ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เกษตรกร ขอรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหมูราคาตก-ลดราคาอาหารสัตว์

เศรษฐกิจ
21 ก.ย. 66
07:40
1,452
Logo Thai PBS
เกษตรกร ขอรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหมูราคาตก-ลดราคาอาหารสัตว์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยไม่ได้เจอแค่ปัญหาหมูเถื่อนเท่านั้น ล่าสุดกลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ยื่นหนังสือต่อ กขค. ให้ช่วยเรื่องราคาขายมีเสถียรภาพ ขณะที่เกษตรบางรายต้องปรับตัว ขายตั้งแต่เนื้อยันมูลสัตว์ เพื่อความอยู่รอด

เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2566 กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพราะประสบปัญหาการแข่งขันด้านราคากับบริษัทผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ในประเทศ ที่ขายถูกกว่าราคาหน้าเขียง

เดือนเด่น ยิ้มแย้ม รองประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้เลี้ยงหมูรายย่อยทั่วประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่บริษัทผู้เลี้ยงหมูบางราย ขยายการทำตลาดขายปลีก มาลงตลาดระดับล่างแข่งกับเขียงหมูในชุมชนระดับตำบลและกำหนดราคาขายถูกกว่ามาก จึงขอให้ กขค. ดูแลราคาขายให้มีเสถียรภาพมากกว่าปัจจุบัน

ด้าน วิษณุ วงศ์สินศิริกุลเลขาธิการ กขค. ระบุว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาต้นตอของปัญหา เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง จากนั้นนำเขาสู่ที่ประชุมเป็นผู้พิจารณา หากเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า จะมีโทษทางอาญา

"ธรรมนัส" รื้อพิกบอร์ดนำรายย่อยเข้าร่วม

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง รมว.เกษตรและสหกรณณ์ มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ หรือ "พิกบอร์ด" ชุดใหม่ โดยให้ผู้แทนเกษตรกรรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วม

ขณะที่ ไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ ออกแนวทางการแก้ปัญหาทุนใหญ่ในประเทศ โดยเร็วๆ นี้จะหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และผู้ประกอบการรายใหญ่ ขอความร่วมมือเน้นผลิตเพื่อส่งออก เปิดทางรายย่อยจำหน่ายในประเทศ

ลูกหมูจำนวนมากขายออกไม่ได้

ลูกหมูจำนวนมากขายออกไม่ได้

ลูกหมูจำนวนมากขายออกไม่ได้

ข้อมูลจากกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยระบุว่า ที่ผ่านมาสัดส่วนการเลี้ยงหมูในประเทศ แบ่งเป็นผู้เลี้ยงรายย่อยร้อยละ 80 ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่มีสัดส่วนร้อยละ 20 แต่ปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยทั่วประเทศประสบปัญหาต้นทุน จึงมีบางส่วนเลิกอาชีพ คงเหลือสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 50 จากจำนวนผู้เลี้ยงทั้งหมด

เกษตรกรเลี้ยงหมูปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

ขณะที่ สมโชติ เช่าฉ้อง เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ในพื้นที่ ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ราคาหมูตกต่ำ ราคาหมูหน้าฟาร์มเหลือประมาณ กก.ละ 60 บาท แต่ราคาขายที่คุ้มทุน จะต้องไม่ต่ำกว่า กก.ละ 75 บาท ซึ่งหมูแต่ละตัวมีต้นทุนค่าอาหารประมาณ 6,200 บาท ไม่นับรวมค่าลูกหมู ไม่รวมค่าแรงงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ขณะนี้ ขาดทุน ประมาณ 2,000 บาท/ตัว ทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องเลิกเลี้ยง

ขณะเดียวกันก็ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการเลิกเลี้ยงหมูของเกษตรกร ทำให้ ลูกหมูที่ผลิตได้เดือนละ 100 ตัว ขายไม่ได้ ทั้งที่ราคาลูกหมูลดลงมาเหลือตัวละ 1,200 บาทแล้ว จำเป็นต้องเลี้ยงเองทั้งหมด นอกจากเลี้ยงแล้ว ยังมีเขียงหมูขายหมูสดจากฟาร์มด้วย แต่ละเดือนขายได้ประมาณ 40 ตัว จึงต้องมองหาตลาดเพิ่ม เช่น ขายให้งานเลี้ยงต่างๆ รวมทั้งขายให้โรงเรียน และล่าสุด นำหมูมาแปรรูปทำหมูสไลด์ สำหรับทำเมนู ชาบู หมูกระทะ หรือนำไปทอดกระเทียม เพื่อหาช่องทางระบายหมูให้ได้มากที่สุด

นอกจากนั้น มูลหมูก็จะสูบจากบ่อพักใส่รถ นำไปเป็นปุ๋ยรดสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีประมาณ 70 ไร่ เพื่อประหยัดปุ๋ยเคมี และนำเงินที่ได้จากการขายปาล์มน้ำมันมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้ออาหารเลี้ยงหมูต่อไป

อาหารสัตว์ 1 ในต้นทุนราคาสูง เกษตรกรเรียกร้องให้ รบ. ช่วยจัดการด่วน

อาหารสัตว์ 1 ในต้นทุนราคาสูง เกษตรกรเรียกร้องให้ รบ. ช่วยจัดการด่วน

อาหารสัตว์ 1 ในต้นทุนราคาสูง เกษตรกรเรียกร้องให้ รบ. ช่วยจัดการด่วน

ทั้งนี้ เกษตรกรรายเล็กๆ รวมทั้งรายใหม่ๆ ขาดทุนหนัก ไม่มีเงินทุนต่อ ขายแต่หมูขุน จึงอยู่ไม่ได้ จึงวอนขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาหมูหน้าฟาร์ม ลดราคาค่าอาหารต้นทุนหลักของเกษตรกร และเร่งปราบปรามหมูเถื่อน ก่อนที่เกษตรกรจะเลิกเลี้ยงไปมากกว่านี้

อ่านข่าวอื่น : 

ทัพนักกีฬาไทยเดินทางไปจีน ลุยศึกเอเชียนเกมส์

สภาพอากาศวันนี้ 8 จว.-กทม. พกร่ม! เตรียมเจอฝนตกหนัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง