วันนี้ (12 ต.ค.2566) นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้เกิดข้อกังวลว่า อาจจะส่งผลให้ปริมาณข้าวในประเทศลดลง โดยระบุว่าภัยแล้งในปีนี้น่าจะผ่านไปแล้ว เพราะในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีฝนตกอย่างต่อเนื่องจึงทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก
ส่วนการส่งออกข้าวในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2566 นั้น หากไทยสามารถส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 700,000-800,000 ตัน คาดว่าทั้งปีไทยจะส่งออกข้าวได้ 8,000,000-8,200,000 ตัน
ปัญหาภัยแล้งปีหน้าไม่น่าวิตกมาก เพราะไทยเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวต่อปีที่ 33-34 ล้านตัน ข้าวเปลือกแปลงเป็นข้าวสารอยู่ที่ 20-22 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศแน่นอน
นายชูเกียรติกล่าวอีกว่า ผู้ส่งออกประเมินว่า ปี 2567 การส่งออกข้าวลดลงเหลือ 7.5 ล้านตัน และคาดว่าปีหน้าการแข่งขันในตลาดโลกจะสูงขึ้น เพราะเชื่อว่าอินเดียจะยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าว ซึ่งจะทำให้ตลาดข้าวกลับมาคึกคักมากขึ้น
สำหรับประเทศที่มีการส่งออกมากที่สุดในโลกยังเป็น อินเดียที่ยังครองเบอร์ 1 แม้ว่าปีนี้จะส่งออกลดลงจาก 22 ล้านตัน เหลือ 18 ล้านตันก็ตาม ส่วนไทยคาดว่าจะไม่สามารถกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ได้อีกเพราะขณะนี้เวียดนามแซงหน้าไทยขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวที่ 8,500,000 ล้านตัน
หากไทยเร่งส่งออกข้าว 3 เดือนให้ได้ 800,000 ตันขึ้นไป โอกาสที่ไทยจะส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของปีนี้ก็มีความเป็นไปได้
ขณะนี้ ราคาข้าวไทยต่ำกว่าเวียดนาม โดยข้าวขาวของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 580 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวเวียดนามอยู่ที่ 610 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่สิ่งที่ผู้ส่งออกกังวล คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนอยู่
ทั้งนี้หากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะทำให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ เพราะหากค่าเงินบาทแข็งค่า 1 บาทเท่ากับต้องไปเพิ่มราคาข้าวขาวถึง 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันยิ่งทำให้ผู้ส่งออกแข่งขันในตลาดโลกลำบาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: