วันที่ (26 ก.ย.2566) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงความคืบหน้า ในการรวบรวมคณะกรรมการชุดดังกล่าวว่า ขณะนี้มีการตอบรับมาแล้ว 20 กว่าคน ส่วนบุคคลที่จะสร้างความเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับของสังคม อาทิ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม รวมไปถึงนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ตอบรับแล้ว และคาดว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถนำเสนอรายชื่อ ให้แก่นายกรัฐมนตรีพิจารณาได้ ซึ่งต้องดูว่านายกรัฐมนตรีจะสามารถเซ็นอนุมัติได้เลยหรือไม่ เนื่องจาก ครม.ได้ให้หลักการไว้แล้ว
แต่หากไม่สามารถทำได้เลยก็สามารถนำกลับเข้ามาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งได้ โดยตนจะเป็น ประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยมีนายชูศักดิ์เป็นรองประธานคนที่ 1 ส่วนเลขานุการ คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีรองเลขากฤษฎีกาเข้าร่วมด้วย ส่วนตำแหน่งโฆษกฯ จะพูดคุยกันอีกครั้งหลังที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เริ่มประชุมครั้งแรกซึ่งจะมีความชัดเจนในหลายๆ เรื่อง
นายภูมิธรรม ระบุว่า แนวคิดการดำเนินการได้ชี้แจงให้กับคณะกรรมการ ทราบทั้งหมดแล้ว พร้อมย้ำว่าหลักการของตัวเองคือการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกจะต้องจบภายใน 4 ปี เพื่อให้การเลือกตั้งสามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายใหม่
ส่วนการยื่นขอทำประชามติให้เร็วที่สุด จะใช้วิธีให้ ครม.มีมติ ทำประชามติ เพราะ ครม.เองก็ต้องการดำเนินการให้เร็วที่สุด เนื่องจากขาดต้องใช้รายชื่อประชาชน 50,000 คนหรือนำเข้าสภาฯ จะต้องรอการพิจารณา
ขณะที่ข้อเสนอของนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่อาจจะขอให้ลดขั้นตอนการทำประชามติ จะสามารถเป็นไปได้หรือไม่ โดยไม่ต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. นายภูมิธรรม ระบุว่า หลักการที่พูดไว้แต่เดิมคือต้องมี ส.ส.ร. แต่จะดำเนินการอย่างไรเพื่อลดขั้นตอน ก็จะทำอย่างนั้นอยู่แล้ว
สำหรับกรณีที่พรรคก้าวไกลจะเสนอ กฎหมายนิรโทษกรรม รัฐบาลมีแนวทางอย่างไรต่อกรณีดังกล่าว นายภูมิธรรม ระบุว่าตนยังไม่เห็นรายละเอียดขอดูรายละเอียดก่อน จึงจะสามารถให้ความเห็นได้
วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ว่าในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนามีนายนิกร จำนง ตอบรับเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งในรายละเอียดบางส่วนมีความเห็นตรงกันเช่นหมวด 1 หมวด 2 ที่จะไม่แตะต้อง แล้วคงจะมีการหารือพูดคุยกันในที่ประชุมพรรคช่วงบ่ายวันนี้อีกครั้ง ทั้งนี้อยากจะพูดคุยกันก่อนที่จะพิจารณาให้ความเห็นว่าควรจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตราเพราะว่ายังไม่ได้คุยในรายละเอียด
อ่านข่าวเพิ่ม :
"อนุทิน" กำชับจังหวัดเข้มงวด ปราบปรามเว็บพนัน
"ชาดา" เผย "เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร" ขอช่วยแก้ขัดแย้งวัดบางคลาน