ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ตะโละมาเนาะ" จ.นราธิวาส มัสยิดเรือนไม้เก่าแก่ อายุเกือบ 4 ศตวรรษ

สังคม
7 ต.ค. 66
11:07
3,161
Logo Thai PBS
"ตะโละมาเนาะ" จ.นราธิวาส มัสยิดเรือนไม้เก่าแก่ อายุเกือบ 4 ศตวรรษ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ตะโละมาเนาะ" จ.นราธิวาส มัสยิดเรือนไม้เก่าแก่ อายุเกือบ 4 ศตวรรษ ศูนย์รวมแห่งศรัทธาของคนไทยมุสลิมในพื้นที่ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนที่สำคัญ

มัสยิดตะโละมาเนาะ หรือ มัสยิดวาดิล ฮูเซ็น มัสยิดโบราณสมัยอยุธยาตอนต้น หรือที่ชาว อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เรียกว่า "มัสยิด 300 ปี" ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาบูโด หมู่ 1 บ้านตะโละมาเนาะ ต.ลุโบะสาวอ ศูนย์รวมแห่งศรัทธาของคนไทยมุสลิมในพื้นที่ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนที่สำคัญ

"ตะโละมาเนาะ" เป็นคำภาษามลายู "ตะโละ" (teluk) แปลว่า "อ่าว" หรือแผ่นดินที่เว้าเข้าไปในเชิงเขา ส่วนคำว่า "มาเนาะ" (manok) เป็นชื่อพรรณไม้ท้องถิ่นชนิดหนึ่ง จึงมีความหมายว่า "บริเวณที่มีต้นมาเนาะ" แต่บางแห่งก็ว่า "มาเนาะ" เป็นคำมลายูเก่า แปลว่า "นก" หรือ "ไก่" ส่วนชื่อมัสยิดวาดีลฮูเซ็น ตั้งตามนามของ "วันฮุซเซน อัซซานาวี"

มัสยิดตะโละมาเนาะ มัสยิดเรือนไม้เก่าแก่ ตามประวัตินายวันฮูเซ็น อัสซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จ.ปัตตานี เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2167 หรือ ค.ศ.1624 โดยจะมีอายุครบ 400 ปี ในปี 2567

มัสยิดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในมัสยิดเป็นที่เก็บรักษาพระคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเขียนด้วยลายมือของ วันฮุซเซน อัซซานาวี อิหม่ามคนแรกของมัสยิด

ภาพจาก : ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

ภาพจาก : ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

ภาพจาก : ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

"มัสยิดตะโละมาเนาะ" เริ่มแรกสร้างหลังคามุงใบลาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา ลักษณะของมัสยิดมีความแตกต่างจากมัสยิดทั่วไป คือเป็นอาคาร 2 หลังติดต่อกัน สร้างด้วย "ไม้ตะเคียน" ที่มีอยู่มากในป่าบูโด หลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเก่าแก่ของมัสยิดหลังนี้ คือ ใช้ไม้สลักแทนตะปู หรือ สกรูเหล็กยึดไม้เลย แต่ใช้สลักไม้แทน

ข้อมูลจากหนังสือ มัสญิดบ้านตะโละมาเนอะ ระบุ ชาวบ้านเล่าว่าสมัยนั้นไม่มีเลื่อน กบ และตะปู การผ่าไม้ใช้ผ่าด้วยลิ่มตัดด้วยขวาน และถากด้วยผึ่ง หรือ ละแมะ (Beliong) รูปคล้ายจอบสำหรับถากไม้ให้เรียบ และมีเครื่องมือสร้างมัสยิดอีกอย่างที่ชาวบ้านเก็บรักษาอยู่ ชาวบ้านเรียก "จือตา" รูปร่างคล้านขวาน

รูปทรงของอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีนและมลายู อาคารมัสยิดหลังแรก มีหลังคาทั้งหมด 3 ชั้น เสาอาคารแกะสลักลาย "ดอกพิกุล" สำหรับหลังคาชั้นที่ 3 เป็นโดมรูปเก๋งจีนแท้อยู่บนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ในอดีตเก๋งจีนจะถูกใช้เป็น "หออาซาน" (หอคอยประกาศเรียกละหมาด)

ส่วนอาคารมัสยิดหลังที่ 2 กำหนดให้มีหลังคา 2 ชั้น โดยหลังคาชั้นที่ 2 มีจั่วบนหลังคา ชั้นแรกมีฐานดอกพิกุลหงายรองรับจั่วหลังคาอีกชั้นหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานการสร้างด้วยศิลปะทางมลายู ไทย และจีน มีคุณค่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความงดงาม แสดงออกถึงอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของพหุสังคม

ภายใน "มัสยิดตะโละมาเนาะ" ยังมีสิ่งที่ล้ำค่า คือ คัมภีร์กุรอานที่เขียนด้วยลายมือที่กล่าวกันว่า วัน ฮุซเซน เป็นผู้เขียน ซึ่งเป็นลายมือที่สวยงามไม่แพ้ที่พิมพ์จากโรงพิมพ์ ซึ่งมีจำนวนหลายสิบเล่ม เพื่อแจกจ่ายไปที่ต่าง ๆ เพราะสมัยนั้นยังหาฉบับพิมพ์ไม่ได้

เนื่องจากเป็นมัสยิดเก่าแก่มาก "มัสยิดตะโละมาเนาะ" จึงมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ที่มีความสนใจในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และการศึกษาเรียนรู้ในสถาปัตยกรรมเก่าแก่ โดยทั่วไปเข้าชมได้บริเวณภายนอกเท่านั้น หากต้องการเข้าชม โต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้านต้องอนุญาตก่อน

อ้างอิงข้อมูล : ศอ.บต., ททท., จ.ปัตตานี, หนังสือ มัสญิดบ้านตะโละมาเนอะ (อับคุลลอฮ ลออแมน)

ติดตาม ไทยพีบีเอสสัญจร “เปิดเมืองนราธิวาส ฟื้นชีวิตมูโนะ” วันที่ 6-12 ต.ค. 66 ทุกช่องทางไทยพีบีเอส และ https://www.thaipbs.or.th/news/focus/ReviveMuno

อ่านข่าวอื่น ๆ

เร่งซ่อมแซมบ้านเรือนชาวมูโนะ หลังเสียหายจากเหตุโกดังพลุระเบิด

เปิดประตู "มูโนะ" หมู่บ้านชายแดนใต้ "สุไหงโก-ลก"

2 เดือน “โกดังพลุระเบิดที่มูโนะ” ทุกข์ยังไม่จางหาย ชาวบ้านยังคอยความช่วยเหลือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง