีงบให้ หรือหากมีงบประมาณเหลือแล้วจะแบ่งให้ มันไม่ยุติธรรมกับพวกเราเลย”
ไม่ได้มีเพียง โมฮาหมัด , นิฟัยรุส และ อาลีซัน ที่พบกับสภาพปัญหานี้ ยังมีครอบครัวอื่นๆ ในหมู่บ้านมูโนะที่ต้องเผชิญกับวิกฤติปัญหาดังกล่าว
จึงต้องจับตาดูว่า หน่วยงานรัฐในพื้นที่ จ.นราธิวาส จะเข้ามาคลี่คลายปัญหาให้ชาวบ้านอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รร.บ้านมูโนะ ทำแผนเผชิญเหตุ ฝึก "เด็ก" รับสถานการณ์ร้าย
แม่น้ำไหลกั้น "ไทยสยาม" สายสัมพันธ์ไม่เปลี่ยน