วันนี้ (6 ต.ค.2566) แถลงการณ์ของ 99 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ ที่มีรายชื่อบุคคลสำคัญในแวดวงวิชาการ และการเงิน การคลังประเทศ รวมทั้งอดีตผู้ว่าการและผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย ต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะเป็นนโยบายที่ ได้ไม่คุ้มเสีย
แถลงการณ์จาก 99 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์
อดีตผู้ว่าการ และ อดีตรองผู้ว่าการ ธปท. ร่วมลงนามเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาว หากจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อย ควรทำแบบเฉพาะเจาะจงแทนการเหวี่ยงแห ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทยและความสามารถในการจัดเก็บภาษี ไม่เอื้อให้ประเทศทำเช่นนั้น
การกระตุ้นการใช้จ่ายยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก
และอาจนำไปสู่สภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด
และการทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
สอดคล้องกับ อนุสรณ์ ธรรมใจ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า งานวิจัยหลายฉบับวิเคราะห์ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการแจกเงิน เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะน้อยกว่าการนำเงินไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีการจ้างงาน จึงมีข้อเสนอแนะ ให้ลดขนาดของโครงการฯ เน้นจ่ายเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยหรือชนชั้นกลางที่ประสบปัญหาหนี้ครัวเรือน
อนุสรณ์ ธรรมใจ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย
ทางด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ต้องฟัง แต่ถือว่าเป็นนโยบายหลักของพรรค ซึ่งพร้อมรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด รวมทั้งเสียงจากประชาชน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ขณะให้สัมภาษณ์ ยืนยันไม่ทบทวนแนวทางแจกทุกคน
อ่านข่าวเพิ่ม : หอการค้าโพล เผยปชช.เชื่อ ดิจิทัล10,000 บาท ดันเศรษฐกิจ