วันนี้ (9 ต.ค.2566) เมื่อเวลา 11.00 น.นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารสนเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สถานทูตฯ ได้รับแจ้งจากแรงงานไทย และนายจ้างว่า ชาวไทยได้รับบาดเจ็บ 8 คน เข้าดูแลรักษาในโรงพยาบาลแล้ว ถูกจับเป็นตัวประกัน 11 คน และมีคนไทยเสียชีวิต 12 คน
ขอส่งกำลังใจพี่น้องแรงงานชาวไทย
ขณะนี้สถานการณ์ยังมีความรุนแรง และมีการโจมตีด้วยจรวดจากฉนานกาชา ฝ่ายรัฐบาลอิสราเอล พยายามกระชับพื้นที่ และพยายามช่วยเหลือตัวประกันที่ถูกจับกุมไปมีพลเรือนทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยมีการออกมายืนยันว่ามีผู้ถูกจับตัวไปอย่างน้อย 100 คน เป็นพลเรือนอิสราเอล ฝรั่งเศส เยอรมัน จอร์เจีย ไทย
รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอิสราเอล ประกาศให้อิสราเอลอยู่ในภาวะสงคราม โดยจะอพยพพลเรือนทุกคนออกจากเมืองที่อยู่ใกล้พรมแดนฉนานกาชา รวมถึงคนไทยด้วย ซึ่งจะอพยพให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง
กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ระบุว่า ท่าอากาศยานยังเปิดทำการตามปกติ โดยมีเที่ยวบินเข้า-ออก ร้อยละ 50 ตามจำนวนก่อนเกิดเหตุโจมตี ซึ่งหากประเทศใดประสงค์อพยพก็สามารถดำเนินการได้ ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงจำนวนพลเรือนอิสราเอลและชาวต่างชาติที่เสียชีวิต หรือถูกจับเป็นตัวประกัน
นางกาญจนา กล่าวว่า ส่วนเรื่องรายชื่อผู้เสียชีวิต ต้องรอติดต่อและแจ้งญาติก่อน และทางการอิสราเอลยังไม่ยืนยันรายชื่อ นอกจากนี้ กองทัพอิสราเอลได้เริ่มอพยพคนไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ซึ่งการเดินทางกลับประเทศไทย ได้มีการประชุมเมื่อวานนี้ (8 ต.ค.) โดยเตรียมการใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศในภารกิจอพยพ ซึ่งฝ่ายอิสราเอลระบุว่า ขณะนี้อาจยังไม่จำเป็นต้องมีการอพยพ แต่หากฝ่ายไทยต้องการอพยพแรงงานไทย ก็พร้อมอำนวยความสะดวก
จากการกรอกแบบฟอร์ม ณ วันที่ 8 ต.ค.2566 พบว่า มีคนไทยจำนวน 1,099 คน ประสงค์ขอกลับไทย และแจ้งยังไม่กลับ 22 คน โดยจะมีการแจ้งข้อมูลเพิ่มเติม เพราะมีคนไทยในอิสราเอล 30,000 คน และอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาชา 5,000 คน
จากการประเมินสถานการณ์ของนักวิเคราะห์ เชื่อว่าสถานการณ์ความรุนแรงน่าจะยืดเยื้อ โดยสถานทูตฯ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ
ผู้สื่อข่าวถามถึงสัญญาณที่จะส่งเครื่องบินไปอพยพคนไทยได้เมื่อใดนั้น นางกาญจนา กล่าวว่า ประกอบด้วยหลายส่วน ทั้งจำนวนคนไทยที่แสดงประสงค์จะเดินทางกลับ, การลำเลียงคนจากพื้นที่ไม่ปลอดภัยสู่พื้นที่ปลอดภัย และจุดรวมพลว่าสามารถทำได้ในระยะเวลาเท่าใด ซึ่งต้องเน้นเรื่องความปลอดภัย โดยได้ดำเนินการขออนุญาตข้ามน่านฟ้ารองรับไว้ ส่วนการพูดคุยกับปาเลสไตน์ ได้สั่งการสถานทูตฯ ที่กัวลาลัมเปอร์ ติดต่อกับฝั่งปาเลสไตน์ รวมทั้งมีช่องทางติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบ เป็นความพยายามกันอยู่ในทุก ๆ ฝ่าย
แรงงานไทย 1,099 คนขอกลับไทย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวว่า ล่าสุดสถานการณ์แรงงานไทยในอิสราเอล เบื้องต้นจากการได้รับรายงานมาเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเดิมที่แจ้งไปก่อนหน้านี้ 2 คน เหลือเพียงแค่ 1 คน โดยผู้เสียชีวิตอีก 1 คน จากการยืนยันพบว่าเป็นคนจีน
ส่วนข้อมูลที่นายจ้างแจ้งว่า มีแรงงานไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 10 คน ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ เนื่องจากตอนนี้มีนายจ้างแจ้งข้อมูลมาหลายส่วน
ส่วนตัวเลขแรงงานไทยที่ถูกจับตัวไป ยังคงได้รับการยืนยันที่ 11 คน ส่วนผู้บาดเจ็บวันนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 9 คนแล้ว
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยในอิสราเอล ประสงค์เดินทางกลับไทย ทั้งหมด 1,099 คน ส่วนแรงงานที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้มีการอพยพมาในพื้นที่ปลอดภัยแล้วบางส่วน
ส่วนความกังวลของแรงงานไทยในอิสราเอล เกี่ยวกับการเดินทางกลับไทย แล้วจะทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานที่อิสราเอลได้เหมือนเดิม นายพิพัฒน์ ยืนยัน และรับปากว่า จะทำทุกทางให้แรงงานกลับไปทำงานได้เหมือนเดิม และจะพยายามหาประเทศใหม่รองรับแรงงานกลุ่มนี้
อ่านข่าว "พิพัฒน์" อัปเดต 2 คนไทยรอดชีวิต-แรงงาน 1,099 คนขอกลับบ้าน
ส่งทีม MCATT ประกบครอบครัวแรงงานไทย
ด้านนพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการดูแลสภาพจิตใจของญาติที่เป็นแรงงานไทยในอิสราเอลว่า ขณะนี้ได้ประสานขอข้อมูลจากระทรวงแรงงาน และกระทรวงต่างประเทศ เพื่อนำรายชื่อแรงงานทั้งหมด ติดตามหาญาติ เพื่อพูดคุยและดูแลสภาพจิตใจ หลังเกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอล-ฮามาส
เบื้องต้นได้รับรายงานว่า แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อิสาน จึงทางเตรียมให้ทางศูนย์สุขภาพจิตในพื้นที่ ส่งทีม MCATT ตามประกบครอบครัวและญาติ แบ่งเป็น ญาติแรงงาน และเหยื่อในเหตุการณ์ และหากภายหลังสามารถนำแรงงานไทยกลับมาไทย ก็จะส่งทีมสุขภาพจิตตามประกบอีกครั้ง
อ่านข่าว
กต.รายงานคนไทยตาย 12 คน "อิสราเอล" ยืนยัน 2 ข้อมูลจากนายจ้าง 10 คน