อย่างที่เรารู้ๆ กันว่า ฟุตบอลหญิงไทย เคยสร้างประวัติศาสตร์ ไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2015 ที่แคนาดา และ ปี 2019 ที่ประเทศฝรั่งเศส แม้ทั้ง 2 ครั้ง เราจะตกรอบแรก แต่ก็ยังเก็บชัยชนะมาได้ 1 นัด จากการชนะ ไอวอรี โคสต์ 3-2 นั่นได้สร้างกระแสความตื่นตัว และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักฟุตบอลเยาวชนหญิงไทยทั่วประเทศ ที่ต้องการเดินตามรอยไอดอล ไปอยู่ในจุดๆ นั้น
ถึงอย่างนั้น ฟุตบอลหญิงไทย ก็ยังถูกปรามาสว่า “ใช้ดวง” มากกว่า ฝีเท้า ที่ได้ไปฟุตบอลโลก เนื่องจาก มีการเพิ่มโควตาให้กับ ทวีปเอเชียเป็น 5 ทีม ในขณะที่ฟุตบอลชายได้เพียง 4 ทีมครึ่ง แถมทีมที่ร่วมทำการแข่งขันก็น้อยกว่า ที่สำคัญ 2 ครั้งที่ไทยได้ไปบอลโลก เกาหลีเหนือ มหาอำนาจบอลหญิงเอเชีย ก็ถูกแบนจากฟีฟ่าจากเรื่องสารกระตุ้นด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งก็ต้องยกความดีความชอบให้พวกเธอ ที่ผลงานความสำเร็จ ก็มาจากความพยายาม ในการเตรียมทีม ที่ยาวนาน มีการออกไปอุ่นเครื่องต่างประเทศ และที่เบื้องหลัง มาจาก การทุ่มเทสุดชีวิตของ มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีมในยุคนั้นด้วย
ชนะในฟุตบอลโลก
ไปฟุตบอลโลก โดยไม่มีลีกอาชีพ
ใครจะเชื่อว่า ไปฟุตบอลโลกมาแล้ว 2 สมัย แต่ตลอด 13 ปี มานี้ ฟุตบอลหญิงไทย พึ่งจะมีจัดการแข่งขัน ฟุตบอลลีกหญิงไปเพียงแค่ 9 ครั้งเท่านั้น โดยครั้งแรกสุดก็คือปี 2008-2009 ในยุคที่ บังยี วรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอล โดยลีกหญิงช่วงนั้น ใช้รูปแบบการจัดแบบ เตะสนามกลาง และใช้เวลาแข่งขันไม่นาน เพียง 3-4 เดือนเท่านั้น
ฟุตบอลลีกหญิงไทย มีเว้นว่างไปในช่วงปี 2012 และปี 2014 ยาวไปจนถึง 2016 ซึ่งช่วงนั้น กลายเป็นช่วงที่ฟุตบอลหญิงไทยรุ่งเรืองสุดขีด หลังสามารถไปฟุตบอลโลกสมัยแรก จนถึงขนาดที่สื่อต่างชาติ ตีข่าวแปลกใจว่า ฟุตบอลหญิงไทย มาฟุตบอลโลกได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีลีกแข่งในประเทศ และยังมาได้แชมป์อาเซียนอีกในปี 2016
ก่อนที่ในปี 2017 ในยุค พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นั่งประมุขบอลไทย จะกลับมาแข่งขันฟุตบอลลีกหญิงอีกครั้ง ต่อเนื่องในปี 2018-2019 แต่เนื่องจากใกล้ภารกิจฟุตบอลโลก ที่ฝรั่งเศส ที่อาจทำให้นักฟุตบอลบาดเจ็บได้ สุดท้ายก็ประกาศยกเลิกการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ และให้ โรงเรียนกีฬาชลบุรี กับ บัณฑิตเอเชีย ครองแชมป์ร่วมซะอย่างนั้น
แต่ในปี 2020 ถึง ปัจจุบัน สมาคมก็ได้กลับมาจัดฟุตบอลลีกหญิงกันอีกครั้ง และมีการจดทะเบียนเป็นสโมสรอาชีพขึ้น แต่พยายามทำให้เป็นรูปแบบมืออาชีพมากขึ้น
ฟุตบอลหญิง พึ่งมีลีกแบบถูกกฎหมายเพียง 2ปี และ มีการจดทะเบียนสโมสรเป็นกีฬาฟุตบอลหญิงอาชีพที่ถูกต้อง ก็พึ่งมีในยุคสมัยผมนี่แหละ เราพึ่งมีลีกไม่กี่ปี จะให้มีความเข้มแข็ง หรือมีความนิยมเหมือนฟุตบอลชายเนี่ย มันคงเป็นไปไม่ได้ มันต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป
ก็ต้องให้โอกาสนะครับ ค่อยๆ พัฒนา สมาคมฟุตบอลสนับสนุนทุกลีกอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าเราพึ่งมีลีกหญิงที่ถูกกฎหมายเพียง 2 ปีเอง
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในงานมอบเงินอัดฉีดให้กับชบาแก้วชุดยู19 วันที่ 3 สิงหาคม 2566
ไปฟุตบอลโลกครั้งแรก
ประเทศเดียวในโลก ที่รวมทุกรุ่น เล่นในลีกเดียว
อีกปัญหาหนึ่งของฟุตบอลหญิงประเทศไทย ก็คือจำนวนประชากรฟุตบอลหญิงที่ค่อนข้างน้อย เบ็ดเสร็จรวมๆ ไม่ถึง 1 หมื่นคน นั่นจึงทำให้ ลีกหญิงของไทย ดิวิชั่น 1 และ ดิวิชัน 2 มีนักเตะเกือบทุกรุ่นอายุเล่นอยู่ในลีกเดียวกัน อย่างเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา นักเตะอายุน้อยที่สุดในลีก คือ 12 ปี อายุมากที่สุดในลีก ก็คือ 38 ปี ซึ่งว่ากันตามจริง กระดูกก็คนละเบอร์แล้ว เราจึงจะได้เห็นผลการแข่งขัน ที่สกอร์ค่อนข้างถล่มทลาย 10-0 บ้าง 23-0 บ้าง และทีมแชมป์ก็จะวนเวียนอยู่ไม่กี่ทีม ชลบุรี , กรุงเทพมหานคร และ บัณฑิตเอเชีย ทำให้การแข่งขันฟุตบอลลีกหญิงในประเทศ ขาดความท้าทาย และการพัฒนาที่เป็นระบบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โปรแกรมทับซ้อน ลีกไม่ศักดิ์สิทธิ์
ปัญหาสำคัญใหญ่ๆ ของฟุตบอลลีกหญิงไทย คือทีมส่วนมากจะเป็นทีมโรงเรียนกีฬา เป็นทีมระดับมหาวิทยาลัย ที่มีรายการหลักในแต่ละปี อย่าง กีฬาเยาวชนแห่งชาติ กีฬาแห่งชาติ กีฬานักเรียนนักศึกษา กีฬามหาวิทยาลัย กีฬา อปท เยอะแยะไปหมด แถมโปรแกรมเหล่านี้ ก็ดันทับซ้อนกับฟุตบอลลีก เด็กๆเยาวชน ก็ต้องเล่นหลายๆ รายการ ไปพร้อมๆ กัน ด้วยประชากรที่มีจำกัด
อีกประเด็นสำคัญก็คือ โปรแกรมลีกมักจะจัดโปรแกรมที่ค่อนข้างถี่เกินไป เตะวันพุธ และ ไปเตะวันเสาร์ เป็นแบบนี้เกือบทั้งฤดูกาล เร่งให้จบเร็วๆ ด้วยงบประมาณที่จำกัดหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ผลกระทบ ผลเสียก็ไปตกอยู่กับ นักฟุตบอลที่ต้องกรำศึกหนัก ร่างกายต้องใช้งานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลเสียกับการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลหญิงในแต่ละรุ่นอายุไปด้วย
ฟุตบอลลีก
ผู้หญิง กับ อาชีพฟุตบอลที่ดูห่างไกล
ในช่วงไปฟุตบอลโลกครั้งแรก กระแสความตื่นตัวของฟุตบอลหญิงบูมสุดขีด มีหน่วยงานราชการ ผู้ใหญ่ในสมาคม รวมถึงรัฐบาล ที่รับปากว่าจะดูแลสวัสดิการ บรรจุงานที่มั่นคงให้พวกเธอ แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงการขายฝัน เพราะไม่มีนักฟุตบอลหญิงชุดนั้นที่ได้รับราชการเลยสักคนเดียว หรือแม้แต่ตอนที่ไปฟุตบอลโลกครั้งที่ 2 พวกเธอประกาศผ่านสื่อว่า อยากรับราชการ หรือมีงานประจำที่มั่นคงทำ ซึ่งก็มีผู้ใหญ่รับปากเหมือนเคย และก็เงียบหายเหมือนเคย
นักฟุตบอลหญิงทีมชาติยุคนั้น มีรายได้หลักจากการ สนับสนุนของผู้จัดการทีมที่ชื่อ มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ที่บรรจุเป็นพนักงานของบริษัท จ่ายเงินเดือนให้ทุกเดือน แบบไม่ต้องทำงานก็ได้ มีอัดฉีดให้ในการเล่นทีมชาติทุกนัด และมากกว่า ภาครัฐสนับสนุนเสียอีก
แต่หลังจบบอลโลก ที่ฝรั่งเศส มาดามแป้งประกาศยุติบทบาท ผู้จัดการทีม นั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้นักฟุตบอลหญิง ต้องดิ้นรน หารายได้ด้วยตัวเอง เพราะไม่มีรายได้จากเงินอัดฉีดทีมชาติอีกต่อไป
ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดของเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้น ตาล ณัฐกานต์ ชินวงษ์ อดีตนักฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย ที่ไปฟุตบอลโลกมาแล้ว 2 สมัย ที่ตัดสินใจหันหลังให้ฟุตบอล ด้วยวัย 28ปี ไปทำงานประจำที่บริษัทของอดีตผู้จัดการทีม ที่มีรายได้ต่อเดือนที่แน่นอนกว่า แม้จะทำใจลำบากกับการต้องเลิกเล่นสิ่งที่รัก แต่ความมั่นคงในชีวิต และครอบครัวที่รออยู่ข้างหลังก็ต้องมาก่อน
ฟุตบอลลีก
กีฬาชนิดเดียวกัน แต่ต่างกันสุดขั้ว
เมื่อเทียบกับฟุตบอลชาย แน่นอนว่า ความนิยมของฟุตบอลหญิง สู้ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง นั่นจึงทำให้ แรงสนับสนุน สปอนเซอร์ มูลค่าทางการตลาด จำนวนแฟนบอล ถูกเทไปที่ฟุตบอลชายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ฟุตบอลหญิง กลับต้องแข่งกันแบบเงียบๆ ประมาณว่าแข่งกันเอง ดูกันเอง ยังโชคดีที่ได้เงินสนับสนุนจากฟีฟ่ามาช่วยในการแข่งขัน
แต่ระยะเวลาของฟุตบอลลีกหญิงไทย ค่อนข้างสั้น แข่งเดือน กุมภาพันธ์ จบ กรกฎาคม แถมมีปิดลีกเพื่อทีมชาติในมหกรรมต่างๆ อีก 1เดือน เท่ากับว่าฟุตบอลลีกหญิงไทย แข่งเพียง 4 เดือนเท่านั้น อีก 7 เดือน นั้นนักฟุตบอลหญิงส่วนใหญ่ ต้องไปหาอาชีพอื่นๆทำ ซึ่งเราอาจจะเคยเห็นข่าว นักฟุตบอลหญิงไปขายล็อตเตอรี บ้าง ขับแกร๊บ ขายลูกชิ้น ทำนา ทำไร่ บ้าง เพราะลำพังเงินจากการเล่นฟุตบอลเพียง 4 เดือน ไม่อาจทำให้พวกเธอ มีรายได้ที่มั่นคงได้
26-27ปี คืออายุที่เข้าสู่จุดพีคของนักกีฬาฟุตบอลหญิงจริงๆ แต่แทนที่เราจะได้ใช้ศักยภาพของน้องๆเหล่านี้เต็มที่ กลายเป็นว่าส่วนใหญ่ตัดสินใจเลิกเล่น เพื่อไปประกอบอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ ไปตอบครอบครัวได้
เราใช้เวลาสร้างเค้ามาตั้งแต่อายุ12 แต่พอจบมหาวิทยาลัยอายุ 22-23 กว่าเค้าจะไปถึงจุดสูงสุดของระดับความสามารถที่ 25-26 เค้าต้องเลิกเล่น ซึ่งนักฟุตบอลที่เก่งๆหายไปจากตรงนี้หลายคน และหายไปเยอะมาก มันถึงพัฒนาไปไม่สุดสักที
โค้ชหนึ่งฤทัย สระทองเวียน อดีตเฮดโค้ชทีมชาติไทย และ เฮดโค้ชบัณฑิตเอเชีย
ฟุตบอลลีก
รายได้ บอลชาย-บอลหญิง ที่แตกต่าง
มีการเปรียบเทียบ เงินเดือนของนักฟุตบอลหญิง กับ นักฟุตบอลชาย ในหลายๆส่วน อย่างเงินแชมป์ลีกของผู้ชาย จะได้ถึง 10 ล้านบาท ในขณะที่แชมป์ลีกหญิงได้เพียง 5 แสนบาท ส่วนเงินเดือนสูงสุดของฟุตบอลชาย อยู่ที่ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่ 1 ล้าน 2 แสนบาท ในขณะที่ฟุตบอลหญิง เงินเดือนสูงสุด คือ ธนีกานต์ แดงดา ที่ 3 หมื่นบาทเท่านั้น ยิ่งทำให้เห็นว่า ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ หรือ Gender pay Gab ของฟุตบอลไทย มันยิ่งห่างไกลนัก
แม้ปัจจุบัน ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ หรือ Gender Pay Gap จะเริ่มได้รับการแก้ไข บ้างแล้วในบางชาติ ในบางชนิดกีฬา ชัดที่สุดก็เห็นจะเป็น การแข่งขันเทนนิสระดับแกรนด์สแลม เริ่มจาก ยูเอส โอเพน ที่ประกาศให้เงินรางวัลสำหรับแชมป์ชายเดี่ยว และ หญิงเดี่ยว เป็นจำนวนเท่ากัน มาตั้งแต่ปี 1973
หรือถ้าในส่วนของฟุตบอล เมื่อปีที่แล้ว สหพันธ์ฟุตบอลของสหรัฐอเมริกา ก็พึ่งออกมาประกาศว่า ได้บรรลุข้อตกลงกับ สหภาพฟุตบอลชาย และ สหภาพฟุตบอลหญิง ในการจ่ายเงินค่าตอบแทนที่ได้รับจากเงินรางวัล ให้กับทีมฟุตบอลชายและหญิง ที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากันทุกรายการ และได้กลายเป็นโมเดลให้กับ อีกหลายๆชาติ ที่กำลัง หารือ เพื่อจะใช้ หลักเกณฑ์นี้ ในอนาคตด้วยเช่นกัน
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงแค่บางส่วน และเป็นส่วนน้อย ซึ่งถ้านับแค่วงการกีฬา ที่แม้จะมีผู้หญิงทำอาชีพเกี่ยวกับกีฬามากขึ้น แต่ในปัจจุบันก็ยังพบว่าค่าตอบแทนจากการทำงานของพวกเธอ ก็ยังสู้ผู้ชายไม่ได้อยู่ดี
บางทีตอนนี้คำว่า ฟุตบอลโลก อาจจะไม่ใช่งานที่ยากเกินเอื้อมอีกต่อไปแล้ว แต่การทำอย่างไรให้ฟุตบอลหญิงเป็นอาชีพที่แท้จริง น่าจะเป็นความท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันอย่างจริงจังมากกว่า
เขียนโดย : พงศ์พิสิฐ อินทรนันท์