วันนี้ (3 ต.ค.2566) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า กระทรวงคลังได้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า คณะกรรมการชุดนี้มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีรองประธาน 4 คน คือ รมว.พาณิชย์, รมว.ต่างประเทศ, รมว.มหาดไทย และ รมว.ดีอีเอส นอกจากนี้ยังมี รมช.คลัง อีก 2 คนเป็นคณะกรรมการ รวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย
องค์ประกอบค่อนข้างครอบคลุมกลไกที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พิจารณาแนวนโยบาย กรอบวงเงินและแหล่งที่มาของงบประมาณ กลไกการดำเนินการ ติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการ รวมถึงสรุปผลว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งนายกฯ ได้นัดหมายประชุมนัดแรกภายในสัปดาห์นี้ โดยจะมีการมอบนโยบายและตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อรวบรวมรายละเอียดต่างๆ นำเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ไม่เกิน 2-3 สัปดาห์นี้
รมช.คลัง ยังกล่าวถึงกรอบข้อกฎหมายและ พ.ร.บ.เงินตราที่มีการตั้งประเด็นคำถามในสังคมนั้น ยืนยันว่ามีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเบื้องต้นแล้วและไม่ติดขัดในประเด็นปัญหานี้ ซึ่งขณะนี้มีกลไกที่จะทำและรองรับโดยไม่ขัดต่อกฎหมายใดๆ ส่วนกลไกบล็อกเชน ยืนยันว่าเบื้องหลังเทคโนโลยีที่ใช้คือบล็อกเชนอย่างแน่นอน เพราะมีความปลอดภัยและสามารถตรวจสอบได้
เมื่อถามว่า รัฐบาลมีความมั่นใจหรือไม่ว่านโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทจะไม่ก่อปัญหาปัญหาวินัยทางการเงินการคลัง โดย รมช.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลยึดมั่นในกรองวินัยทางการเงินการคลัง ส่วนกลไกที่จะใช้มีทางเลือกสำหรับรัฐบาล ซึ่งมีกลไกที่สามารถเลือกได้ อาจจะออกมาในรูปแบบใด หรืออาจจะออกมาในรูปแบบไฮบริด ซึ่งสุดท้ายคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายจะนำเสนอทางเลือกต่างๆ ต่อคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น เพื่อให้ตัดสินเลือกออฟชันสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่สุด
ส่วนประเด็นที่มีการกำหนดให้ใช้เงินในรัศมี 4 กิโลเมตรนั้น ได้รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนที่อยากให้ขยายกรอบพื้นที่การใช้เงิน เนื่องจากพื้นที่ 4 กม.ในบางหมู่บ้านที่ต่างจังหวัดก็แทบจะหาอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นการขยายกรอบพื้นที่จึงมีความเป็นไปได้สูง แต่อย่างไรก็ตามขอให้รอการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ อีกครั้ง
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังถามถึงเงือนไขหนึ่งของมาตรการนี้ที่สามารถใช้เงินได้ในธุรกิจใหญ่ๆ จะเป็นการยืมเงินประชาชนไปให้ผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการรายเล็กอาจไม่ได้ประโยชน์ หรือไม่
รมช.คลัง ยืนยันว่า สิ่งที่ทำไม่มีการกันใครออกจากระบบ สามารถดำเนินการได้ทั้งผู้ค้ารายเล็กรายใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบฐานภาษีหรือไม่ ซึ่งหากอยู่ในฐานภาษีก็สามารถขึ้นเงินได้ แต่หากไม่ได้อยู่ในฐานภาษีก็รับเงินมาแล้วใช่ต่อ
ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องไปใช้เงินที่รายใหญ่หรือรายเล็ก แต่มันจะเกิดขึ้นตามความต้องการซื้อที่แท้จริงของประชาชน
ขณะเดียวกันจะต้องมีกลไกเพื่อจูงใจให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในระดับชุมชน โดยมีกรอบระยะเวลาโครงการและระยะเวลาใช้เงินดิจิทัล ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินมาตรการได้ภายในวันที่ 1 ก.พ.2567
อ่านข่าวอื่นๆ
ผู้บริโภคเฮ! ลดราคาสินค้า 3 กลุ่มสูงสุด 87% กว่า 1.5 แสนรายการ
เปิด 35 คกก.ศึกษาแนวทางทำประชามติ แก้ รธน. "ภูมิธรรม" ประธาน