วันนี้ (3 ต.ค.2566) กรณีเกิดเหตุยิงกลางห้างฯ พารากอน ย่านปทุมวัน เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 4 คน นอกจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้ว ยังสร้างความหวั่นใจเพิ่มขึ้นเมื่อผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน อายุเพียง 14 ปี
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถาม พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รายละเอียดเกี่ยวกับเยาวชนผู้ก่อเหตุ และยังไม่ทราบสาเหตุแรงจูงใจหรือใดๆ ทั้งสิ้น จึงไม่อยากให้สังคมด่วนสรุปและตัดสิน แต่ที่แน่ใจ เหตุการณ์ครั้งนี้มีความรุนแรงเกิดขึ้นแน่นอน
สิ่งที่สังคมทำได้คือไม่ส่งต่อความรุนแรง ทั้งภาพและข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง เกิด Hate speech (การใช้ถ้อยคำรุนแรงด่าทอ) หรือการเลียนแบบพฤติกรรม
เพราะจะยิ่งกระตุ้นอารมณ์ของคนในสังคมให้มากขึ้น ยิ่งแชร์ยิ่งส่งต่อ อารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น สิ่งที่สังคมควรทำจากนี้คือการแชร์และส่งต่อข้อความอย่างสร้างสรรค์ เช่น วิธีเอาตัวรอดจากเหตุความรุนแรง เพื่อสร้างความปลอดภัย และเป็นการส่งต่อความรู้ในการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น มากกว่าส่งต่อข้อมูลที่มีแต่ความเกลียดชัง
อ่าน : ระทึก! เสียงดังคล้ายปืนสนั่นห้างกลางกรุง ยังไม่ทราบสาเหตุ
ศธ.จ่อหาเหตุจูงใจเยาวชนยิงกลางพารากอน
ด้านนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วย รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ศธ.ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งผู้สูญเสียและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ ศธ.ยังไม่ขอด่วนสรุปการก่อเหตุในครั้งนี้ แต่จะมีการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลถึงเหตุจูงใจที่แท้จริง เพื่อเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป แม้เหตุที่เกิดขึ้นจะไม่ได้เกิดในสถานศึกษา แต่ก็ถือว่าผู้กระทำยังเป็นผู้เยาว์ ดังนั้น ศธ.จะติดตามในส่วนที่เกี่ยวข้องและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
เยาวชนในระบบการศึกษาทุกคนได้รับการดูแลที่เป็นมาตรฐาน แต่การก่อเหตุแต่ละครั้งจะต้องไปพิจารณาถึงเหตุจูงใจที่แท้จริง
อ่าน : จับเยาวชนวัย 14 ปี "มือปืนยิงในพารากอน" ตาย 3 คน
3 กฎเหล็กเอาตัวรอดขณะเกิดเหตุร้าย-เหตุรุนแรง
3 วิธีการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุร้าย