ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หย่าศึก "อิสราเอล-ฮามาส" ยังไร้วี่แวว

ต่างประเทศ
9 ต.ค. 66
10:57
1,505
Logo Thai PBS
หย่าศึก "อิสราเอล-ฮามาส" ยังไร้วี่แวว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การประกาศภาวะสงครามของอิสราเอล และความรุนแรงที่ขยายวงกว้างออกไป ทำให้สถานการณ์ยิ่งน่ากังวลมากขึ้น แม้จะเห็นหลายประเทศออกมาเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งยับยั้งชั่งใจ แต่ทั้งฮามาสและอิสราเอลไม่มีทีท่าว่าจะยอมถอย ขณะนี้มีโอกาสสูงมากที่อิสราเอลจะเปิดปฏิบัติการภาคพื้นดิน

แม้การโจมตีของฮามาสจะทำให้อิสราเอลไม่ทันตั้งตัว แต่นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า เหตุรุนแรงในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย เมื่อประเมินจากสถานการณ์ตึงเครียดก่อนหน้านี้ โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2566 ก่อนที่ฮามาสจะเปิดการโจมตี มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงไปแล้วอย่างน้อย 247 คน ชาวอิสราเอล 32 คน และชาวต่างชาติอีก 2 คน

ตุรกีถือเป็นชาติแรก ๆ ที่ออกมาเปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย และพร้อมเข้ามาเป็นคนกลาง เพื่อช่วยผ่อนคลายสถานการณ์รุนแรง ในด้านหนึ่งอาจมองได้ว่า ตุรกีอยู่ในจุดที่ได้เปรียบ เพราะแม้จะให้ที่พักพิงกับสมาชิกกลุ่มฮามาส และไม่ได้ขึ้นบัญชีกลุ่มนี้เป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่ตุรกีอยู่ในระหว่างฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิสราเอลด้วย

แต่ฝั่งอิสราเอล เอกอัครราชทูตประจำกรุงอังการา ชี้ว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงเรื่องการเจรจาหาทางออกในช่วงเวลาที่การสู้รบยังไม่สงบลง และอิสราเอลยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ความสูญเสียได้เลย

นับตั้งแต่ฮามาสปกครองกาซา เมื่อเดือน มิ.ย.2550 เหตุปะทะกันระหว่างสมาชิกของฮามาสกับอิสราเอลเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่ง 4 เหตุการณ์นี้ถือว่ารุนแรงที่สุดและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่อิสราเอลจะใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเพื่อตอบโต้การยิงจรวดของกลุ่มฮามาส หากไม่ได้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหยุดยิงเอง ก็มักจะมีคนกลางเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย

เหตุปะทะเมื่อปี 2555 อียิปต์และสหรัฐฯ เข้าช่วยเจรจาหยุดยิง แต่สถานการณ์สงบได้ไม่นาน ก่อนที่ข้อตกลงหยุดยิงจะล่มในปี 2557 ซึ่งอียิปต์ก้าวเข้ามาเป็นตัวกลางสำคัญในการเจรจาอีกครั้ง รวมถึงในปี 2564 แต่บทบาทของอียิปต์ในความขัดแย้งรอบล่าสุดอาจไม่ง่ายนัก

สาเหตุหนึ่ง คือ ปฏิบัติการของฮามาสรอบนี้อุกอาจอย่างมาก ทั้งบุกเข้ามายึดพื้นที่ในดินแดนของอิสราเอล กราดยิงพลเรือน จับกุมตัวประกันและสังหารคนจำนวนมาก จนมีเสียงเรียกร้องจากชาวอิสราเอลที่ต้องการให้กองทัพบุกโจมตีและกวาดล้างกลุ่มฮามาส

โจมตีครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่สงคราม Yom Kippur

ขณะที่กลุ่มฮามาส ประกาศตั้งแต่วันแรกที่เริ่มปฏิบัติการโจมตีแล้วว่า การสู้รบครั้งนี้เป็นการทำศึกแบบเทหมดหน้าตัก และพร้อมรับกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด รวมถึงการที่อิสราเอลจะบุกโจมตีภาคพื้นดินด้วย โดยฮามาสจะเดินหน้าสู้รบต่อไปเพื่อเสรีภาพของชาวปาเลสไตน์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้กลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฮซบอลลาห์ อิหร่าน และซีเรีย ร่วมกันทำศึกต่อต้านอิสราเอลในครั้งนี้

การบุกโจมตีของกลุ่มฮามาสเข้าไปในอิสราเอลครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด นับตั้งแต่สงคราม Yom Kippur หรือสงครามเดือนตุลาคม เมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยถือเป็นสงครามอิสราเอล-อาหรับ ครั้งที่ 4

ในตอนนั้นอียิปต์และซีเรีย แอบจับมือกันเปิดปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัว เพื่อแย่งชิงพื้นที่บริเวณ "ไซไน" และ "ที่ราบสูงโกลาน" คืนจากอิสราเอล หลังจากพื้นที่ดังกล่าวถูกยึดไปตั้งแต่สงครามเมื่อปี 2510 ซึ่งการสู้รบที่เกิดขึ้น ทำให้มีชาวอิสราเอลเสียชีวิต 2,600 คน และบาดเจ็บ 7,000 คน

สงครามเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ต้องใช้เวลาถึง 243 วัน กว่าที่จะสามารถยุติการสู้รบลงได้อย่างเป็นทางการ หลังจากลงนามข้อตกลงที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งอียิปต์และซีเรียจะได้ดินแดนของตัวเองคืน โดยมีแนวกันชนของยูเอ็นกั้นกลาง

ก่อนที่ความสำเร็จนี้จะต่อยอดไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล ผ่านการลงนามข้อตกลงสันติภาพ เมื่อปี 2522 ซึ่งทั้งหมดต้องยกความดีความชอบให้กับรัฐบาลอเมริกันที่เข้ามาเป็นกาวใจประสานรอยร้าว โดยเฉพาะบทบาทของรัฐมนตรีต่างประเทศอย่าง Henry Kissinger กับการทูตแบบ Shuttle Diplomacy ที่ต้องเดินทางไป ๆ มา ๆ เพื่อเจรจากับแต่ละฝ่าย ซึ่งไม่ต้องการหารือกันโดยตรง

รายงาน : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหตุสู้รบระหว่าง ฮามาส - อิสราเอล เสียชีวิตแล้วกว่า 1,000 คน 

กต.รายงานคนไทยตาย 12 คน "อิสราเอล" ยืนยัน 2 ข้อมูลจากนายจ้าง 10 คน 

"พิพัฒน์" อัปเดต 2 คนไทยรอดชีวิต-แรงงาน 1,099 คนขอกลับบ้าน 

ชุมชนเกษตร "คิบบุตซ์-โมชาฟ" จุดทำงานแรงงานไทยในอิสราเอล 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง