วันที่ 29 ก.ย.2566 นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก รายงานว่า สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง), สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก และเจ้าหน้าที่ ได้รักษา "โขง" ลูกเสือโคร่งของกลาง ตัวผู้
ภาพ : ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก
ลูกเสือโคร่งตัวดังกล่าว มีอาการป่วยและพบก้อนบวมบริเวณข้อศอก และขาหน้าข้างซ้าย เมื่อกดคลำตรวจพบว่า ก้อนมีลักษณะนิ่ม มีของเหลวอยู่ภายใน เป็นลักษณะของการอักเสบจากการกดทับบนพื้นปูนบ่อยครั้งและยาวนาน สอดคล้องกับพฤติกรรมที่ส่วนใหญ่ชอบนอนบนพื้นปูน
ภาพ : ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก
เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องแมคเนโต ซึ่งปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารักษา เพื่อลดอาการบวม อักเสบ และลดปวด โดยการให้ลูกเสือโคร่งนอนทับแผ่นปล่อยคลื่นแม่เหล็กแม่ไฟฟ้า ไปยังเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ โดยโปรแกรมการรักษา ระยะเวลา 14 วันแรก จะต้องรักษาวันละ 1 ครั้ง โดยตั้งเวลาไว้ 20 นาที ต่อ 1 ครั้ง และหลังจากครบ 14 วัน ให้ทิ้งช่วงการรักษา 2-3 วัน ต่อ 1 ครั้ง จนกว่าอาการจะดีขึ้น
ภาพ : ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มแคร่ไม้ภายในคอกนอนของลูกเสือโคร่ง ขิง ข้าว และโขง เพื่อลดการกดทับของข้อศอกกับพื้นปูน
ภาพ : ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก
สำหรับเครื่องแมคเนโต ได้รับมอบจาก น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อลดปริมาณการใช้ยารักษากับสัตว์ป่วยได้ ในกรณีที่มีแผลเรื้อรัง มีอาการปวดบวมอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น และกรณีกระดูกแตกหัก รวมทั้งเพิ่มการเชื่อมติดกันของกระดูก และเพิ่มมวลกระดูกในภาวะกระดูกบาง
ภาพ : ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เบาะแส! ขอฝั่งลาวขยายผล "ลูกเสือโคร่ง" ข้ามแดนอีก 30 ตัว
ราบรื่น ย้าย "3 ลูกเสือโคร่ง" ถึงบึงฉวาก ใช้เวลา 8 ชม.
อัปเดตชีวิต "พี่ขวัญ" และ "น้อง 3 ข." ลูกเสือโคร่งของกลางบึงฉวาก