รู้จักมูโนะให้มากขึ้น
หากต้องการเดินทางไปมูโนะ หลังจากลงที่สนามบินในตัวเมืองแล้ว สามารถนั่งรถไฟไปที่ สถานีสุไหงโก-ลก แล้วต่อด้วยรถยนต์-จักรยานยนต์ ประมาณ 13 กม. ก็จะถึง ต.มูโนะ ประชากรมูโนะส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์เศรษฐกิจค่อนข้างดี ประกอบอาชีพ ค้าขาย ทำสวนยางพารา ทำนา ทำสวนผลไม้ เป็นอาชีพหลัก และประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพรอง
สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก
มูโนะเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ติดกับที่ราบบริเวณแม่น้ำสุไหงโก-ลก (ฝั่งซ้าย) และเขตป่าสงวนแห่งชาติ "สุไหงปาดี" มีชุมชนอยู่กันไม่หนาแน่น กระจายตัวตามหมู่บ้าน และส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามที่ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่นการแต่งกายที่ต้องให้ถูกต้องตามหลักศาสนา มีพิธีถือศีลอดหรือ "ปอซอ" ในเดือน 9 ของปีฮิจเราะห์ศักราช และ ฮารีรายอ 2 ครั้ง คือวันอีดิลฟิตรี และ วันอิดิลอัฎฮา
แม้จะเป็นตำบลไม่ใหญ่มาก แต่ที่ "มูโนะ" มีศิลปการแสดงพื้นบ้านมากมาย อาทิ
- ซีละ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ที่มีลักษณะคล้ายมวยไทยและมวยปล้ำรวมกัน
- ลิเกฮูลู ปรกติมักจะเล่นในหมู่บ้านเนื่องในงานเข้าสุหนัต
- กรือโต๊ะ เป็นชื่อกลอง ใช้ตีในงานพิธีสำคัญ ปัจจุบันนำมาตีประชันแข่งขันระหว่างหมู่บ้าน
- บานอร์ เป็นชื่อกลอง ใช้ตีในงานพิธีต่างๆ เช่น พิธีเข้าสุนัต พิธีแต่งงาน
- รองเง็ง นิยมละเล่นในงานพิธีต่างๆ ทั้งในหมู่ชาวพุทธและชาวไทยมุสลิม
5 หมู่บ้านใน ต.มูโนะ
ต.มูโนะ เป็นตำบลหนึ่งของ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส "มูโนะ" มาจากคำว่า "กาแจมูโนะ" ซึ่งมาจากชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง ลักษณะใบเหมือน ใบของต้นถั่วฝักยาว มีลำต้นที่ใหญ่มากและสูงกว่าต้นไม้อื่นๆ ในบริเวณเดียวกัน เป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็ง ผลมีรสเปรี้ยวหวาน ให้ความร่มรื่นแก่ชาวบ้านที่ผ่านไปมา จึงถูกนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
- หมู่ที่ 1 บ้านมูโนะ ตั้งอยู่ห่างจากตัว อ.สุไหงโก-ลก ประมาณ 10 กม. มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขาลาดเอียง ติดกับแม่น้ำสุไหงโก-ลก พื้นที่ชุมชนจะอยู่กันไม่หนาแน่น แต่กระจุกเป็นกลุ่มๆ บางพื้นที่โดยเฉพาะในเขตตลาดมูโนะ และในเขตปอเนาะใน ชาวบ้านมูโนะ ประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก โดยมีตลาดนัดมูโนะเป็นตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดใน อ.สุไหงโก-ลก อาชีพรองลงมาคือรับจ้าง เช่น ปักดอกเสื้อ และอาชีพเกษตรกรรม เช่น กรีดยาง ทำนา
บรรยากาศผู้คนจับจ่ายในตลาดมูโนะ
- หมู่ที่ 2 บ้านลูโบ๊ะลือซง มาจากคำ 2 คำ มารวมกัน คือ ลูโบ๊ะ ความหมายว่าบึง และ ลือซง ความหมายว่าครก ซึ่งรวมกันเป็น "ลูโบ๊ะลือซง" มีความหมายว่า "บึงครก" อยู่ห่างจากตัว อ.สุไหงโก-ลก ประมาณ 13 กม. สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบและที่ราบลุ่ม ชาวบ้านในหมู่บ้านลูโบ๊ะลือซง โดยส่วนใหญ่แล้วประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ทำการเกษตร
-
หมู่ที่ 3 บ้านปาดังยอ มีความหมายว่า "สวน(สนาม)มะพร้าว" หรือ "ทุ่งมะพร้าว" เพราะคำว่าปาดัง มีความหมายว่าสนาม หรือ ทุ่ง และคำว่ายอ มีความหมายว่ามะพร้าว อยู่ห่างจากตัว อ.สุไหงโก-ลก ประมาณ 15 กม. สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม และมีพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซีย โดยมีแม่น้ำโก-ลก เป็นแนวเขตพรมแดน ชาวบ้านในหมู่บ้านปาดังยอ โดยส่วนใหญ่แล้วประกอบอาชีพทำเกษตร และรับจ้างทั่วไป
-
หมู่ที่ 4 บ้านปูโป๊ะ มาจากคำว่า "กวาลอปูโป๊ะ" มีความหมายว่า "ปากอ่าวปูโป๊ะ" และ ปูโป๊ะ เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นในบริเวณปากอ่าว บ้านปูโป๊ะอยู่ห่างจากตัว อ.สุไหงโก-ลก ประมาณ 15 กม. มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เช่น รับจ้างปักดอก ก่อสร้าง และ อาชีพรองลงมาคืออาชีพเกี่ยวกับเกษตรต่างๆ เช่น เลี้ยงโค กระบือ ทำสวนยาง ทำนา
- หมู่ที่ 5 บ้านบูเก๊ะ เป็นภาษามลายูท้องถิ่น ซึ่งมีความหมายว่า "ภูเขา" อยู่ห่างจากตัว อ.สุไหงโก-ลก ประมาณ 10 กม. ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบ ชาวบ้านในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง เช่น รับจ้างกรีดยาง ก่อสร้าง เป็นต้น อาชีพรองลงมาคืออาชีพเกี่ยวกับการเกษตร
6 ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อของชาวมูโนะ
ด้านหัตถกรรม ได้แก่ การทำกรงนก และ การทำไม้คั้นกะทิ เป็นการสร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ ชาวมาเลเซียนิยมเลี้ยงนกเขาชวา ทำให้กรงนกเป็นสินค้าที่มีความนิยมในพื้นที่ ส่วนไม้คั้นน้ำกะทิ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในพื้นที่ ต.มูโนะ ใช้เป็นที่ทุ่นแรงและเวลาในการคั้นกะทิที่เป็นที่นิยมในพื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
กรงนก 1 ในภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวมูโนะ
ด้านศิลปกรรม ได้แก่ การเล่นกรือโต๊ะ เป็นการละเล่นโบราณ ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดใครเป็นคนคิดขึ้นมา นิยมเล่นกันในคืนเดือนหงายหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะอากาศไม่ร้อนและบรรยากาศชวนให้สนุกสนาน นอกจากนี้ ยังนิยมเล่นกันในงานฉลอง งานเทศกาล หรืองานในวันสำคัญอื่นๆ
การเล่นกรือโต๊ะ 1 ในภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวมูโนะ
ด้านอาหาร ได้แก่ การทำตูปะ (ข้าวต้มใบกะพ้อ) และ ขนมอาเก๊าะ เป็นอาหารว่างอย่างหนึ่งทางตอนใต้ของไทย และยังงพบในบรูไน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ อีกด้วย ในวันตรุษหรือวันฮารีรายอของชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ชาวบ้านที่ทำงานต่างถิ่นจะนิยมอยู่บ้านล่วงหน้าวันรายอ อย่างน้อย 1 วัน ซึ่งถือว่าเป็นวันทำตูปะนอกจากนั้นยังมี ขนมอาเก๊าะ ขนมพื้นเมืองของมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยส่วนใหญ่จะทำขายในช่วงเดือนรอมฏอน (เดือนถือศีลอดของมุสลิม) เป็นอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย
การทำตูปะ (ข้าวต้มใบกะพ้อ) 1 ในภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวมูโนะ
เกาะติดความเคลื่อนไหวในพื้นที่ตลาดมูโนะ กับทีมไทยพีบีเอส
ด้านการแพทย์ไทย ได้แก่ การนวดแผนโบราณ (มลายู) การนวดแผนโบราณใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การนวดของหมอตำแย และ การนวดคลายเส้น
- การนวดของหมอตำแย เป็นการนวดกล่อมท้อง ทำให้คนท้องมีความสบายคลายปวดเมื่อย จัดท่าทางของทารกในครรภ์ ลดการกดทับของศีรษะเด็กที่มีต่ออุ้งเชิงกรานในช่วงอายุครรภ์ 7-8 เดือนครึ่ง
- การนวดคลายเส้น เป็นการนวดบำบัดความเจ็บป่วย ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มอาการปวดเมื่อย
ด้านภาษาและวรรณกรรม ได้แก่ การประพันธ์ร้อยกรอง ซาเยาะ (Sajak) บทกวีไร้ฉันทลักษณ์หรือบทกวีที่ไม่มีการสัมผัสเสียง ซาเยาะมักจะถูกหยิบยกมาใช้ในการแข่งขันด้านศิลปวัฒนธรรม ให้ผู้เข้าประกวดซาเยาะท่องประพันธ์ และขึ้นกล่าวซาเยาะบนเวที พร้อมประกอบท่าทาง สีหน้า อารมณ์ และน้ำเสียง สอดคล้องกับเนื้อหาของบทประพันธ์
ด้านเกษตรกรรม ได้แก่ การทำเกษตรผสมผสาน ใช้หลักบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน
ตลาดมูโนะ-แหล่งเศรษฐกิจชุมชนมูโนะ
ข้อมูลจาก ชุมชนท่องเที่ยวตลาดมูโนะ ระบุว่า ตลาดมูโนะ มีชื่อเรียกมากมายทั้ง โรงเกลือชายแดนใต้ หรือตลาดนานาชาติ ที่มาเกิดขึ้นกว่า 300 ปีมาแล้ว "มูโนะ" คือ ท่าเรือการค้าที่ผู้คนนิยมแวะแลกเปลี่ยนสินค้ากัน ในสมัยที่ผู้คนใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก กระทั่งเกิดเป็นชุมชนและคำว่ามูโนะ ก็ตั้งตามต้นไม้ชนิดหนึ่ง ชื่อ "กาแจมูโนะ" มูโนะเติบโตพร้อมวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่งดงามอย่างต่อเนื่อง
บรรยากาศผู้คนจับจ่ายในตลาดมูโนะ
ต่อมา พ.ศ.2419 โต๊ะครูรอซาลี บินยาลาลุดดีน จากอินโดนีเซีย ได้เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาอิสลามและได้สร้างมัสยิดขึ้นชื่อว่า "มัสยิดดารุสสาลาม" ที่ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างเดินทางเข้ามาศึกษาเรียนรู้ด้านศาสนา เป็นเหตุผลที่ตลาดมูโนะเป็นที่นิยมจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย
ตลาดมูโนะ เป็นตลาดชายแดน เปิดทุกวันเป็นอีกแหล่งจับจ่ายซื้อของที่เป็นที่นิยมของทั้งนักช้อปมาเลเซีย และประเทศไทย เพราะสินค้าราคาถูกมากมาย และยังมี "ขนมหัวเราะ" ของดีตลาดมูโนะ ขนมลูกกลมๆ มีรอยแยก 4 แฉก บ้างก็เรียก ขนมหินแตก, ขนมยิ้มเสน่ห์ มีกลิ่นหอมน่ากิน เนื้อสัมผัสคล้ายกับขนมบ้าบิ่น ขนมหัวเราะเป็นขนมโบราณที่หากินได้ยาก แต่หาได้ง่ายที่ตลาดมูโนะ
ขนมหัวเราะ ของดีตลาดมูโนะ
ไทยพีบีเอสสัญจร เปิดเมืองนราธิวาส "ฟื้นชีวิตมูโนะ"
ถอดบทเรียนโกดังพลุระเบิด อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ผ่านมาแล้ว 2 เดือน ชาวมูโนะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร?
ติดตามเรื่องราวจากพื้นที่ตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ตลอดทั้งสัปดาห์ วันที่ 6-12 ตุลาคมนี้ ที่นี่ และ ทางออนไลน์ ไทยพีบีเอส ทุกช่องทาง