ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประเมิน "อิสราเอล" บุก "กาซา" ได้คุ้มเสียหรือไม่ ?

ต่างประเทศ
11 ต.ค. 66
12:47
4,983
Logo Thai PBS
ประเมิน "อิสราเอล" บุก "กาซา" ได้คุ้มเสียหรือไม่ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กระแสข่าวเรื่องอิสราเอลเตรียมยกทัพบุกกาซาเพื่อจัดการกับกลุ่มฮามาสดังมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากอิสราเอลสามารถปิดล้อมพื้นที่รอบ ๆ กาซาได้เป็นผลสำเร็จ

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กระแสข่าวเรื่องอิสราเอลเตรียมยกทัพบุกกาซาเพื่อจัดการกับกลุ่มฮามาสดังมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากอิสราเอลสามารถปิดล้อมพื้นที่รอบ ๆ กาซาได้เป็นผลสำเร็จ

อ่านข่าว กต.เผย "แรงงานไทย" เสียชีวิตอีก 2 คน - ถูกจับเป็นตัวประกันเพิ่ม 3 คน 

แม้ว่าส่วนใหญ่ กองทัพอิสราเอลมักจะใช้การโจมตีทางอากาศเพื่อตอบโต้พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงของกลุ่มฮามาส แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่วิธีนี้เพียงวิธีเดียวจะได้ผล โดยนับตั้งแต่ถอนทัพออกจากกาซาเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว อิสราเอลเคยเปิดปฏิบัติการภาคพื้นดินเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น ซึ่งล่าสุดที่มีข้อมูล คือ เมื่อปี 2014

ภาพ : AFP

ภาพ : AFP

ภาพ : AFP

ที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอล เคยนำรถถังและทหารอิสราเอลข้ามรั้วที่กั้นพรมแดนเข้าไปในกาซา เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ปี 2014 หรือ 1 วัน หลังเริ่มยกทัพบุกโจมตีกลุ่มฮามาส ซึ่งอิสราเอล ระบุว่า ปฏิบัติการนี้มีขึ้นเพื่อฟื้นคืนสันติภาพให้กับชาวอิสราเอล

อ่านข่าว ไปอิสราเอลแค่ 7 วัน ถูกจับเป็นตัวประกัน ภรรยาวอนช่วยสามีคนไทย

ปฏิบัติการภาคพื้นดิน เป็นส่วนหนึ่งของ Operation Protective Edge เกิดขึ้นประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากกองทัพอิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ พร้อม ๆ กับการทยอยลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์มาประจำการตรงบริเวณพรมแดนอิสราเอล-กาซา และเรียกระดมกำลังพลสำรองมากถึง 65,000 นาย

Operation Protective Edge แบ่งออกเป็น 3 เฟสด้วยกัน เริ่มต้นด้วยการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายในกาซามากกว่า 30 จุด ก่อนที่จะส่งทหารเข้าไปเพื่อทำลายเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินของฮามาส ซึ่งไม่สามารถใช้การโจมตีทางอากาศจัดการได้ ก่อนที่จะเริ่มเจรจาหยุดยิงเป็นระยะๆ โดยมีอียิปต์เข้ามาเป็นตัวกลางจนสามารถบรรลุข้อตกลงและยุติการสู้รบได้ในที่สุด

ภาพ : AFP

ภาพ : AFP

ภาพ : AFP

แม้ว่าปฏิบัติการนี้จะทำให้อิสราเอลตรวจพบและสามารถทำลายเครือข่ายอุโมงค์ได้ 32 แห่ง แต่ตัวเลขความสูญเสียก็มหาศาล โดยเฉพาะในฝั่งของปาเลสไตน์ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,200 คน ซึ่งเกินครึ่งเป็นพลเรือนและในจำนวนนี้มีเด็กมากกว่า 550 คน รวมอยู่ด้วย ขณะที่อีก 5 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมดในกาซา ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

หากประเมินจากความขัดแย้งก่อนหน้านี้ รัฐบาลภายใต้การนำของเบนจามิน เนทันยาฮู มีแนวโน้มที่จะใช้การโจมตีทางอากาศมากกว่า เนื่องจากต้องการลดความสูญเสียในฝั่งอิสราเอลให้ได้มากที่สุด และจำกัดความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในฝั่งกาซา

อ่านข่าว สื่ออิสราเอลรายงานพบ "คนไทย" 14 คน ใกล้เขตกาซา 

แต่การบุกโจมตีอิสราเอลของฮามาสในรอบนี้อุกอาจอย่างมากและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะตัวเลขผู้เสียชีวิตในอิสราเอลที่ตอนนี้พุ่งทะลุ 1,000 คนไปแล้ว บวกกับเสียงสนับสนุน ทั้งฝั่งการเมืองและฝั่งประชาชน ทำให้มีโอกาสสูงมากที่ผู้นำอิสราเอลจะตัดสินใจเปิดปฏิบัติการภาคพื้นดิน

ขณะนี้ กองทัพอิสราเอลเรียกระดมกำลังพลสำรองแล้วมากถึง 300,000 นาย ประจำการรถถังและสั่งอพยพชาวบ้านในมากกว่า 20 หมู่บ้านใกล้พรมแดนกาซา ดำเนินการปิดล้อมกาซาอย่างเต็มรูปแบบ ตัดน้ำ ตัดไฟและเส้นทางลำเลียงเสบียงทั้งหมด นี่จึงยิ่งตอกย้ำถึงโอกาสที่กองทัพอิสราเอลจะบุกโจมตีกาซาที่กำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ แม้จะรู้ว่ามีความเสี่ยงสูงมากรออยู่ข้างหน้าก็ตาม

ภาพ : AFP

ภาพ : AFP

ภาพ : AFP

ความเสี่ยงแรก คือ ความหนาแน่นของประชากร เพราะในกาซา มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 2.3 ล้านคน แออัดกันอยู่ในพื้นที่ที่เล็กกว่ากรุงเทพฯ บ้านเรามากกว่า 4 เท่า รวมทั้งไม่ใช่ทุกพื้นที่ในกาซาจะอาศัยอยู่ได้ทั้งหมดอีกต่างหาก

ขณะที่การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในแต่ละวัน ทำให้อาคารบ้านเรือนพังเสียหาย จนตัวเลขผู้พลัดถิ่นในกาซาพุ่งสูงเป็นมากกว่า 180,000 คน เข้าไปแล้ว ซึ่งหากเกิดการบุกโจมตีภาคพื้นดินขึ้นมาจริง ๆ ตัวเลขความสูญเสียฝั่งพลเรือนน่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และอาจกลายเป็นเชื้อไฟโหมกระพือความเกลียดชังและกระแสต่อต้านอิสราเอลให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น

อ่านข่าว เปิดศักยภาพอาวุธ "ฮามาส" ต่อกรอิสราเอล 

นอกจากนี้ ฮามาสยังจับกุมตัวประกันเอาไว้ในกาซาอีกประมาณ 150 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้กำลังเป็นไพ่สำคัญสำหรับฮามาสที่จะใช้ต่อรองหลังจากนี้ หรือถ้าปฏิบัติการของอิสราเอลทำให้ตัวประกันเหล่านี้เสียชีวิต ซึ่งรวมถึงตัวประกันต่างชาติด้วย รัฐบาลอิสราเอลก็ต้องมีคำอธิบายที่สมเหตุสมผลให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต

อีกหนึ่งจุดที่อิสราเอลน่าจะกังวล นั่นคือ การเตรียมความพร้อมของนักรบฮามาส ซึ่งน่าจะคาดการณ์เอาไว้อยู่แล้วว่าอย่างไร อิสราเอลจะต้องยกทัพบุกโจมตีเพื่อตอบโต้ ดังนั้น อิสราเอลจะรับมือกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้อย่างไร เพราะเป็นคนในพื้นที่ และรู้เส้นทางทั้งหมด โดยเฉพาะการใช้อุโมงค์ใต้ดิน ดังนั้นการเปิดสงครามในเมืองยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการถูกซุ่มโจมตีอย่างแน่นอน

ภาพ : AFP

ภาพ : AFP

ภาพ : AFP

ที่สำคัญที่สุดและน่ากลัวที่สุด หนีไม่พ้น การใช้วิธีพลีชีพอย่างระเบิดฆ่าตัวตาย หรือใช้รถยนต์ติดระเบิดพุ่งทำลายเป้าหมาย ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายทางร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อขวัญกำลังใจของทหารอิสราเอลด้วย

สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ อิสราเอลไม่ได้ต้องการกำจัดฮามาสให้สิ้นซาก เพราะกังวลว่า กลุ่มใหม่ที่เข้ามาครองอำนาจ อาจมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงมากกว่า ส่วนคำถามที่สำคัญต่อจากนี้ คือ เมื่อยกทัพเข้าไปแล้ว จะกลับออกมาได้อย่างไร  เรื่องนี้อิสราเอลต้องวางแผนและเตรียมการให้พร้อม เพราะเจองานหินแน่ๆ

 วิเคราะห์ : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สื่ออิสราเอลรายงานพบ "คนไทย" 14 คน ใกล้เขตกาซา  

เปิดศักยภาพอาวุธ "ฮามาส" ต่อกรอิสราเอล  

ไปอิสราเอลแค่ 7 วัน ถูกจับเป็นตัวประกัน ภรรยาวอนช่วยสามีคนไทย 

กต.เผย "แรงงานไทย" เสียชีวิตอีก 2 คน - ถูกจับเป็นตัวประกันเพิ่ม 3 คน 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง